ศัพท์ธรณีวิทยา — June 13, 2012 at 2:20 AM

ศัพท์ธรณีวิทยาปิโตรเลียม อักษร M – R

by

Methane : มีเทน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแก๊สธรรมชาติ เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคาร์บอน 1 อะตอม (CH4) ส่วนใหญ่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี

Microbial Enhanced Oil Recovery : กระบวนการทางจุลชีวะเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบ พวก micro-organisms จะทำให้เกิดขบวนการทางเคมี เช่น surfactant, acid solvent และ gas ซึ่งจะไปทำให้น้ำมันดิบในแหล่งกักเก็บสามารถเคลื่อนตัวได้

Migration : การเคลื่อนที่ของปิโตรเลียมจากหินต้นกำเนิดไปยังแหล่งกักเก็บ การเคลื่อนที่มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ การเคลื่อนที่แบบปฐมภูมิ (primary migration) เป็นการเคลื่อนที่ของไฮโดรคาร์บอนออกจากหินต้นกำเนิด การเคลื่อนที่แบบทุติยภูมิ (secondary migration) เป็นการเคลื่อนที่ผ่านชั้นหินที่มีคุณสมบัติในการซึมผ่านสูงหรือในหินกักเก็บเอง และการเคลื่อนที่แบบตติยภูมิ (tertiary migration) เป็นการเคลื่อนที่จากแหล่งกักเก็บหนึ่ง (trap) ไปยังอีกแหล่งหนึ่ง หรือเป็นการเคลื่อนที่หายไปของไฮโดรคาร์บอนจากแหล่งกักเก็บ

mmbbl : หมายถึง ล้านบาร์เรล (million barrels)

mmscf : หมายถึง ล้านลูกบาศก์ฟุต (million standard cubic feet)

mmscf/d : หมายถึง ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (million standard cubic feet per day)

Monkeyboard : เป็นแท่น (platform) เล็ก ๆ แขวนอยู่ส่วนบนของหอเจาะ (derrick) ในระดับความสูงตรงกับส่วนบนสุดของก้านเจาะ (ประมาณ 90 ft) และเป็นที่ที่ derrickman อยู่ปฏิบัติงาน

Napthab : แนฟทา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ เป็นน้ำมันส่วนเบา อยู่ระหว่าง gasoline และ kerosene ใช้เป็นน้ำมันเบนซินที่ใช้กับเครื่องรถยนต์ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

Natural Flow : เป็นการผลิตโดยปล่อยให้น้ำมันไหลขึ้นมาด้วยแรงที่มีอยู่ในธรรมชาติ

Natural Gas : แก๊สธรรมชาติ เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดเบา ซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (C) ตั้งแต่ 1 ถึง 4 อะตอม กับไฮโดรเจน (H) จับตัวกันเป็นโมเลกุลโดยเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ตามชั้นหินดินเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี เนื่องจากความร้อนและความกดดันจึงแปรสภาพเป็นแก๊สธรรมชาติ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ เบากว่าอากาศ แก๊สธรรมชาติประกอบด้วยแก๊สมีเทน (CH4) เป็นส่วนใหญ่ และอาจมีแก๊สอีเทน (C2H6) โปรเพน (C3H8) และบิวเทน (C4H10) ปนอยู่บ้าง นอกจากนี้ก็อาจมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ฮีเลียม ไอน้ำ ปนอยู่ด้วย ประโยชน์ของแก๊สธรรมชาติ คือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมี

Net Pay : ความหนารวมของชั้นหินที่ให้ปิโตรเลียม

NGL : มาจากคำว่า Natural Gas Liquid หรือที่เรียกกันว่า แก๊สโซลีนธรรมชาติ คือไฮโดรคาร์บอนซึ่งสามารถแยกออกมาในรูปของเหลวจากการผลิตแก๊สธรรมชาติ มีอีเทน แอลพีจี และเพนเทน เป็นองค์ประกอบหลัก

NGV : มาจากคำว่า Natural Gas Vehicles หมายถึงยานยนต์ที่ใช้แก๊สธรรมชาติอัด (Compressed Natural Gas; CNG) เป็นเชื้อเพลิง เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีแก๊สมีเทนเป็นส่วนใหญ่ นำมาอัดด้วยความดันสูง (แต่ก็ยังเป็นแก๊สอยู่) บรรจุในถังเพื่อสะดวกในการขนส่งและใช้เป็นเชื้อเพลิงใน ยานพาหนะแทนน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซล

Non-associated Gas : แก๊สธรรมชาติที่ประกอบด้วยแก๊สมีเทนเกือบทั้งหมดไม่มีน้ำมันปนอยู่ด้วย

OIIP : มาจากคำว่า Oil Initial in Place หมายถึงปริมาณของน้ำมันดิบทั้งหมดที่มีอยู่ในแหล่งกักเก็บใต้ดิน และจะเป็นตัวเลขที่มากกว่าตัวเลขปริมาณสำรอง (reserves) เพราะปริมาณน้ำมันที่มีอยู่นั้นไม่สามารถที่จะนำขึ้นมาได้หมด

Oil Pool : บ่อน้ำมัน คือแหล่งใต้ดินที่มีปิโตรเลียมสะสมอยู่ในปริมาณเชิงพาณิชย์ อาจมีเพียงแก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันดิบอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 อย่างก็ได้ บ่อน้ำมันอาจมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ไร่ หรือกว้างใหญ่เป็นหลายตารางกิโลเมตรก็ได้ หากบ่อน้ำมันหลาย ๆ บ่อเกิดรวมกันอยู่ในลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาหรือลำดับชั้นหินเดียวกัน เรียกกลุ่มบ่อน้ำมันนี้ว่า แหล่งน้ำมัน

Oil Recovery Factor : ความสามารถในการนำน้ำมันขึ้นมา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสภาพของชั้นหินกักเก็บและคุณสมบัติของปิโตรเลียมเองแล้ว ยังขึ้นกับวิธีการผลิตอีกด้วย

Oil Shale : หินน้ำมัน คือหินตะกอนเนื้อละเอียดขนาดตั้งแต่หินทรายแป้งลงมา ส่วนใหญ่เป็นหินดินดาน มีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ มีอินทรียสารที่เรียกว่าเคอโรเจน (kerogene) เป็นสารน้ำมันปนอยู่ในเนื้อหิน มักมีการเรียงตัวเป็นชั้นบาง ๆ ถ้าจุดไฟจะติดไฟ ชาวบ้านเรียก หินติดไฟหรือหินดินดานน้ำมัน ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในการกลั่นเอาน้ำมันใช้เป็นเชื้อเพลิงและประโยชน์อื่น ๆ แหล่งหินน้ำมันที่สำคัญในประเทศไทยได้แก่ แหล่งที่อำเภอแม่สอด แม่ระมาด และที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แหล่งบ้านป่าคา อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และแหล่งที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

Oil Window : ช่วงความลึกใต้ผิวโลกที่มีอุณหภูมิสูงพอที่จะให้กำเนิดน้ำมัน (อุณหภูมิประมาณ 150° -300° F) แต่ไม่สูงพอที่จะเปลี่ยนน้ำมันไปเป็นแก๊ส ในแอ่งสะสมตะกอนช่วง oil window จะอยู่ที่ความลึกประมาณ 7,000 – 18,000 ft อุณหภูมิที่เป็นช่วง oil window จะขึ้นอยู่กับหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม (source rock) ด้วย เช่น ถ้าหินต้นกำเนิดปิโตรเลียมมีอายุแก่ อุณหภูมิก็จะต่ำ

Overburden Pressure : ความดันชั้นหินปิดทับ หมายถึงความดันที่เกิดจากน้ำหนักของหินด้านบนที่กดทับลงมารวมทั้งน้ำหนักของของไหลที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างหิน ทั้งสองอย่างนี้รวมกันจะให้ค่าความดันที่เรียกว่า “ความดันของชั้นหินปิดทับ” (overburden pressure,Po) ซึ่งปรกติจะมีค่าเฉลี่ยที่ 1.0 psi/ft หรือ มีความหนาแน่นเท่ากับ 19.23 ppg

Peat : พีต คือซากพืชที่ยังไม่แข็งตัว สะสมในที่ลุ่มสนุ่นหรือที่ลุ่มชื้นแฉะ จึงทำให้มีความชื้นสูง (อย่างน้อยร้อยละ 75) เนื้อเซลลูโลสของซากพืชต่าง ๆ ถูกแบคทีเรียและเชื้อราแปรสภาพเป็นอินทรีย์วัตถุและแก๊สมีเทน แต่ยัง ปรากฎลักษณะซากพืชต่าง ๆ ให้เห็นอยู่ภายในเนื้อ มีคาร์บอนประกอบอยู่ประมาณ 60% และออกซิเจนประมาณ 30% เมื่อแห้งจะติดไฟได้ดี peat คือลำดับเบื้องต้นของกระบวนการเกิดถ่านหิน

Percussion Drilling : การเจาะแบบกระแทก

Perforations : การยิงท่อกรุ ซีเมนต์ และชั้นหินที่จะทำการผลิตให้เป็นรู เพื่อให้น้ำมันหรือแก๊สไหลขึ้นมาในหลุมเจาะได้

Permeability : ค่าความซึมได้ของหิน หมายถึงการวัดความสามารถในการยอมให้ของไหล ได้แก่ น้ำมัน  หรือ น้ำ ไหลผ่านช่องว่างระหว่างหิน หน่วยที่ใช้วัดเป็น มิลลิดาร์ซี (millidarcies; md) หรือ ดาร์ซี (darcies)

Petrochemical Industry : อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คืออุตสาหกรรมที่นำเอาวัตถุดิบซึ่งมีองค์ประกอบของสารไฮโดรคาร์บอนไปเข้ากระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ปิโตรเลียมที่ใช้เป็นวัตถุดิบได้แก่ แก๊สธรรมชาติ คอนเดนเสท น้ำมันดิบ แนฟทา แก๊สอีเทน โพรเพน บิวเทน เป็นต้น มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะเม็ดและผงพลาสติก สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปพลาสติกนานาชนิด

Petroleum : ทั่วไปหมายถึงสารผสมของไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุ 2 ชนิดเป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่คาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) โดยอาจมีหรือไม่มีธาตุอโลหะอื่น ๆ เช่น กำมะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฯลฯ ปนอยู่ด้วยก็ได้ ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียม และความร้อน ตลอดจนความกดดันตามสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมนั้นถูกกักเก็บไว้ แบ่งตามสถานะได้ 2 ชนิด คือน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติ

Petroleum Province : บริเวณที่มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา และลักษณะชั้นหินที่คล้ายคลึงกัน และมีแหล่งกักเก็บปิโตรลียม (petroleum reservoir) อยู่เป็นจำนวนมาก

Petroleum Reserves : ปริมาณสำรองปิโตรเลียม หมายถึงปริมาณปิโตรเลียมที่สามารถจะผลิตขึ้นมาได้อย่างคุมค่าต่อการลงทุนจากแหล่งปิโตรเลียม ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น

Pig : อุปกรณ์ซึ่งอาจเป็นลูกยางแข็ง ลูกพลาสติก หรือแท่งโลหะ ที่ใส่ไว้ในท่อส่งน้ำมันหรือแก๊ส (pipeline) เพื่อใช้ทำความสะอาดท่อส่ง โดยมันจะไหลไปในท่อตามแรงดันของน้ำมันหรือแก๊สที่ไหลไป และสามารถติดอุปกรณ์สำหรับตรวจดูว่าส่วนใดของท่อสึกกร่อนหรือชำรุดได้ด้วย

Pipeline : ท่อสำหรับการขนส่งน้ำมันดิบหรือแก๊สธรรมชาติ ซึ่งวางได้ทั้งบนบกและในทะเล

Plug and Abandon : การอัดซีเมนต์เข้าไปในหลุมเจาะที่ไม่พบปิโตรเลียมเพื่อการสละหลุม

Porosity : ค่าความพรุนของหิน หมายถึง จำนวนช่องว่างระหว่างหิน คิดเป็นเปอร์เซนต์โดยปริมาตร porosity จะเป็นตัววัดความจุในการกักเก็บของไหลในชั้นหินกักเก็บ (reservoir rock) ถ้าชั้นหินมีค่าความพรุน 0 – 5% จะไม่น่าสนใจ , 5 – 10% ไม่ดี , 10 – 15% พอใช้ , 15 – 20% เป็นชั้นหินกักเก็บที่ดี และ 20 – 25% ดีมาก

Portable Rig : เป็นแท่นเจาะบนบกแบบที่มีโครงสร้างหอคอย (derrick) ติดอยู่ บนรถบรรทุกขนาดใหญ่ สามารถเคลื่อนย้ายแท่นเจาะได้โดยสะดวก เพราะโครงสร้างหอคอยพับให้เอนราบได้

Possible Reserves : ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่เป็นไปได้ว่าจะมีอยู่ โดยมีข้อมูลทางธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมบ่งชี้ว่าน่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมได้ แต่จะมีความมั่นใจน้อยกว่า proved และ probable reserves

Pour Point : จุดไหลเท คือ อุณหภูมิ ณ จุดที่น้ำมันดิบแข็งตัวและไม่สามารถไหลได้สะดวก หมายถึงว่า ถ้าอุณหภูมิของน้ำมันดิบต่ำกว่าจุดไหลเท น้ำมันดิบก็จะเป็นไขแข็ง ไหลไม่ได้ และในทางตรงกันข้าม หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดไหลเท ไข (wax) ที่ผสมอยู่ในน้ำมันดิบก็จะหลอมตัวเข้ากับน้ำมันดิบ ทำให้น้ำมันดิบไหลได้

Primary Drive : แรงดันที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่ช่วยขับน้ำมันและแก๊สให้ไหลเข้าไปในหลุมเจาะ ในแหล่งน้ำมัน แรงขับตามธรรมชาติ ได้แก่ แก๊สธรรมชาติที่ละลายปนอยู่กับน้ำมันดิบ (solution gas) แก๊สธรรมชาติที่เกิดอยู่อย่างอิสระ (free gas) น้ำและแรงโน้มถ่วงของโลก ในแหล่งน้ำมันทุกแหล่งจะมีแรงขับตามธรรมชาติอย่างน้อย 1 อย่าง หรือ 2 อย่าง แรงขับตามธรรมชาติจะลดลงเมื่อมีการผลิต

Primary Recovery : การผลิตขั้นปฐมภูมิ คือ การผลิตที่ใช้พลังงานตามธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งกักเก็บ ทำให้เกิดการไหลของน้ำมันดิบจากแหล่งกักเก็บเข้ามาในหลุมผลิต ขบวนการผลิตแบบนี้ร้อยละของน้ำมันดิบที่ผลิตได้ (เมื่อเทียบกับน้ำมันทั้งหมดที่มีในแหล่งกักเก็บ) จะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของหินกักเก็บ คุณสมบัติของน้ำมันดิบ และชนิดของพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งกักเก็บ ร้อยละของน้ำมันดิบที่ผลิตได้โดยกระบวนการผลิตขั้นปฐมภูมิสำหรับน้ำมันดิบชนิดหนักมาก (extra heavy crude oil) ชนิดหนัก (heavy crude) ชนิดหนักปานกลาง (medium crude) และชนิดเบา (light crude) มีค่าประมาณ 1-5%, 1-10%, 5-30% และ 10-40% ตามลำดับ ช่วงของเปอร์เซนต์แสดงถึงกลไกการผลิตในแหล่งกักเก็บที่ต่างกัน

Production Analysis Model : การจำลองการไหลในระบบการผลิต

Production Well : หลุมผลิตปิโตรเลียม

Processing Platform (PP) : แท่นผลิต เป็นแท่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ เช่น ระบบแยกสถานะ (gas/liquid seperator) ระบบเพิ่มแรงดันแก๊ส (gas compression) ระบบดูดความชื้น (dehydration) มาตรวัด (metering) เป็นต้น

Produced Water : น้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งปิโตรเลียมและผลิตขึ้นมาได้พร้อมกับการผลิตน้ำมัน หรือเป็นน้ำที่อัดเข้าไปในแหล่งเพื่อช่วยเพิ่มการผลิต

Probable Reserves : ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่คาดว่าจะมี โดยมีข้อมูลทางธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมสนับสนุนว่าจะสามารถผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาได้ probable reserves มีความไม่แน่นอนสูงกว่า proved reserves ในด้านขนาดหรือขอบเขตที่แน่นอนของแหล่ง ความสามารถที่จะผลิตขึ้นมาได้

Proved Reserves : ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว คือ ปริมาณสำรองที่ได้มาโดยการคำนวณและประมาณการจากข้อมูลการเจาะและทดสอบหลุมปิโตรเลียม ซึ่งได้มีการพิสูจน์ทราบแล้ว รวมทั้งมีหลักฐานข้อมูลการผลิต หรือข้อมูลทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ที่มีความแน่นอนค่อนข้างสูงสนับสนุนว่า จะสามารถผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาได้คุ้มค่าการลงทุนภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น

Pyrobitumen: ไพโรบิทูเมน เป็นบิทูเมนธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพถึงขั้นสูงสุด เป็นของแข็ง สีดำมันวาว มีปริมาณคาร์บอนคงที่สูง ไม่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์และไม่หลอมตัว

Raw Natural Gas : หมายถึงแก๊สธรรมชาติที่มีสสารหรือแก๊สอื่นเจือปนอยู่ (impurities) และเป็นสารที่ไม่ต้องการ เช่น น้ำ แก๊สไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟล์ ฮีเลียม สารเหล่านี้จะต้องถูกแยกออกก่อนที่จะมีการซื้อขายแก๊ส

Recoverable Oil in Place : ปริมาณน้ำมันดิบในแหล่งกักเก็บใต้ดินที่คาดว่าจะสามารถผลิตขึ้นมาได้และคุ้มค่าต่อการลงทุน

Recovery Factor : ค่าตัวแปรที่ใช้บ่งถึงอัตราส่วนของปริมาณปิโตรเลียมที่เราสามารถนำขึ้นมาใช้ได้ต่อปริมาณทั้งหมดที่มีอยู่ในแหล่ง

Refinery : โรงกลั่นน้ำมัน

Refining : การกลั่น เป็นกระบวนการแยกผลิตภัณฑ์น้ำมันออกจากน้ำมันดิบและจะให้ผลิตภัณฑ์ตามส่วนประกอบของน้ำมันดิบแต่ละชนิด การกลั่นเป็นการแยกผลิตภัณฑ์น้ำมันตามขนาดของโมเลกุล โดยใช้ความแตกต่างในจุดเดือดของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแต่ละตัว

Remote Processing Platform : แท่นผลิตย่อย เป็นแท่นสำหรับนำแก๊สจากแท่นหลุมผลิตมาเข้าขบวนการแยกแก๊ส คอนเดนเสท (condensate) และน้ำ ในขั้นต้น เพื่อทำการส่งต่อไปยังแท่นผลิตกลาง

Reserves : ปริมาณสำรองปิโตรเลียม คือค่าประมาณของปริมาตรปิโตรเลียมซึ่งคาดว่าจะผลิตขึ้นมาได้ในเชิงพาณิชย์ จากบริเวณที่แน่ใจแล้วว่ามีปิโตรเลียมอยู่ และสามารถผลิตได้จากวันที่กำหนด ภายใต้สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น และเป็นค่าที่เปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้นและมีการคำนวณใหม่

Reservoir : แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม โดยปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันและแก๊สธรรมชาติจะสะสมตัวอยู่ในช่องว่างระหว่างหิน เช่น ชั้นหินทราย ชั้นหินปูน

Reservoir Rock : หินกักเก็บ คือหินที่มีรูพรุน รอยแยก รอยแตกอยู่ภายในเนื้อหิน และยอมให้ของไหลซึมผ่านได้สูง (good porosity and permeability) เช่น หินทราย หินคาร์บอเนต หินปูน หินโดโลไมต์ เพื่อที่จะสามารถกักเก็บปิโตรเลียมในปริมาณมากได้ นอกจากจะต้องมีความพรุนสูงแล้ว ควรจะต้องมีความหนาด้วย ในแหล่งปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ส่วนมากหินกักเก็บจะมีความพรุนสูงกว่า 10% และมีความหนามากกว่า 10 ft จะต้องมีความต่อเนื่องและครอบคลุมบริเวณกว้าง เพื่อที่จะได้มีปริมาตรกักเก็บปิโตรเลียมได้สูง

Reservoir Simulation : การจำลองการไหลในแหล่งกักเก็บ

Rich Gas : แก๊สซึ่งมีมีเทน (Methane) เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีสัดส่วนของไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่นอยู่สูงเช่นกัน ซึ่งไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้สามารถแยกออกมาได้ในรูปของแก๊สเหลว (NGL) หรือ หมายถึงแก๊สธรรมชาติที่มีค่าความร้อน (calorific value) มากกว่า 900 BTU/ft3

Riser Platform (RP) : แท่นชุมทางท่อ เป็นแท่นที่รับแก๊สจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ส่งขึ้นฝั่ง

Road Tanker Loading : ระบบการขนถ่ายน้ำมันจาก storage tank ลงสู่รถบรรทุก เพื่อจะได้ขนน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่น โดยมี centrifugal pump เป็นตัวปั๊มน้ำมันดิบจาก storage tank ไปออกที่ loading arm เพื่อนำใส่ลงใน tank ของรถบรรทุก ซึ่งแต่ละคันมีความจุประมาณ  200 บาร์เรล

ROP : มาจากคำว่า Rate of Penetration หมายถึงอัตราเร็วในการเจาะ

Rotary Drilling : คือการเจาะแบบหมุน

Roustabouts : คือคนงานที่ทำงานอยู่บนแท่นขุดเจาะในทะเล มีหน้าที่ยกและเคลื่อนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ขนมาจากบนฝั่ง (shore base) ขึ้นมาบนแท่นเจาะในทะเลสำหรับใช้ทำงาน

Running Tools : เป็นเครื่องมือที่ใช้หย่อนและติดตั้งอุปกรณ์ในหลุมเจาะ