เรียนธรณีที่มอสโค

by

moscowสวัสดีครับ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวจีโอไทยดอทเน็ตทุกท่าน ถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกกับบทสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจในแวดวงธรณีของเรา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกของเราทุกคนได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการทำงานทางด้านธรณี ตลอดจนแง่คิดต่างๆ จากผู้มีประสบการณ์จริงทั่วทุกมุมโลก โดยเราจะพยายามนำบทสัมภาษณ์เหล่านี้มาลงให้ทุกคนได้อ่านเป็นประจำทุกเดือน และสำหรับการการสัมภาษณ์ครั้งแรกนี้ เราได้คว้าตัวนักธรณีหนุ่มเจ้าเสน่ห์  หนึ่งในทีมงานจีโอไทย ซึ่งขณะนี้กำลังตกระกำลำบาก เอ้ย ไม่ใช่ กำลังศึกษาต่อทางด้านธรณีวิทยาอยู่ที่ประเทศรัสเซีย หากพร้อมแล้วก็ไปพบกับหนุ่มผู้นี้กันเลย..

 

GT: แนะนำตัวเองให้กับชาว GeoThai หน่อยครับ?

Funshine Bear _32x32: ชื่อบุณฑริก บริสุทธิ์ ชื่อเล่นชื่อหมี ตอนนี้กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมอสโค สาขาธรณีวิทยา ประเทศรัสเซียครับ

mee_moscow

GT: ทำไมถึงได้ตัดสินใจไปเรียนไกลถึงประเทศรัสเซียครับ?

Funshine Bear _32x32: หลังจากจบปริญญาตรี สาขาธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมได้ไปสอบทุนกพ.ครับ ซึ่งเป็นทุนให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศรัสเซีย ตอนนั้นคิดว่า ถ้าได้ไปเรียนที่ประเทศรัสเซียจริงๆ ก็จะได้เรียนรู้ภาษารัสเซียด้วย ประเทศรัสเซียเองก็มีชื่อเสียงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลักสูตรทางธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยมอสโคเองก็น่าสนใจด้วย ผมเลยลองไปสัมภาษณ์ทุนดู กรรมการสอบคงพิจารณาดูจากหน้าตาและหน่วยก้านแล้ว คงจะอึด ทนทานดี เหมาะกับประเทศนี้ ก็เลยอนุมัติให้ผมได้มาเรียนที่นี่ครับ (ความจริงอีกเหตุผลนึงก็คือตอนนั้นเห็นภารดรแต่งงานกับนาตาลี เลยคิดว่าสาวรัสเซียคงชอบประมาณภารดร ถ้างั้นหน้าตาอย่างผมคงมีสิทธิ์ฟลุ๊คได้เหมือนกัน ฮ่าๆ)

GT: นอกจากทุนกพ. แล้ว ยังมีทุนอื่นๆ สำหรับผู้ที่สนใจจะไปศึกษาต่อทางด้านธรณีวิทยาที่ประเทศรัสเซียไหมครับ สามารถหาข้อมูลเรื่องทุนการศึกษาต่อได้จากที่ไหนบ้าง และทุนพวกนี้มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

Funshine Bear _32x32: เรื่องทุนมาเรียนต่อที่รัสเซีย ผมยึดเอาตามข้อมูลจากนักเรียนทุนที่มาเรียนที่นี่นะครับ เท่าที่ทราบมีดังนี้ คือ

1. ทุน กพ. ครับ รับสมัครทุกปี รับทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ประมาณ 4 ทุนต่อปี สมัครพร้อมทุนรัฐบาลกลางทั่วไป เข้าไปหารายละเอียดในเว็บไซต์สำนักงานกพ. www.ocsc.go.th ได้เลยครับ

2. ทุนรัฐบาลรัสเซีย มีประมาณ 30 ทุนต่อปี ทางรัสเซียจะออกค่าเล่าเรียนให้ครับ (โดยไม่รวมค่าที่พัก ซึ่งต้องออกเอง) และ มอบค่าใช้จ่ายส่วนตัวให้ประมาณ 2000-3000 บาทต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน จึงจำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองส่วนตัวไปด้วยครับ แต่ตอนนี้ทราบมาว่าทางรัฐบาลไทยเองกำลังจะขอเงินงบประมาณสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลรัสเซียด้วยอีกแรง ก็ต้องคอยติดตามฟังข่าวดีกันต่อไปครับ โดยทุนรัฐบาลรัสเซียนั้นสามารถเลือกเรียนได้ทุกสาขา นักเรียนทุนรัฐบาลรัสเซียที่อยู่ที่มอสโคตอนนี้มีเรียนทั้งทางด้าน นิติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ภาษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

3. ทุนพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นทุนประจำของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นทุนที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพระราชทานให้กับนักเรียน “โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์” โดยเฉพาะ มีน้องคนหนึ่งมาเรียนต่อที่นี่สาขาธรณีวิทยา เป็นเด็กทุนรุ่นแรกเลยครับ น้องเค้าฝากบอกมาว่าถ้าใครอยากเรียนต่อต่างประเทศ และได้ลองติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้แล้ว แต่ยังไม่มีทุน ให้ลองเขียนจดหมายเรียงความถวายถึงสมเด็จพระเทพฯ ดูได้ครับ ถ้าเขียนดีอาจจะได้รับพิจารณาพระราชทานทุนครับ

GT: แล้วพอหลังจากที่รู้ว่าได้รับทุนแล้ว ก่อนที่จะเดินทางไปรัสเซีย มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ?

Funshine Bear _32x32: ทีแรกผมตั้งใจจะลองเรียนภาษารัสเซียพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อนครับ แต่เพราะไม่มีเวลา ก็เลยไม่ได้ลงคอร์สเรียน เลยตัดสินใจลองเรียนด้วยตัวเองครับ สรุปไม่เวิร์คเอามากๆ (ฮ่าๆ) ไม่เข้าใจในภาษานี้เลย ยากจริงๆ เลยได้แต่ทำใจไป แล้วไปเตรียมตัวเรื่องอื่นๆ ดีกว่า โดยได้ปรึกษากับพี่ๆ ที่เค้าเรียนจบจากรัสเซียมา ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง ก็ถามข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนั้นก็เตรียมพวกเอกสารต่างๆ ที่ต้องเอาไปครับ แปลเอกสารให้เรียบร้อยเป็นภาษารัสเซีย ซึ่งสำคัญมากนะครับ และที่สำคัญที่สุดคือ “เตรียมใจ” นี่แหละครับ ^^/

 GT: เมื่อพูดถึงประเทศรัสเซีย ก็จะนึกถึงอากาศที่หนาวเย็นมากๆ ช่วยเล่าถึงสภาพอากาศและความเป็นอยู่ที่นั่นให้ฟังหน่อยครับ?

Funshine Bear _32x32: ความเป็นอยู่ที่นี่ค่อนข้างจะต้องปรับตัวมากพอสมควรครับ เพราะที่นี่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษกัน ตั้งแต่แม่ค้า พนักงาน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่เราต้องไปติดต่อทำเอกสารด้วย มาใหม่ๆ เลยต้องอาศัยนักเรียนไทยที่นี่ ให้เขาช่วยสื่อสารให้ครับ เพราะพูดภาษารัสเซียไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศด้วยครับ เพราะว่าที่นี่ช่วงหน้าหนาวยาวและหน้าร้อนสั้น ในช่วงหน้าร้อนอากาศร้อนจัด (แต่คงไม่เท่าบ้านเรา) ส่วนหน้าหนาวก็หนาวมากถึงติดลบ ในช่วงที่ผมอยู่ติดลบต่ำสุดก็ประมาณ –20 องศาเซลเซียส ผู้คนที่นี่ไม่ค่อยยิ้มแย้มเท่าไหร่ หน้าตาจะบูดตลอดเวลา เลยดูไม่ค่อยเป็นมิตร แต่ถ้าเราสนิทกับคนรัสเซียแล้วเค้าก็จะดีกับเรามากครับ ที่สำคัญเรื่องอาหารการกินนั้น บอกตามตรงอาหารรัสเซียไม่อร่อยเลยครับ ร้านอาหารอร่อยๆ มีน้อยมาก ไม่เหมือนเมืองไทยครับ มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ จะผอมลงอย่างไม่น่าเชื่อ ใครอยากลดความอ้วน ลองมาเรียนที่นี่ครับ แต่ตอนนี้ลิ้นจระเข้ไปแล้วครับ กินอะไรได้หมดทุกอย่างก็เลยกลับมาตุ้ยนุ้ยเหมือนเดิมครับ

GT: พูดเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ไปแล้ว ทีนี้มาพูดถึงเรื่องเรียนกันบ้าง ลักษณะการเรียนธรณีวิทยาของประเทศรัสเซียเป็นอย่างไรบ้างครับ (ภาษาที่ใช้ เนื้อหาวิชา ความยากง่าย)?

Funshine Bear _32x32: การเรียนธรณีวิทยาของที่นี่สอนเป็นภาษารัสเซียทั้งหมดครับ นักเรียนต่างชาติจะต้องเรียนเตรียมภาษารัสเซียอย่างน้อย 1 ปี แล้วสอบวัดระดับ ถ้าผ่านถึงจะได้เข้าเรียนครับ ตอนเข้าเรียนวิชาธรณีวันแรกรู้สึกอึ้งมากครับ ฟังไม่รู้เรื่องเลยว่าอาจารย์สอนอะไรบ้าง อาจารย์พูดเร็วมาก (เลยพี่งรู้ว่าอาจารย์ที่สอนภาษาเค้าพูดยานมากๆๆ เราเลยฟังพอเข้าใจ) ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงฟังเลคเชอร์ไม่ค่อยทันอยู่ดีครับ เวลาเข้าเรียนพกแค่กระดาษแผ่นเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับผม เพราะจดไม่ทัน จะมีบางวิชาที่เคยได้เรียนมาบ้างแล้วในตอนปริญญาตรี เนื้อหาผ่านหูผ่านตา เลยเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ หากพูดถึงเนื้อหาวิชาการเรียนของธรณี ผมว่ามีเนื้อหาครอบคลุมดีครับ มีทั้งวิชาที่เป็นพื้นฐานไปจนถึงวิชาประยุกต์ หากมีวิชาไหนที่มีเนื้อหายาก ก็จะมีการเปลี่ยนวิชาให้ไปเรียนพื้นฐานก่อน หลักสูตรที่นี่ค่อนข้างเข้มงวด อาจารย์ที่นี่จะกระตุ้นให้เรียนแล้วต้องจำขึ้นใจ ยิ่งพื้นฐานความรู้ต้องเป๊ะ ต้องรู้ไม่ใช่แค่วิชาธรณี แต่ต้องสามารถเอาความรู้ทุกวิชาที่เรียนมาตั้งแต่ แคลคูลัส ฟิสิกส์เบื้องต้น เคมี มาใช้ได้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับผม คือมักจะติดนิสัยเรียนแล้วลืม จะใช้เมื่อไหร่ค่อยกลับไปอ่าน รื้อฟื้นความรู้ใหม่อีกทีหนึ่ง ซึ่งผมโดนอาจารย์บ่นประจำเลยครับ (บางวิชาที่มันไม่ได้ใช้มันก็ต้องลืมเป็นธรรมดานี่นา เนอะ)

mee_moscow2GT: แล้วระบบการสอบของที่นั่นเป็นยังไงบ้างครับ

Funshine Bear _32x32: สำหรับการสอบของที่นี่ จะใช้วิธีการสอบแบบปากเปล่ากับอาจารย์ครับ คือก่อนสอบอาจารย์จะให้คำถามมาเพื่อเตรียมตัวอ่านหนังสือประมาณ 20-30 คำถาม มากน้อยแล้วแต่เนื้อหาวิชา กับจำนวนนักเรียน จากนั้นพอวันสอบอาจารย์จะให้จับฉลากว่าจะได้คำถามข้อไหนบ้าง บางที่อาจารย์ก็จะให้เลือกเองก็มี (ปกติผมจะเตรียมตอบคำถามไปประมาณ 2-3 ข้อพอ เอาแบบเน้นๆ ว่าเข้าใจสุดๆ แล้วจากนั้นก็ไปเสี่ยงดวงในห้องสอบเอาเอง ว่าจะได้คำถามตรงกับที่เตรียมมารึเปล่า ถ้าได้คำถามที่ไม่ได้เตรียมไปเลย ก็ใช้วิชาออดอ้อนอาจารย์ไป ว่าผมเตรียมมาแค่นี้จริงๆนะครับ ทำตาวิ้งๆ ใส่อาจารย์ไป แล้วแต่ความสามารถ) หลังจากได้คำถาม อาจารย์ก็จะให้เตรียมตัวเขียนโน้ตย่อ พอพร้อมก็ให้ไปอธิบายให้อาจารย์ฟัง เป็นอันจบ (ชีวิต) ครับ

GT: แล้วหลักสูตรที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบันชื่อว่าอะไร และเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้างครับ?

Funshine Bear _32x32: หลักสูตรที่กำลังเรียนอยู่ คือ “Geological-geophysical exploration of oil and gas deposits” เรียนเกี่ยวกับแหล่งปิโตรเลียม ลักษณะการเกิด การสำรวจหาแหล่งน้ำมัน และการแปลความหมายจากข้อมูลต่างๆ ครับ

GT: การปรับตัวกับเพื่อนร่วมชั้นชาวรัสเซียนั้นยากง่ายเพียงใดครับ? (บุคคลิกภาพ ลักษณะการทำงานของคนที่นั่น)

Funshine Bear _32x32: อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า คนรัสเซียดูภายนอกอาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ การปรับตัวก็เลยยากนิดหน่อย แต่มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย อย่างเพื่อนผมที่สนิทกัน เขาเข้ากับคนอื่นได้ง่าย อาจเป็นเพราะเขาเคยไปทำงานที่ต่างประเทศมา เลยได้เจอคนหลากหลาย แต่สำหรับคนรัสเซียจริงๆ จะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ไม่ค่อยอยากจะรู้จักชาวต่างชาติ แต่ถ้ารู้จักกับคนรัสเซียมากขึ้น เค้าจะใจดีมาก ให้ความช่วยเหลือเราเป็นอย่างดี เรื่องเล็กน้อยแค่ไหนเค้าก็จะเต็มใจช่วยครับ แรกๆ ที่รู้จักกับคนรัสเซียผมมักจะเกร็งๆ ครับ เพราะคนรัสเซียชอบพูดเสียงดังมาก ตอนในชั้นเรียน เวลามีการถกเถียงกัน จะเมามันมากครับ เพราะว่าพูดกันเสียงดังมาก เหมือนจะทะเลาะกันก็มี อาจเป็นเพราะคนรัสเซียเป็นคนโผงผางด้วยมั้งครับ

GT: คิดว่าประสบการณ์เเละการเรียนรู้จากประเทศรัสเซียจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์เเก่ประเทศไทยได้อย่างไรบ้างครับ

Funshine Bear _32x32: ตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่าจะสามารถนำประสบการณ์เเละการเรียนรู้ที่ได้รับจากที่นี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยได้อย่างไง รู้แต่ว่าสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานนักธรณีได้ ที่นี่ทำให้ผมรู้จักที่จะช่วยเหลือตัวเอง เมื่อช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ก็รู้จักที่จะช่วยเหลือคนอื่นด้วย การที่เรามาอยู่ในต่างถิ่น แล้วได้เจอผู้คนมากมายหลายสัญชาติ หลายรูปแบบ เลยทำให้รู้ว่าคนแบบไหนเราควรจะวางตัวแบบไหนดี ทำให้ผมรู้จักที่จะปรับตัวให้เข้ากับสังคมอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น อยู่ที่นี่ทำให้ผมไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่เคยได้ยินมา บางครั้งได้ยินคนอื่นบอกเล่าต่อๆ กันมาว่ายากอย่างนั้น อย่างนี้ เลยทำให้เราไม่กล้าที่จะลองทำดู แต่พอเราได้ลองทำแล้ว มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่ได้ยินมา “ต้องลองทำด้วยตัวเองถึงจะรู้ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างไร”

GT: เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ “ไม่ลองไม่รู้” จริงๆ สุดท้ายนี้มีอะไรอยากจะฝากถึงน้องๆ หรือผู้ที่กำลังตัดสินใจจะมาเรียนต่อยังประเทศรัสเซียบ้างครับ?

Funshine Bear _32x32: ก็อยากจะบอกว่า มาเถอะครับมาอยู่ด้วยกัน (ฮ่าๆ) นักเรียนไทยที่มาเรียนต่อที่นี่ยังมีน้อยอยู่ครับถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะทางด้านสายวิทย์เรา มากันเยอะๆ นะครับ จะได้อบอุ่น นอกจากนี้การมาเรียนต่อที่นี่มันก็ได้ประสบการณ์ที่แปลกแหวกแนวไปอีกแบบนะครับ ประโยคเด็ดที่ผมได้ฟังมาจากรุ่นพี่เมื่อตอนมาถึงรัสเซียใหม่ๆ คือ เค้าบอกผมว่า ถ้าผมสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศรัสเซียได้แล้วละก็ แสดงว่าไม่มีที่ไหนบนโลกของเราแล้วที่ผมจะอยู่ไม่ได้ ฟังทีแรกก็ทะแม่งๆ อยู่ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า “เออ ที่พี่เค้าพูดนี่ก็จริงแฮะ” อยู่ที่นี่มันได้ใช้ชีวิตหลายรสชาติดีครับ

ขอบคุณเพื่อนหมีมากนะครับ ที่ให้เกียรติเป็นบุคคลแรกมาเปิดซิง เอ้ย เปิดตัวกับบทสัมภาษณ์ (อย่างเป็นทางการ) ครั้งแรกของเรา หวังว่าสมาชิกทุกคนคงได้รับประโยชน์จากบทสัมภาษณ์นี้ไม่มากก็น้อยนะครับ และเพื่อเป็นการต้อนรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคอลัมน์ สำหรับเดือนตุลาคมนี้ เรายังมีอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ของพี่สาวสุดสวย ที่ขณะนี้ทำงานอยู่ในประเทศรัสเซีย แต่ขออุบรายละเอียดไว้ก่อนนะครับ ไว้รอดูผลตอบรับจากครั้งนี้ก่อน แล้วเจอกันตอนหน้า สวัสดีครับ