สัมภาษณ์ — March 30, 2008 at 1:45 PM

เซียนต้อย..คน(ไม่)เอาถ่าน

by
  นับแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะนับไปข้างหน้าหรือถอยหลังไป 10 ปี ไม่มีใครไม่รู้จักหนุ่มนักประดิษฐ์จากบ้านบางระกำ นักเรียนทุนจากเมืองสองแคว ผู้ย่างเท้าเข้ามาเรียนธรณีวิทยาอย่างมุ่งมั่นและภาคภูมิ นามว่า (พี่, อา, ลุง) ต้อย หรือ สมชาย พุ่มอิ่ม หนึ่งในนักเล่นแร่แปรธาตุตัวฉกาจแห่งวงการธรณีวิทยาประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่ฝังตัวอย่างเหนียวแน่นอยู่ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แต่เอ๊ะ! ไปๆมาๆฉันใดไหงมีฉายาว่า “ต้อย คน(ไม่)เอาถ่าน” ไปได้ อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเข้าสู่วงการธรณี และฝ่าฟันมรสุมด้วยความมุ่งมั่นมาได้จนบัดนี้ มาขุดคุ้ยและรับฟังเรื่องราวของชีวิต พร้อมทั้งแง่คิดดีๆ จากนักธรณีผู้นี้ได้ ณ บัดเดี๋ยวนี้…..

เมื่อวันที่ 4 เมษายนปีที่แล้ว เวลา 4 โมงเย็นโดยประมาณ ณ ร้านที่นี่เมืองไทย แต่เบียร์เยอรมัน บรรยากาศฝรั่ง ริมคลองรังสิต วันนั้น พายุโหมกระหน่ำ หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ส่งผลให้ไฟดับไปทั้งสาย 

พี่เรศ (นเรศ สัตยารักษ์) “ไม่น่าไปเชื่อมันเลย ฉันอยู่คลองสิบห้าลำลูกกา บอกให้เราเข้าคลองสิบห้ามารังสิตนครนายก มาเจอถนนลูกรัง ฝนก็ตก แถมยังเจอกองผ้าป่า วนไปวนมา 30 นาทีแล้ว ยังอยู่คลองสิบห้าอยู่เลย….(ว่าแล้วก็ซดเบียร์ไปหนึ่งอึก)”

และแล้ว ‘พี่ต้อย' พระเอกของงานก็ตามมา หลังจากทักทายกันพอเป็นพิธี กับแกล้มพร้อมเบียร์ก็ลำเลียงมาตามลำดับ การสนทนาอย่างจริงจังก็เริ่มขึ้นแล้ว…แท๊น..แท้น..แท๊น..แถ่นนนน…. 

ทีมงาน “อยากทราบชีวิตในวัยเยาว์ค่ะ ว่าก่อนที่พี่จะเข้ามาเรียนธรณีแล้วมาถึงจุดนี้ได้เนี่ย พี่มีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจหรือเปล่า”
พี่ต้อย “คือพ่อพี่เป็นศึกษาอำเภอ ใหญ่สุดในอำเภอ พี่สอบที่ไหนในอำเภอนะ ได้ที่หนึ่งตลอด เป็นเด็กทุน”

ทีมงาน “แสดงว่าตอนเด็กก็ไม่มีอะไรกดดัน ใช่ไหมคะ”
พี่ต้อย “เฮ้ย กดดันสิ เป็นลูกศึกษา ฯ เนี่ยสอบตกไม่ได้นะ ต้องทำตัวเองให้ดี เล่นกีฬา แสดงละคร ต้องแสดงออก เป็นหัวหน้าห้อง ต้องทำทุกอย่าง”

ทีมงาน “งั้นก็แสดงว่าพี่เก่งแต่เด็ก”
พี่เรศ “เฮ้ย ใครบอกว่าเก่ง บอกว่าสอบได้เฉยๆ”

ทีมงาน “เอ่อ..ค่ะ….แต่ก็ถือว่าเก่งขนาดนั้น แล้วตอนนั้นพี่อยากเป็นอะไรคะ” 
พี่ต้อย “สมัยนั้น อันดับหนึ่งใครก็อยากเป็นตำรวจ ทหาร เพราะเด็กๆ ใกล้ชิดมากและกลัว แต่พี่ไม่อยากเป็นหรอกเพราะที่บ้าน พี่เห็นตำรวจบ่อย ทั้งนายอำเภอ อนามัย เลยรู้หมดว่าเขาทำอะไร หมอพี่ก็ไม่เอา โอ้โหเครียดไม่ไหว ที่พี่คิดเองตอนประถมพี่อยากเป็น หนึ่งอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ สองอยากไปอวกาศ เพราะสมัยนั้นมีคอมมิวนิสต์ แล้วพี่ก็อ่านจากหนังสือที่พ่อเอามาเป็นประจำ”                                                                                                           
พี่เรศ “สมัยนั้นไอ้มะกันมันคุมหมด”
พี่ต้อย “แล้วสมัยนั้นคนที่จบออกมาอ่านออกเขียนได้แล้วมีอนาคตเป็นเรื่องเป็นราวมีน้อยมาก ส่วนของเล่นสมัยเด็กๆ ตอนนั้นก็ไม่มีมาก พี่ก็มักจะอ่านหนังสือที่พ่อรับมา อ่านจากห้องสมุดด้วย แล้วก็ชอบคิดประดิษฐ์ของเล่นขึ้นมาเอง ทีนี้พี่เป็นคน innovative แต่ว่า innovation เนี่ยนะมันมีอุปสรรคจาก หนึ่งผู้ปกครอง สองครู ตอนนั้นพี่ทำเครื่องบินบินได้เองนะ ออกแบบเองถอดแบบมาจากวัลแคนของอังกฤษ แล้วพี่มุ่งมั่นมาก เลยโกหกแม่ว่าไม่สบาย แต่มานั่งต่อเครื่องบิน พอแม่รู้ก็ทุบทิ้งละเอียดเลย แล้วพี่ก็ไม่ทำอีกเลยเพราะแม่ไม่ชอบ เคยทำจรวดที่โรงเรียน ก็โดนครูใหญ่เรียกมาตีเพราะกลัวโรงเรียนไหม้ แต่ว่ามันยิงขึ้นนะ คิดดูสิต้องมาคำนวณว่าจะผสมดินปืนเท่าไหร่ เพื่อจุดให้มันพุ่งขึ้นไป เรื่องอย่างนี้พี่มองว่า ผู้ปกครองถ้าไม่เห็นด้วยต้องพูดกันดีๆ ต้องใช้จิตวิทยา แต่สมัยก่อนยังไม่มี ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้”

ทีมงาน “แล้วตอนเข้ามหาวิทยาลัยล่ะคะ พี่เลือกอะไรบ้าง”
พี่ต้อย “สมัยนั้นมี 5 มหาลัย จุฬา เกษตร เชียงใหม่ ศิริราช ธรรมศาสตร์ พี่เลือก หนึ่ง แพทย์ (ศิริราช) เพราะพ่อแม่อยากให้เข้า สองวิศวกรรมศาสตร์ (จุฬาฯ) สามวิทยาศาสตร์ (จุฬาฯ) สี่วิทยาศาสตร์ (มช) และ ห้าวนศาสตร์ (เกษตรฯ) แล้วก็ติดอันดับสี่ ได้เข้าคณะวิทยาศาสตร์ มช. เลยเลือกเรียนธรณีวิทยาเป็นแผนเอ ตั้งแต่ปี 1 ตอนนั้นใครจะเรียนธรณีต้องเข้าตั้งแต่ปีแรกเลย ปีสองไม่รับ เพราะอาจารย์ปริญญา (ศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา นุตาลัย) ต้องการให้ผู้เรียนธรณีต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ต้น ตอนแรกมีคนเข้ามาประมาณ 40 คน มีผู้หญิง 5-6 คน พวกที่เลือกในตอนนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องหรอก แต่พี่เลือกเพราะพี่รู้จักธรณีมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้ว แต่ว่าเนื้อหามันมีนิดเดียว ส่วนวิชาอื่นอย่างเคมี ไบโอ ฟิสิกส์ พี่เรียนมาหมดแล้ว มันไม่ตื่นเต้น แล้วไบโอพี่ก็เคยทะเลาะกับอาจารย์แล้วพี่โดนครูตี อีกอย่างพี่ชอบเข้าป่าอยู่แล้วด้วย”

ทีมงาน “แล้วทางบ้านเห็นด้วยไหมคะ”
พี่ต้อย “(ส่ายหัว) พี่ไม่สนใจ พี่เลือกธรณีเพราะ หนึ่งไม่มีใครรู้จัก สองไม่มีใครทุบภูเขาให้พังได้ ทีนี้พ่อแม่พี่ไม่รู้จักหรอก แต่พี่กลับไปก็อธิบายให้ฟัง สมัยนั้นการทำเหมืองดัง แล้วพี่ก็ทำให้เขาเห็นว่ามันจะสำเร็จได้อย่างไร เป็น drive อันหนึ่ง ซึ่ง เฮ้ย! มึงเลือกทางนี้แล้วมึงต้องทำให้ดีที่สุด”

ทีมงาน “แล้วช่วงที่เรียนธรณีเป็นอย่างไรบ้างคะ”
พี่ต้อย “จำได้ว่าวิชาแรกที่เรียนคือ Geol105 General Geology กับ อาจารย์ปริญญา ทำให้เราเข้าใจภาพรวมธรณีวิทยา แต่หลังๆ พี่เริ่มมีปัญหากับข้อสอบของอาจารย์ ข้อสอบถามว่า มรรค8 มีอะไร อริยสัจสี่มีอะไร แล้วพี่เคยได้เอคนเดียวเพราะมีพี่คนเดียวที่ตอบได้ว่า สาวน้อยประแป้งคืออะไร ส่วนเพื่อนฝูงในมหาลัยก็ช่วยเหลือกันดี บางคนฐานะต่างกันมากแต่ก็ปรับตัวเข้าด้วยกันได้ เป็นเรื่องดีที่คนหลายคนปรับตัว ปรับความคิดให้เข้ากันได้ นอกจากจะมีกลุ่มนักธรณีด้วยกันแล้ว ก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ อย่างพวกฟิสิกส์มาอยู่ด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังคบกันอยู่”

ทีมงาน “เริ่มกินเหล้าตั้งแต่เมื่อไหร่คะ”
พี่ต้อย “ก็เข้าปีหนึ่งก็กินเลย เป็นประเภทเกเรแต่เรียนดี เชื่อมั้ยว่าพี่เรียนธรณีทุกคอร์สที่เปิด แต่เรียนห้าปีจบ เพราะไม่ได้ออก field400 พี่เป็นโรคกระเพาะ แล้ว อาจารย์สงัด ซึ่งเป็นหัวหน้าฟิลด์ไม่ให้ออก ก็เลยอยู่ว่างๆ ไปหนึ่งปี ไปลงเรียนกฎหมายกับโบราณคดี แต่ทั้ง field300 และ 400 พี่ได้เอทั้งคู่ ระหว่างที่เรียนก็เคยฝึกงานและเข้าทำงานตามเหมืองไปด้วย เคยไปทำงานสำรวจเหมืองฟลูออไรต์ แล้วก็เหมืองแบไรต์ ที่สุราษฏ์ ก็รับทำเป็นจ๊อบๆ ไป ทำจนคนอื่นรวยกันหมดแล้ว เรายังนั่งกินเหล้าอยู่เลย พี่ไม่มีวิญญาณธุรกิจ มีหน้าที่อย่างเดียวคือแนะนำคนอื่นเขา จบมาแล้วก็ไม่คิดจะกลับบ้าน ต้องหางานทำก่อน มองราชการเป็นอันดับแรก เพราะพ่อขอให้เป็นราชการ แล้วก็เป็นราชการมาจนทุกวันนี้ ”

ทีมงาน “ราชการสมัยนั้นเข้ายากไหมคะ”
พี่ต้อย “ตอนนั้นนี่ยังไม่มีใครแนะนำ ไม่รู้จักใครเลย ก็ดิ้นรนไปสอบ กพ. เอง แล้วก็สอบเรียน ป.โทไปด้วยใช้ทุนตัวเอง สมัยนั้นต้องมาสอบของส่วนกลาง แล้วค่อยไปสอบวิชาเฉพาะด้านธรณี แล้วถึงไปสอบสัมภาษณ์อีกที แล้วก็ผ่านได้เข้ามาอยู่ที่กองเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ปี 21 พร้อมกับเรียนโทที่เชียงใหม่ เป็นรุ่นที่2 ไปด้วย ”

ทีมงาน “แล้วพี่ได้เข้ามาทำถ่านหินเลยหรือเปล่าคะ”
พี่ต้อย “ตั้งแต่เริ่มทำงานก็ทำปิโตรเลียมมาตลอด จนกระทั่งปี 90 มีทุนด้าน Mineralogy จากเยอรมัน เป็นทุนเรียน 1 ปี ระดับ Diploma พี่ก็สมัครไป ตอนนั้นท่านศิววงศ์เป็นอธิบดี ท่านก็ให้พี่ไป แล้วคอร์สเดิมของเขาพี่ก็เรียนหมดแล้ว ก็เลยไปขอเรียนใหม่ แต่ที่ BCR ก็มีแต่การวิจัยเรื่องถ่านหินเยอะมาก ก็เลยสนใจแล้วก็เรียนถ่านหิน พอกลับมาก็มาทำถ่านหิน เลยกลายเป็นคนเอาถ่านมาตั้งแต่นั้น ตอนที่กลับมามีพี่ยะเป็นหัวหน้าฝ่าย แล้วก็มีโครงการถ่านหิน โดยการสนับสนุนจากรองอธิบดีเทียนเจริญ”

ทีมงาน “ตอนนั้นถ่านหินอยู่กับกองเชื้อเพลิงแต่แรกแล้วเหรอคะ”
พี่ต้อย “ถ่านหินมีก่อนตั้งนานแล้ว เดิมอยู่ที่กองธรณี กองเศรษฯ อยู่ในกลุ่มแร่ยุทธปัจจัย พอตั้งกองเชื้อเพลิงก็เลยดึงอะไรที่เกี่ยวกับพลังงานมาอยู่ด้วย รวมทั้งแร่กัมมันตภาพรังสีด้วย”

ทีมงาน “ปัจจุบันพี่มองสถานการณ์ถ่านหินเป็นอย่างไรคะ”
พี่ต้อย “อุปสรรคในการพัฒนาถ่านหิน รวมทั้งหินน้ำมันด้วย จริงๆแล้วพี่มองว่าการทำงานมันชัดเจน จะเปิดเหมืองก็ต้องไปกรมเหมืองมันจบเบ็ดเสร็จอยู่ที่นั่น เรื่องการเปิดเหมืองสำหรับพี่แล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการก็ต้องไปดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมเอง ก็เหมือนปิโตรเลียมทุกอย่าง คำถามอยู่ทีว่า ทำไมยังไม่เปิดสัมปทานถ่านหิน ตราบใดที่มาตรา 6 ทวิ ยังคุมอยู่ถ่านหินก็ไม่เกิด เพราะการสำรวจอยุ่ภายใต้มาตรา 6 ทวิ รัฐต้องเปิดสัมปทานเหมือนปิโตรเลียม แล้วรัฐก็เรียกเก็บผลประโยชน์ แต่ทุกวันนี้ยังไม่เปิดเลย ถ้ายกเลิก 6 ทวิ เมื่อไหร่ คนก็มาขอ ถ่านหินก็พัฒนาไปได้ ”

ทีมงาน “พี่มีอะไรเป็นหลักให้อยู่มาจนถึงจุดนี้บ้างไหมคะ”
พี่ต้อย “ไม่มี พี่ไม่มีอะไรเป็นหลักทั้งนั้น เรามีสองมือ ทุกคนมีสมอง ต้องเอาสมองทำ เราต้องมองว่าเราทำอะไรได้หรือเปล่า แล้วก็มีหลายปัจจัยประกอบกันทั้งเรื่องความรู้ทางวิชาการ ทั้งนโยบาย แต่ที่เฮงซวยที่สุดคือไม่มีใคร innovative อย่าง coal bed methane พี่ก็ innovate ขึ้นมา แต่ต่างคนต่างทำมันก็จบ หินน้ำมัน ที่แม่สอด ทำมาสองปีใช้งบประมาณสิบล้านบาท เพื่อทำ seismic ให้รู้และเข้าใจสภาพธรณีของหินน้ำมัน มีการเจาะสองหลุม ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่ JAICA เพื่อทำ Petrochemical ว่าจะคุ้มหรือไม่ แต่คนที่รู้ก็ไม่มีใครมาช่วย ไม่ได้รับความร่วมมือจากใคร ก็จบ”
พี่เรศ “เฮ้ย….คิดเองก็ทำเองซี๊”
พี่ต้อย “ผมรู้สึกว่าผม Advance มากไป พอผมคิดแล้วผู้บริหารไม่สนับสนุน ก็จบไป ผู้บริหารไม่มีกึ๋น บริหารเป็นอย่างเดียว ตอนนี้ก็เลยรู้สึกเบื่อหน่ายมาก เซ็งเลย อย่างงบหินน้ำมันปีนี้ให้มาห้าล้านบาท ก็ไม่รู้เลยว่าจะเอามาทำอะไร ผมไม่เอาถ่านแล้ว ปัญหาเยอะมากและผู้ใหญ่ไม่สนใจและไม่ให้การสนับสนุน ให้ความสำคัญกับปิโตรเลียมอย่างเดียว ซึ่งเป็นการมองที่แคบไป ถ้าอีก 30 ปีข้างหน้าก๊าซหมดแล้วจะทำยังไง วันหนึ่งเชื้อเพลิงด้านพลังงานเปลี่ยนไป แล้วจะทำยังไง เมื่อผู้บริหารตัดทุกอย่างทิ้งเอาแต่ปิโตรเลียมอย่างเดียว”

ทีมงาน “แล้วพี่มองว่านักธรณีจะมีทิศทางอย่างไรต่อไปคะ”
พี่ต้อยอนาคตด้านปิโตรเลียม หรือ oil &gas จะบูม ทุกคนจบออกมา จะมาทำปิโตรเลียมกันหมด แต่ที่สำคัญต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไร เมื่อรู้แล้วก็ต้องเสริมสร้างความรู้ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น แต่ละคนมีความฉลาดและการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน เขาถึงต้องมีการทดสอบ พี่เคยศึกษา Biogeochemistry ศีกษาเรื่องต้นสังกะสี ในแหล่งสังกะสีที่แม่สอด ต้นทองแดงในแหล่งทองแดงที่ตาก วิเคราะห์เองหมดทั้งต้น ราก ใบ ถ้าให้ทำด็อกเตอร์ก็ยังทำได้เลย โดยเลือกพึชที่ขึ้นทั่วไปเป็นตัวคอนโทรลอย่างเช่น ต้นสาบเสือ แล้วก็เอาต้นที่จะเป็นตัว indicator มาศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและใช้วัดขอบเขตของแหล่งแร่ คือเรื่องแบบนี้ถือเป็นตัวอย่างนะ แล้วถ้าบริษัทไหนก็ตามคิดว่านักธรณีเป็น Rock Hound—หมาล่าหิน– หรือคนไหนคิดว่าตัวเองเป็น Rock Hound ก็แสดงว่าเขาคิดผิด เพราะพี่ไม่ใช่หมาล่าหิน ธรณีวิทยามันมีทั้ง Exploration Geology และ Development Geology ถ้าคุณรู้เรื่องสำรวจแค่นี้ก็จบ คุณต้องมองด้วยว่าจะสามารถพัฒนาแหล่งได้อย่างไร แต่นักธรณีบ้านเราความรู้ไม่ค่อยแข็ง นักธรณีปัจจุบันทำ Economic ไม่ค่อยเป็น ออกแบบเหมือง วางแผนการผลิตก็ไม่เป็น นั่นเป็นจุดบอด พี่เรียน Economic Evaluation กับพี่สิน ต้องคำนวณหมดเลย ว่าพัฒนาแล้วได้อะไร ทำเหมืองอย่างไร ใช้ equipment อย่างไร ได้กำไรหรือไม่ แล้ว NPV IRR พวกนี้พี่รู้ตั้งแต่จบแล้ว”
พี่เรศ “ฮ๊า….ขนาดผมจบมาทำงานตั้งนาน ผมยังไม่รู้ว่า Net Present Value คืออะไรเล๊ย…เฮอะ”

ทีมงาน “ช่วยสรุปปิดท้ายสักหน่อยค่ะ”
พี่ต้อย “เราต้องมีจุดยืนของเรา ยึดกติกา กฎ ระเบียบ เป็นหลัก อะไรที่ไม่ถูกต้องตากฎระเบียบ เราก็ไม่รับ” 

แหม…จบได้สมกับเป็นเซียนต้อย จริงๆ นะคะ ต้องขอบอกว่าเนื้อหาในวันนั้นเข้มข้นจริงๆ มีผู้ถูกพาดพิงที่ไม่อาจเอ่ยนามได้มากมาย แถมช่วงท้ายๆ กองเชียร์เริ่มตีรวนจนเราไม่อาจจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ บางคนก็หลับไปซะงั้น ก็เลยต้องจบกันแบบดื้อๆ อย่างที่เห็นล่ะค่ะ

ขอขอบคุณ ทีมงานจากชมรมธรณีวิทยาเชียงใหม่ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล www.chiangmaigeology.org