ความรู้และประวัติโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
บันทึกโดย ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล ผู้อำนวยการโครงการฯ
พระลายจุด
หลังการระเบิดเพื่อปลอกผิวหน้าที่ขุระขระของหน้าผาหินให้เรียบด้วยการระเบิดแบบวิธี Prespliting แต่ละครั้ง นักธรณีวิทยาวิศวกรรมและวิศวกรธรณีเทคนิคจะต้องขึ้นไปห้อยเชือกตรวจสอบและทำแผนที่ธรณีวิทยา (ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนแรก) เพื่อทำการออกแบบเสริมความมั่นคงของหน้าผา (ด้วยวิธีเย็บหิน-Bock Bolt เป็นส่วนใหญ่ และพ่นคอนกรีต- Shotcrete เป็นส่วนน้อย) ซึ่งก่อนจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เสริมความมั่นคงนี้ได้จะต้องส่งไปให้ทางสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยรศ.ดร.นพดล เพียรเวช อนุมัติแบบ “Real Time” ก่อนทุกครั้ง!
การเย็บหิน (Rock Bolt) ที่ใช้ ณ หน้าผาแห่งนี้ จะเป็นชนิด resin fully grouted กระทำโดยการเจาะรูแล้วฝังด้วยเหล็กข้ออ้อยขนาด 0.20 มม. มีความยาวต่างๆกันตั้งแต่ 1.5 เมตร ขึ้นไปตามผลการคำนวณ โดยปลายเหล็กจะยึดติดกับก้นหลุมด้วยกาว resin และ grout ด้วย cement ตลอดทั้งหลุม
เมื่อดูรูปด้านล่างที่แสดงตำแหน่งของจุดที่ได้ฝัง Rock Bolt เสริมความมั่นคงของหน้าผาเขาชีจรรย์ไว้ จะเห็นเป็นจุดๆลายพร้อยเต็มไปหมดเกือบทั่วทั้งองค์พระและหน้าผา หากรวมความยาวของเหล็ก Rock Bolt ที่ฝังยึดไว้ที่หน้าผาทั้งหมดนี้จะมีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร หรือ 3,000 กว่าเมตรทีเดียว
“ชาติหน้าบ่ายๆก็ไม่เสร็จ!”
ตอนนี้แทบชี้เป็นชี้ตายของโครงการฯเลยทีเดียว หน้าผาได้ถูกปรับให้เรียบดังรูปข้างล่างแล้ว ถึงเวลาวาดรูปพระพุทธรูปบนหน้าผาซะที แต่ช้าก่อน ต้องไป นำเสนอวิธีการวาด Method Statement of Buddha Image Drawing ให้ทาง AIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย) อนุมัติเห็นชอบเสียก่อน
“แล้วจะขึ้นรูปพระฯบนหน้าผากันยังไง?” ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ยิงตรง
“ตีกริดวาดแบบจิตรกรครับจารย์”
“ตีกริดเรอะ ขืนทำอย่างนี้ชาติหน้าบ่ายๆก็ไม่เสร็จ!” รู้สึกคอแห้งผาก ไปไม่เป็น
เมื่อสิ้นเสียง comment
“ไปคิดหาวิธีวาดด้วยเลเซอร์มาซะ”
อาจารย์ปริญญาฯท่านแนะนำแค่นี้ ที่เหลือเรื่องปวดหัวให้เป็นหน้าที่ของเรา
กลับมานั่งกุมขมับนับเป็นอาทิตย์ มืดมิดไม่รู้จะถามใคร ถ้าเป็นสมัยนี้ยังมีอากู๋กูเกิ้ลให้พอได้อาศัยถามไถ่ แล้วนี่ต่อจากนี้ไป จะยังไงกันดีล่ะพวกเรา?
“อัศจรรย์ค่อยๆ ทยอยบังเกิด”
“คุณเดชา ผมมากราบท่านญาณฯ (สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก) ที่วัดบวรฯ ได้ยินเค้าพูดกันว่าดร.พิเชษฐ์ คณะวิศวะ บางมด วาดรูปด้วยแสงเลเซอร์ได้” เสียงท่านพลเรือโท ประสิทธิ์ ลัทธิธรรม ส่งมาตามสายราวเสียงจากสรวงสวรรค์!
ผมจำไม่ได้ว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯนี้มา มีความมหัศจรรย์เกิดมาแล้วกี่ครั้ง แต่ครั้งนี้ ”รุนแรงมาก!”
คณะดำเนินโครงการฯนี้ที่ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการหลายชุดหลายร้อยท่าน แต่สำหรับ”ท่านนายพล” (พล.ร.ท ประสิทธิ์ ลัทธิธรรม) ท่านนี้ จัดว่าเป็นผู้ที่มีสำคัญมากถึงมากที่สุด ท่านจะเป็นแกนกลางและคอยประสานให้งานรี่นไหลไม่ติดขัดและทีสำคัญท่านจะเป็นผู้ถวายรายงานความคืบหน้าและปัญหาของโครงการฯให้องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และองค์รองประธานคณะกรรมการอำนวยการคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทราบทุกระยะ
และแล้วเวลา”ตามล่าหาอาจารย์ดร.พิเชษฐ์”ได้เรื่มขึ้นอย่างทันทีที่ ”ท่านนายพล”วางสายไป แต่สายของผมจะวางไม่ได้ถ้าไม่เจอตัวท่านอาจารย์พิเชษฐ์! แต่พอเริ่มตามหาก็คว้าน้ำเหลวซะแล้ว คณะวิศวะบางมดไม่มีอาจารย์ชื่อดร.พิเชษฐ์! ถ้าคณะนี้ไม่มีแล้วคณะไหนเล่า? หรือจะเป็นคณะวิทยา(มั้ง)? การคาดคะเนนี้ถูกต้อง
“อะไรนะ พระองค์ใหญ่กว่าร้อยเมตรเลยรึ ผมทำไม่ได้หรอก เคยทำองค์ใหญ่สุดก็แค่ 30 เซ็น(ติเมตร)เอง” สิ้นเสียงประโยคนี้ของท่านอาจารย์พิเชษฐ์ เล่นเอาใจผมหล่นลงไปอยู่ที่ตาตุ่มหลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาทีที่ถูก ”ท่านนายพล” ลากขึ้นไปซะสูงลิ่ว
ก่อนที่จะมีการวางสายแบบไร้อนาคต ไม่ทราบมีอะไรดลใจให้ผมถามโน่นเล่านี่ให้ท่านอาจารย์พิเชษฐ์ฯฟังไปเรื่อยๆด้วยอาการเบลอๆ
“เดี๋ยวๆคุณเดชา ว่าใหม่ซิ ที่คุณจะให้ผมทำนี่แค่ใช้แสงเลเซอร์ขึ้นรูปพระบนหน้าผาเท่านั้นใช่มั้ย ไม่ใช่แกะสลักทั้งองค์ด้วยแสงเลเซอร์นะ ถ้างั้นผมทำได้!”
“รอดตายแล้ว!”
“นี่ถ้าคุณโทรมาหาผมก่อนหน้านี่สักเดือน ผมไม่มีปัญญาช่วยคุณหรอก”
รศ.ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ จากบางมดกำลังจะเพิ่มความอัศจรรย์ของโครงการฯนี้อย่างไม่รู้ตัว
“การขึ้นรูปพระขนาดใหญ่มหึมากว่าร้อยเมตรบนหน้าผาด้วยแสงเลเซอร์ต้องใช้สแกนเนอร์ และเจ้าสแกนเนอร์นี้ ผมเพิ่งได้มาเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง”
ผมกดโทรศัพท์ให้แนบแน่นกับหูมากยิ่งขึ้น
“คุณรู้มั้ย ผมได้มันมายังไง”
“ก็นั่นน่ะสิครับ” ผมเพียงแต่นึกในใจ รอท่านอาจารย์สาธยายต่อ
“มีฝรั่งนำเข้ามาเพื่อจะเปิดดิสโก้เทคที่หาดใหญ่ แต่โชคร้ายถูกยิงตายซะก่อน
เผอิญภรรยาเค้ารู้จักกับผม และไม่รู้จะเอาเจ้าสแกนเนอรนี้ไปทำอะไร ก็เลยยกให้ผมฟรีๆ”
“เอาพล็อตนี้ไปทำหนัง ยังไม่กล้าเลย” ผมนึกในใจเช่นเคย
“พอผมได้มา ก็ยังใช้ไม่เป็น บังเอิญ (ได้ยินคำนี้ค่อนข้างบ่อยสำหรับโครงการฯนี้) ทาง NECTEC (เน็คเท็ค-ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) ได้ส่งดร.พงศ์พันธ์ (จินดาอุดม) มาช่วยงานที่ภาคฯ ผมก็เลยให้ดร.พงศ์พันธ์ ลองนั่งศึกษาดูและก็เพิ่งจะใช้เป็นไม่กี่วันมานี้เอง คุณโชคดีจริงๆ
ว่างเมื่อไหร่ ลองมาดูสิ อ้อ! คุณ FAX รูปพระมาให้ผมก่อนก็ดีนะ จะได้ให้ดร.พงศ์พันธ์ฯขึ้นรูปที่จอรอไว้เลย”
ท่านลองยืนขึ้น ย่อตัวลงนิดนึงแล้วชกฮุกขวาสั้นๆ พร้อมกับลั่นคำว่า”เยส”ออกไป อารมณ์ผมตอนนั้นประมาณนี้เลย
รูปด้านล่างเป็นภาพต้นแบบของ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา”
เป็นพระพุทธรูปนั่งปรางค์มารวิชัย ที่ FAX ไปให้รศ.ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ ในวันนั้น
“Scanner อุปกรณ์หัวใจของโครงการนี้”
แม้จะเคยเป็นอาจารย์พิเศษควบคู่กับการเป็นข้าราชการกรมชลประทานสอนที่วิศวะบางมดมา 2 ปี 2 ชั้น(ไม่ใช่ชั้นล่างกับชั้นบน) คือนศ.ปี1 กับนศ.ปี5 (สมัยนั้นยังเป็นหลักสูตร 5 ปีอยู่) ซึ่งก็นานมากแล้ว เลยต้องใช้เวลาพอควรในการเดินเลี้ยวลัดเลาะหาทางด้วยปากกว่าจะเจอห้องปฏิบัติการเลเซ่อร์เทคโนโลยี ของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ที่ท่านอาจารย์พิเชษฐ์ (รศ.ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ) ยืนยิ้มเผล่รออยู่ และได้รับการแนะนำให้รู้จักกับดร.พงศ์พันธ์ จินดาอุดม (จาก NECTEC) ซึ่งเป็นผู้สาธิตให้ผมเกิดความมั่นใจว่างานนี้ ”เราทำได้”
นอกจากจะตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีของสแกนเนอร์ ที่ถูกควบคุมให้สร้างเป็นรูปพระด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับการฉาย (project) ภาพขององค์พระขนาดใหญ่ไปปรากฏบนหน้าผาแล้ว ท่านอาจารย์พิเชษฐ์ยังได้แสดงพระพุทธรูปแกะสลักองค์เล็กๆ ด้วยแสงเลเซ่อร์ให้ชมเป็นขวัญตาอีกด้วย
เป็นการแกะสลักด้วยแสงเลเซ่อร์จริงๆ โดยใช้เลเซ่อร์ชนิด “CO2 Laser” (Carbon dioxide Laser) ซึ่งเป็นเลเซ่อร์แสงสีแดงที่มีอำนาจกัดทะลุทะลวงสูงที่ศัลยแพทย์ใช้ในการผ่าตัด ท่านอาจารย์บอกว่าหากจะใช้เลเซ่อร์ชนิดนี้แกะสลักเป็นรูปพระเลยนี่จะแกะได้องค์โตไม่เกิน 30 ซม.เท่านั้น
จะต่างกับเลเซ่อร์ที่จะใช้ขึ้นรูปพระขนาดใหญ่บนหน้าผาให้เรา อย่างนั้นต้องใช้เลเซ่อร์ชนิด “Argon Laser” เป็นเลเซ่อร์แสงสีเขียวที่พวกเราเห็นฉายส่องตามงานฉลองหรือในดิสโกเทคทั่วไป แต่เลเซ่อร์ชนิดนี้ทางบางมดไม่มี ท่านอาจารย์บอกว่าผมต้องไปหาซื้อ(นำเข้า)มาเอง แล้วเอามาประกอบใช้กับสแกนเนอร์ที่ทางดร.พงศ์พันธ์ได้ขึ้นรูปพระไว้ในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว
วันนั้น เราปิดท้ายการสนทนาเชิงปฏิบัติการด้วยการนัดหมายไปดูสถานที่จริง เพื่อจะกำหนดจุดที่ตั้งสถานีเลเซ่อร์ ณ บริเวณหน้าผาเขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี