แนวแผ่นเปลือกโลกตามรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ คือบริเวณที่แผ่นเลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่เฉือนผ่านกัน บริเวณที่มีการแตก (fracture zone) ที่ทำให้เกิดแนวแผ่นเปลือกโลกเลื่อนผ่านกันนี้เรียกว่า “รอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ (transform fault)” ส่วนมากมักพบรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ในแอ่งมหาสมุทรและเชื่อมต่อระหว่างเทือกเขากลางสมุทร (Mid-ocean ridge) ที่เหลือมกัน และส่วนน้อยพบบริเวณเชื่อมต่อระหว่างเทือกเขากลางสมุทรกับเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก (subduction zones)
รอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่นั้นแตกต่างจากรอยเลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip fault) เนื่องจากมีลักษณะการเคลื่อนที่ที่ตรงกันข้ามกัน (ดูภาพประกอบด้านบน) โดยรอยเลื่อนตามแนวระดับเป็นการเลื่อนตามปกติตามลักษณะที่เหลื่อมกัน แต่รอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่นั้นเกิดจากแผ่นเลือกโลกสองแผ่นที่แต่ละแผ่นมีการเคลื่อนที่ออกจากกันจากศูนย์กลางรอยแยก (spreading center) ของแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละแผ่น เมื่อเราดูภาพตัวอย่างของรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ด้านบน แล้วลองจินตนาการว่าเส้นตรงคู่นั่นก็คือแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัว เราจะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่แยกออกจากกัน ดังลูกศร ซึ่งตรงกันข้ามกับรอยเลื่อนตามแนวระดับ
รอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ที่ตัดผ่านธรณีภาคพื้นทวีป (continental lithosphere) มีน้อยมาก ตัวอย่างที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือกลุ่มรอยเลื่อนซานแอนดีส ( San Andreas Fault Zone) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา รอยเลื่อนซานแอนดีสเชื่อมต่อระหว่างแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวในอ่าวแคลิฟอร์เนีย (Gulf of California) กับเขตมุดตัวแคสคาเดีย (Cascadia subduction zone) อีกตัวอย่างของรอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่ที่ตัดผ่านธรณีภาคพื้นทวีปคือ รอยเลื่อนอัลไพน์ (Alpine Fault) ในประเทศนิวซีแลนด์
รอยเลื่อนแปรสภาพขนาดใหญ่คือบริเวณที่มักมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อย ส่วนมากเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในและระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้งสองที่ไม่มีการมุดตัว มักไม่พบภูเขาไฟในบริเวณดังกล่างเนื่องจากไม่มีการปะทุขึ้นมาของแมกมาจากกระแสไหลวน (upwelling convection currents) หรือการหลอมของแผ่นเปลือกโลกมุดตัว