หลังฉลองปีใหม่ไทยหรืองานสงกรานต์ของไทยประจำปี 2555ได้ไม่นาน ได้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ละติจูด 8.02 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.37 องศาตะวันออก ที่ความลึก 10 กิโลเมตร วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.3 เมื่อวันที่ 16 เวลา 16:44 น. ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
ความสับสน
ทั้งนี้ในช่วงแรกที่มีการรายงานข่าว ได้เกิดความสับสนระหว่างเหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.5 ที่เกาะสุมาตรา ที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวภูเก็ตเพียงแค่ 2 นาที ในเวลา 16.46 น. โดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณชายฝั่งตะวันตก ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ที่ละติจูด 0.86 องศาเหนือ ลองจิจูด 92.40 องศาตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเดิมที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกเมื่อวันที่ 11 เมษายน ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า แผ่นดินไหวภูเก็ต เป็นผลของแรงสั่นสะเทือนที่มาจากเกาะสุมาตรา
ต่อมา มีการยืนยันจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า แผ่นดินไหวภูเก็ต ไม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเกาะสุมาตรา โดยมีศูนย์กลางที่ อ.ถลาง ประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน และมีเสียงดังจากใต้ดินด้วย ซึ่งนับว่าเป็นแผ่นดินไหวภูเก็ตครั้งแรก ๆ ที่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับสูงกว่าที่เคยเป็นมา และยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาในเวลา 20.30 น. ขนาด 2.7 และเวลา 21.17 น. ขนาด 2.6 ซึ่งทั้งสองครั้งสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้
Aftershocks
ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2555 จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2555 เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 22 ครั้ง โดยวันที่ 16 เมษายน เกิดขึ้น 6 ครั้ง ครั้งแรกเกิดที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง วัดขนาดความแรงได้ถึง 4.3 ริกเตอร์ วันที่ 17 เมษายน เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 5 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 3.1 วันที่ 18 เมษายน เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 7 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 3.2 วันที่ 19 เมษายน เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 3 ครั้ง วัดความสั่นสะเทือนสูงสุดของวัน ได้ที่ 2.2 และวันที่ 20 เมษายนเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง 1 ครั้ง สามารถตรวจวัดขนาดความแรงการสั่นไหวได้ 3.2
ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวภูเก็ต 16 เมษายน 2555 (คลิปดูภาพขยายใหญ่)
รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
ส่วนสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากการเคลื่อนตัวส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่ทอดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี พังงา และทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดแผ่นดินไหวบนบก ที่ผ่านมาเคยเกิดในทะเลเมื่อนานมาแล้ว หลังจากกรมทรัพากรธรณีส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหาย พบว่ามีบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่บ้านสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เสียหาย 20-30 หลังและผู้ได้รับบาดเจ็บจากการหนีบ้าง แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้
เกาะภูเก็ตมีสภาพธรณีสัณฐานเป็นหินอัคนีแกรนิต ที่สามารถดูดซับแรงของแผ่นดินไหวได้ดี ประกอบกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกลงไปใต้ดินกว่า 10 กิโลเมตร จึงทำให้ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยกว่าสภาพธรณีสัณฐานแบบดินเหนียวหรือดินร่วนที่จะมีส่วนขยายแรงของแผ่นดินไหวให้เพิ่มความรุนแรงขึ้นได้