เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.28 น. เกิดแผ่นดินไหว 7.9 ริกเตอร์ (สถาบันธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา) ทางตะวันออกของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน ศูนย์กลางอยู่ที่ความลึก 19 กิโลเมตรจากผิวดิน และมี Aftershock 5.0-6.0 ริกเตอร์ ตามมาอีก 16 ครั้ง จนถึงวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2551 เวลา 06.54 น. มีผู้เสียชีวิตประมาณเกือบ 20,000 คน สาเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการขยับตัวแบบย้อนกลับ (Reverse Fault) ของรอยเลื่อน ลองเมนฉาน (Longmenshan) ซึ่งวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ในอดีต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2476 มณฑลเสฉวน เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 9,300 คน |
การอธิบายทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์
แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนย้อน (reverse fault หรือ thrust fault) บริเวณขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งเสฉวน (Sichuan Basin) จากการวิเคราะห์ตำแหน่งของศูนย์กลางแผ่นดินไหว (epicenter) และกลไกแผ่นดินไหว (Focal Mechanism) พบว่าเกิดขึ้นตามแนวของรอยเลื่อนลองเมนฉาน (Longmenshan fault) ซึ่งมีการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และรอยเลื่อนอื่นที่สัมพันธ์กันทางธรณีแปรสัณฐาน โดยเป็นผลจากแรงเค้น (tectonic stresses) เนื่องจากการเคลื่อนที่เข้าชนกันของเปลือกโลกอย่างช้าๆ ของเปลือกโลกบริเวณที่ราบสูงทิเบต (ด้านตะวันตก) และแผ่นเปลือกโลกที่วางตัวรองรับแอ่งเสฉวนและจีนตะวันออกเฉียงใต้
ในระดับภาคพื้นทวีป การไหวสะเทือนในเขตทวีปเอเชียกลางและตะวันออกนั้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการเคลื่อนที่ขึ้นทางเหนือของแผ่นเปลือกโลกอินเดียเข้าชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ด้วยอัตราเร็วประมาณ 50 มิลลิเมตรต่อปี การเคลื่อนที่เข้าชนกันของแผ่นเปลือกโลกทั้งสองทำให้เกิดการยกตัวของแผ่นดินเป็นเทือกเขาสูงส่วนใหญ่ในเอเชีย และการขยับตัวของเปลือกโลกตามรอยเลื่อนในบริเวณด้านตะวันออกที่ห่างออกไปจากที่ราบสูงทิเบต ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง
ในอดีตนั้นในบริเวณขอบแอ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งเสฉวนเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ตามาตราริกเตอร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1933 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 9,300 ราย
http://geology.com/events/sichuan-china-earthquake/
http://earthquake.usgs.gov/eqcenter/recenteqsww/Quakes/us2008ryan.php
http://www.dmr.go.th/news_dmrpr/data/0605.html
http://www.tmd.go.th/earthquake_report.php
http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/7396400.stm
http://en.wikipedia.org/wiki/Longmenshan_Fault