หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวได้ถูกเผยแพร่มากขึ้นในโลกอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการอธิบายข้อมูลด้วยภาพกราฟิกรูปแบบต่างๆ (infographic) บทความนี้รวบรวมข้อมูล ภาพกราฟิก และการสัมภาษณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวโทโฮะกุ ประเทศญี่ปุ่น
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:46 (ท้องถิ่น) เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ขนาดแมกนิจูด 9.0 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮะกุ) ของคาบสมุทรโอชิกะ ลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร จากแรงสั่นสะเทือนที่วัดได้ นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเป็นอันดับสี่ของโลกเท่าที่มีการบันทึกได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2443 (USGS)
โดยเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวได้เคลื่อนเกาะฮอนชูไปทางตะวันออก 2.4 เมตร และเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตร ตามข้อมูลของสถาบันธรณีฟิสิกส์และวิทยาภูเขาไฟแห่งชาติของอิตาลี (INGV) แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ย้ายตำแหน่งแกนโลกไป 25 เซนติเมตร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเล็กน้อยหลายอย่าง รวมไปถึงความยาวของวันและความเอียงของโลก อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้วันหนึ่งสั้นลง 1.8 ไมโครวินาทีเนื่องจากการกระจายมวลของโลกใหม่
สึนามิและความเสียหาย
แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น
เหตุการณ์นี้ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 และ 2 คลื่นสึนามิซัดข้ามกำแพงและทำลายระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรอง จึงเกิดปัญหาในการลดความร้อน และทำให้เกิดระเบิด 2 ครั้งที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 1 และทำให้กัมมันตภาพรังสีในบริเวณรอบข้างมีระดังสูงขึ้น ประชาชนกว่า 200,000 คนในบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพหนี
จากเหตุการณ์นี้ ธนาคารโลกประมาณการความเสียหายระหว่าง 122,000 ถึง 235,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มันเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวีตไม่ต่ำกว่า 9,408 ราย สูญหาย 14,716 คน ได้รับบาดเจ็บ 2,746 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก

ประสบการณ์จากผู้ประสบภัย
ภัณฑิรา รัตนกิจ หรือ จุ๊บ นักธรณีวิทยาหญิงของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (มหาชน) หรือ ปตท.สผ คือหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ หลังจากได้รับมอบหมายให้ไปอบรมเฉพาะทาง ด้านนักธรณีวิทยาสำรวจที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ภัณฑิราจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนกำหนด ทันทีที่กลับมาทีมงาน GeoThai.net จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ทางอีเมลถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้
การศึกษาวิจัยหลังจากแผ่นดินไหว
- หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่น ได้ทำการเจาะพื้นมหาสมุทรตรงบริเวณที่มีการขยับตัวของรอยเลื่อนลึกลงไปกว่า 800 เมตร ผลการศึกษาส่วนประกอบในรอยเลื่อน (2013) พบว่าตามแนวรอยเลื่อนมีแร่ดินเหนียว (Smectite) แทรกอยู่ในปริมาณมาก นอกจากนี้ผลการศึกษาลักษณะการเลื่อน (2013) พบมีค่า coefficient of friction ~0.1 ซึ่งต่ำมาก บ่งบอกว่ารอยเลื่อนลักษณะนี้มีโอกาสเลื่อนได้ง่ายเมื่อเทียบกับรอยเลื่อนในหินทั่วไป (coefficient of friction 0.5-0.6) หรือลองนึกภาพการเกิดดินถล่ม ถ้ามีชั้นดินเหนียวก็จะลื่นง่าย นักวิจัยอธิบายว่า เป็นเพราะรอยเลื่อนมีแร่ดินเหนียวแทรกอยู่มาก ทำให้รอยเลื่อนที่พบว่ามีขนาดความกว้างแค่ไม่ถึง 5 เมตร สามารถทำให้เกิดการเลื่อนของรอยเลื่อนได้มากถึง 50 เมตร และก่อให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่
- แผ่นดินไหวครั้งนี้มีขนาดใหญ่มากจน คลื่นเสียงใต้เสียง หรือ infrasound ซึ่งหูคนปกติจะไม่ได้ยิน ความถี่ต่ำกว่า 20 เฮิร์ต ที่มาพร้อมกับแผ่นดินไหวเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศไปได้สูงถึง 200 กิโลเมตร และไปรบกวนค่าความโน้มถ่วงของโลกที่วัดได้จากดาวเทียม GOCE ขององค์การอวกาศยุโรป ผลการศึกษาได้ถูกตีพิมพ์ (2013) ระบุว่า มีการเปลี่ยนแปลงค่าความโน้มถ่วงของโลกเล็กน้อยในระหว่างที่เกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพื้นมหาสมุทร และความหนาแน่นของเปลือกโลกบริเวณที่รอยเลื่อนมีการขยับตัว ดูคลิปอธิบายด้านล่าง
โปสเตอร์สรุปเหตุการณ์โดย USGS

บทเรียน 1 ปีหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น
สัมภาษณ์ ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการศึกษาสึนามิโบราณในประเทศไทย และความรู้ที่ได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น (Voice TV)
อินโฟกราฟิก (คลิกที่ภาพเพื่อดูแบบขยาย)





