ความรู้และประวัติโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
บันทึกโดย ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล ผู้อำนวยการโครงการฯ
GO GO GO!
จำไม่ได้ท่านใดเคยกล่าวไว้ว่า “แบบก่อสร้าง (construction drawing) ที่ดีที่สุดคือ แบบก่อสร้างของงานที่ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว” ที่ภาษาช่างเรียกกันติดปากว่า “แอ๊สบิ๊วท์ดรออิ้ง (as-built drawing)“ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะก่อนและระหว่างทางของการก่อสร้าง จะต้องมีการแก้ไขแบบ แก้ไขงานตลอดเวลาจนกว่างานจะแล้วเสร็จโน่นแหละ แบบถึงจะนิ่ง
ยิ่งพวกท่านที่ผันตัวมาเป็นนักธรณีวิทยาวิศวกรรมหรือวิศวกรธรณีเทคนิค ที่ทั้งชีวิตหนีไม่พ้นเรื่องดินกับหิน จะต้องชินกับปัญหาการแก้ไขแบบ ส่วนใหญ่ที่เจอะเจอเสมอ “เธอว่าดิน แต่ฉันว่าหินนะ” จะต้องตะหนักให้มากๆว่าระดับหินฐากรากนั้นอยู่ตรงไหน?? ไม่ใช่ลงระดับหินแต่ผุที่เครื่องจักรขุดได้ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกับฝ่ายออกแบบและฝ่ายก่อสร้างอยู่บ่อยๆจนอารมณ์บ่จอยใส่กันอยู่เรื่อยๆ ทั้งเหนื่อยใจเพลียกาย ต้องรอแบบแก้ไขใหม่ให้อนุมัติซะก่อน ถึงจะไปต่อได้
โครงการฯ นี้ก็หนีไม่พ้นวนเวียนนี้ แต่ที่พิเศษกว่าโดยไม่ต้องหาไข่มาใส่ก็คือบางขั้นตอน ”ไม่รู้จะเขียนแบบยังไง?” ไปตายดาบหน้าก็ต้องไปไม่ผิดนัก สัญญาก็เซ็นแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จักวิธีวาดรูปพระบนหน้าผา ต้องเดินหน้าลูกเดียว ระยะเวลาก่อสร้างเพียงหนึ่งปีไม่มีเวลาให้ “ไหว้ครู” ได้นานนัก
เคยรับคนงานมาหนึ่งคันรถ พอมาถึงจุดหมายที่พัทยาใต้ใกล้หน้าผา ปรากฎว่าไม่ยอมลงรถสักคน! คงเกิดการเข้าใจผิดคิดว่ามานั่งพับเพียบนล้อมวงแกะสลักองค์พระเล็กๆมั้ง เลยต้องพาไปยังหัวลำโพงเพื่อส่งกลับบ้าน
บันไดที่กลางหน้าผา เจาะรูฝังเหล็กขึ้นไปได้สักระยะ ก็ต้องยกเลิกรื้อย้ายไปเพราะไม่เวิ้ร์ค หลังจากแนวคิดการติดตั้งลิฟต์ตกไปด้วยเพราะมุมองศาของหน้าผาไม่เอื้ออำนวยให้ เลยต้องเปลี่ยนแบบแปลงแผนไปติดตั้งนั่งร้านเพื่อขนคนและของเข้าทางข้างด้านซ้ายของพระอุระ(อก)ขององค์พระฯ
King’s Concept
สิ่งที่คณะทำงานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับพระราชดำรัสและพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฎิบัติสำหรับการก่อสร้างโครงการฯนี้คือ “ประหยัดและปลอดภัย” ก่อนหน้านั้นคณะออกแบบ (ถ้าจำไม่ผิดนำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) ได้กราบบังคมทูลแนวคิดการแกะสลัก 3 แนวทางด้วยกันคือ
- แบบนูนสูง(High Relief) เช่น Crazy Horse Memorial (รูปหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงขี้ม้าออกศึก)
- แบบนูนต่ำ(Bass Relief) เช่น Mount Rush More (รูปหน้าประธานาธิบดีอเมริกา)
- แบบลายเส้น (Lined Pattern)
ด้วยพระองค์ทรงทราบดีว่าสภาพหินของหน้าผาไม่ค่อยดีนัก จึงได้มีพระราชวินิจฉัยลงมาว่า ถ้าหากให้มีการแกะสลักองค์พระแบบนูนสูง (High Relief) หรือแม้กระทั่งแบบนูนต่ำ (Bass Relief) การก่อสร้างอาจจะกระทำไม่สำเร็จหรือมิฉะนั้นค่าใช้จ่ายก็จะสูงและใช้เวลามาก จึงควรทำเป็นแบบลายเส้น (Lined Pattern) มากกว่าและให้มีการระเบิดหินน้อยที่สุดโดยการปรับความเรียบของหน้าผาให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของหน้าผาเดิม มิใช่ปรับหน้าผาให้เรียบเป็นแผ่นกระดาษหรือจอหนัง
บริเวณลานหน้าผาหรือหน้าองค์พระฯ ควรก่อสร้างเป็นสระน้ำหรือสระบัว เพื่อกันไม่ให้ผู้คนที่มากราบไหว้สักการะองค์พระฯ เข้ามาใกล้หน้าผาเกินไป จนอาจจะเกิดอันตรายจากหินล่วงหล่นใส่ได้
พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์มากจริงๆ
งานสำรวจเพื่อปรับแต่งหน้าผา
งานสำรวจ (Survey) เพื่อปรับแต่งหน้าผาให้เรียบ มีการแบ่งขั้นตอนการดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอนคือ การสำรวจสภาพปัจจุบันของหน้าผาเขาชีจรรย์ กับ การสำรวจเพื่อการก่อสร้าง ดังนี้
1. การสำรวจสภาพปัจจุบันของหน้าผาเขาชีจรรย์ (Existing Condition Survey)
- กำหนด Base line แนว Base line ได้ถูกกำหนดไว้ห่างจากหน้าผาเขาชีจรรย์ประมาณ 70 เมตรจากแนว Base line นี้ สามารถกำหนดเส้นตาราง (grid) บนหน้าผา โดยกำหนดระยะห่างระหว่างเส้นตั้ง (Vertical lines) และระยะห่างระหว่างเส้นนอน (Contour lines or Horizontal lines) จะเท่ากัน คือ 2.50 เมตร
- สำรวจค่าพิกัด (Coordinate Survey) ทำการตรวจสอบค่าพิกัดของจุด Coordinate ทุกจุดบนหน้าผาด้วยกล้อง Total Station (Theodolite & EMD) ข้อมูลที่ตรวจสอบได้จะถูกนำมาพล็อตเป็น Geometric Drawing และ Contour Map
- กำหนดเส้น Designed line จาก Contour Map ทำการออกแบบและกำหนด Horizontal Section ทุกระดับ 5 เมตร เพื่อกำหนดเส้นของ Designed Line เพื่อคำนวณหาปริมาณหินที่จะต้องทำการระเบิดออก
2. การสำรวจเพื่อการก่อสร้าง (Construction Survey)
กำหนดพิกัด (Coordinate) ของ Designed Line จุดพิกัด (Coordinate) ของ Design Line หรือ Cut Line จะถูกกำหนดเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับกำหนดแนวหรือทิศทางการเจาะของรูระเบิดแบบตัดหน้าเรียบชนนิด Prespliting เพื่อปรับผิวหน้าของหน้าผาให้เรียบสำหรับการขึ้นรูปองค์พระต่อไป (ดังรูปข้างล่างครับ)
ระบบขนส่งวัสดุ คนงาน และนั่งร้าน
ระบบขนส่งวัสดุ จะใช้เครื่องกว้านไฟฟ้า (Winch) ขนาด 1 ตัน ติดตั้งทางด้านข้างทางตะวันตกทางหน้าผา สำหรับลำเลียงวัสดุขึ้นหน้าผา
ระบบขนส่งคนงาน จะติดตั้งบันได (Ladder) ทางด้านทิศตะวันตกของหน้าผาเช่นเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการทำงาน โดยใช้ท่อเหล็กขนาด 1.5 นิ้ว เป็นหลักสองท่อนแล้วทำการเชื่อมลูกบันไดเข้ากับท่อเหล็กนี้ ความยาวทั้งหมดในส่วนที่ทำบันไดเขานั้นประมาณ 80 เมตร โดยติดตั้งบันไดเป็นช่วงในส่วนที่มีความชันมากและเห็นว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่การเดินทางขึ้นไปทำงาน
ส่วนนั่งร้าน (Scaffolding หรือ Platform) จะติดตั้งต่อจากบันไดมายังบริเวณด้านหน้าผา เพื่อปฏิบัติงานเป็นช่วงๆ และเป็นการติดตั้งแบบชั่วคราวโดยฐานของนั่งร้านจะใช้เหล็กข้ออ้อยขนาด 0.25 มม. ฝังในรูเจาะลึก 0.80 เมตร ทุกๆระยะ 1 เมตร และมีความกว้างของนั่งร้าน 1 เมตร
คนพร้อม ของพร้อม เริ่มแกะสลัก
การแกะสลักรูปพระ ณ หน้าผาเขาชีจรรย์นี้ เป็นการแกะสลักด้วยระเบิดและก่อนจะขึ้นรูปองค์พระ จะต้องทำการปลอกผิวหน้าที่ขุระขระของหน้าผาให้เรียบ (ด้วยระเบิดอีกเช่นกัน) เสียก่อน เปรียบดังจิตรกรที่ต้องขึงผืนผ้าให้ตึงก่อนที่จะลงปลายพู่กันประมาณนั้น
ขั้นตอนการปฏิบัติงานแกะสลักสามารถแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ขั้นแรก-การปรับหน้าผาให้เรียบ
ขั้นที่สอง-การแกะสลักลายเส้นรูปองค์พระ ซึ่งจะกล่าวในตอนถัดไป
การปรับแต่งหน้าผาให้เรียบ (Trimming)
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสรับสั่งว่าการปรับแต่งหน้าผาจะต้องกระทำโดยการระเบิดหินออกให้น้อยที่สุด ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นการปรับแต่งหน้าผาให้เรียบ โดยการระเบิดตัดส่วนผิวหน้าของหน้าผาที่โหนกนูนไม่เรียบและมีรอยแตกรอยร้าวจากการระเบิดเดิมออกไป โดยพยายามระเบิดออกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปริมาณหินที่ต้องระเบิดออกในขั้นนี้มีประมาณ 50,000 ลบ.เมตร โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงานดังนี้
1) การเตรียม Bench ด้านบน (Top Benching)
การปรับแต่งหน้าผาเขาชีจรรย์จะเริ่มจากการทำ Benching ด้านบน (Top Bench) เหนือองค์พระ โดยมีความสูงของ bench ตามแนว Slope 3.2 เมตร เอียงประมาณ 70o และมีความกว้าง 3 เมตร Top Bench นี้จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นของงานปรับแต่งหน้าผา (Trimming) ซึ่งจะกระทำจากด้านบนลงล่าง
2) วิธีการปรับแต่งหน้าผาให้เรียบ (Trimming)
- การระเบิดปรับหน้าเรียบด้วยวิธี Prespliting
จาก Top Bench บนสุดนี้สามารถเริ่มทำการปรับแต่งหน้าผา (Trimming) ให้เรียบ ได้โดยการเจาะรู ระเบิดprespliting ในแนวตั้ง มีระยะห่างระหว่างรู 30-50 ซม. เรียงเป็นแถวในแนวเอียงประมาณ 70 o ตามหน้า Slope
ระยะความลึก และทิศทางของแนวระเบิด prespliting (ตามแนว designed line) นี้จะกำหนดจากค่าพิกัด (Coordinate) จาก Survey ซึ่งมี grid lines คอยควบคุมทุกๆระยะ 2.50 ม.
เมื่อเตรียมรูของ prespliting เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นการอัดระเบิดในรูของ prespliting ซึ่งจะใช้ระเบิดมัดกับสายชนวนทุกๆ ระยะ 20 ซม. โดยจะกำหนด specific charge ไว้ประมาณ 0.2 กก./ตร.เมตร
- การระเบิด Production Blasting
หลังจากระเบิด prespliting เพื่อปรับแต่งหน้าผาให้เรียบแล้ว จากนั้นเป็นการระเบิด production blasting โดยใช้ปริมาณวัตถุระเบิด (Powder Factor/Specific charge) ประมาณ 0.2 กก./ลบ.เมตร และระยะห่างระหว่างรูเจาะระเบิดประมาณ 60-100 ซม.