ช่วงสองสามปีมานี้ เรามักจะได้ยินข่าวการพบวัตถุประหลาดในบ้านเราจากสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ส่วนมากแล้วจะคิดว่าเป็น อุกกาบาต จนบางครั้งก็แอบขำกับการให้ข้อมูลของสื่อที่มักจะรายงานตามกระแสข่าวมากกว่าการให้สาระเท็จจริง การด่วนสรุปโดยปราศจากการวินิจฉัยจากผู้เชียวชาญ และการเชื่ออย่างง่ายเกินไป มันบ่งบอกอะไร ในฐานะของผู้ยึดหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เราชาวนักธรณีวิทยาก็มีหน้าที่ช่วยตรวจสอบและอธิบายความเข้าใจให้แก่พวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ก่อนที่เราจะสรุปว่าวัตถุประหลาดนั้นคืออุกกาบาต อยากจะให้ลองอ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอุกกาบาตต่อไปนี้ที่เขียนโดยนักล่าอุกกาบาตผู้เชี่ยวชาญดูก่อน แล้วจะรู้จักอุกกาบาตมากขึ้น
อุกกาบาตคืออะไร?
อุกกาบาต (Meteorites) คือ ชิ้นส่วนของเหล็ก (irons) หิน (stones) หรือ ส่วนประกอบของหิน-เหล็ก (stony-iron) ที่ตกจากอวกาศผ่านบรรยากาศลงมาถึงพื้นโลก ส่วนใหญ่เชื่อว่าอุกกาบาตมาจากกลุ่มดาวพระเคราะห์น้อยที่โคจรระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์หรือดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ บางก้อนก็มาจากดวงจันทร์และดาวอังคาร มีส่วนน้อยที่มาจากเศษแตกหักของดาวหางวัตถุ อุกกาบาตอาจแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทหิน ประเภทเหล็ก ประเภทหิน-เหล็ก อุกกาบาตประเภทหินแบ่งย่อย เป็น 2 ชนิด คือ คอนไดร์ท (Chondrites) และ อคอนไดร์ท (Achondrites)
อุกกาบาตมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการศึกษาส่วนประกอบภายในโลก โดยตั้งอยู่บนสมติฐานที่ว่ามันเป็นชิ้นส่วนของดาวเคราะห์ที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับโลก
ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับอุกกาบาต
- อุกกาบาตดูดติดแม่เหล็ก เนื่องจากอุกกาบาตประกอบด้วยเหล็กในปริมาณที่สูง แม้ว่าจะเป็นอุกกาบาตที่ดูคล้ายหินก็ตาม มันจะตอบสนองต่อแม่เหล็กอย่างรุนแรง คล้ายๆ กับตะปูเหล็กถูกแม่เหล็กดูดเลยทีเดียว แต่มันไม่มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็กหรอกนะ แม่เหล็กที่นำมาทดสอบควรจะเป็นแม่เหล็กชนิดดีหน่อยนะครับ ไม่แนะนำแม่เหล็กติดกับตุ๊กตาที่ติดหน้าตู้เย็น อุกกาบาตที่มีปริมาณเหล็กน้อยมากๆ (น้อยกว่าหนึ่งส่วนพันของปริมาณสารประกอบทั้งหมด) อาจตอบสนองแม่เหล็กอย่างอ่อนๆ ซึ่งมักพบน้อยมากๆ นักสะสมอุกกาบาตมักไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ (ราคาไม่ดี) อุกกาบาตเหล่านี้มักดูคล้ายกับหินภูเขาไฟและดูไม่เหมือนโลหะซักเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าพบวัตถุลักษณะคล้ายโลหะแต่ไม่สอบสนองกับแม่เหล็กให้คิดไว้ก่อนว่ามันไม่ใช่อุกกาบาต
- อุกกาบาตค่อนข้างหนัก อุกกาบาตมีความหนาแน่นมากกว่าหินบนโลก สิ่งแรกที่มักพูดกันเมื่อถืออุกกาบาตคือ “โอ้! หนักแฮะ” น้ำหนักที่มากนี้ก็เนื่องจากปริมาณเหล็กที่สูง แม้กระทั้งอุกกาบาตประเภทหินก็ยังคงรู้สึกหนักกว่าหินส่วนใหญ่บนโลก
- อุกกาบาตไม่มีกัมมันตภาพรังสี ดูเหมือนว่าอุกกาบาตจะเดินทางในอวกาศมาหลายล้านปีก่อนที่จะตกมาถึงยังพื้นโลก ในระหว่างนั้นมันเหมือนจะถูกอาบด้วยรังสีต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความเป็นอันตรายหรือมีกัมมันตภาพรังสีเลย อุกกาบาตบางก้อน เช่นที่พบในอะริโซน่า สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยเพชรขนาดเล็กมาก (micro diamonds) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านอกจากจะตัดก้อนตัวอย่างดู ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าพบมรกต ทองคำ ซากดึกดำบรรพ์เอเลี่ยน แมลงจากดาวอังคาร หรือแร่ที่พบทั่วไปบนโลก เช่น แร่ควอตซ์ ในอุกกาบาต ดังนั้นถ้าเราพบวัตถุลักษณะคล้ายหินทั่วไปที่พบบนโลกสันนิษฐานได้ว่าอาจจะไม่ใช่อุกกาบาต เพราะอุกกาบาตมักจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากหินโดยทั่วไปรอบตัวมันไม่ว่าจะดูหรือสัมผัส
ภาพตัวอย่างอุกกาบาต (http://aerolite.org)
|
||
IRON METEORITE
อุกกาบาตประเภทเหล็ก จาก Arizona’s Meteor Crater. สังเกต คราบสนิมสีส้ม และดูดติดแม่เหล็ก |
OLD STONE METEORITE
อุกกาบาตประเภทหินค่อนข้างผุพัง จากทะเลทรายซาฮาร่า สังเกต ดูดติดแม่เหล็ก |
FRESH STONE METEORITE
อุกกาบาตประเภทหิน ตกในแอฟริกา เมื่อปี 1960. สังเกต fusion crust สีดำ และรอยบุ๋มขนาดใหญ่ |
ลักษณะเด่นของอุกกาบาต
- ดูดติดแม่เหล็ก อุกกาบาตทุกก้อนดูดติดแม่เหล็กได้อย่างง่ายดาย ถ้าใช้แม่เหล็กคุณภาพในการตรวจสอบ
- น้ำหนัก อุกกาบาตมีเนื้อแน่นทำให้รู้สึกหนักกว่าหินทั่วไปบนโลก
- เปลือกหลอม ปัจจุบันอุกกาบาตมักแสดงเปลือกหลอม (fusion crust) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเปลือกบางๆ สีดำ บางครั้งประกายเงาวับ บางครั้งประกายด้าน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ขณะอยู่ในชั้นบรรยากาศ อุกกาบาตประเภทหินที่ตกลงมาใหม่ๆ จะดูคล้ายกับถ่านหินอัดแน่น แม้ว่าอุกกาบาตประเภทหินที่ตกอยู่บนโลกมานานแสนนานแล้ว แต่ก็ยังคงแสดงเปลือกหลอมอยู่ และมักปรากฎเป็นสีเข้มกว่าหินโดยทั่วไป
- ลักษณะผิวภายนอก อุกกาบาตโดยเฉพาะประเภทเหล็กมักแสดงรอยยุบคล้ายรอยนิ้วมือ เนื่องจากผิวเกิดการหลอมในขณะเดินทางมายังโลก อุกกาบาตประเภทหินก็อาจแสดง ลักษณะนี้ด้วย แต่ไม่ชัดเจนเท่าประเภทเหล็ก นอกจากนี้อุกกาบาตประเภทเหล็กมักแสดงความแหลมคมหรือเป็นเหลี่ยมมุมแหลม หรือแสดงแนวการไหลที่เกิดจากการหลอม แต่ต้องดูให้ดี บางครั้งอาจเป็นหินภูเขาไฟก็ได้ ซึ่งมักจะแสดงหลุมหรือรูขนาดเล็กคล้ายกับเอาเข็มไปจิ้มๆ ทั่วทั้งก้อน หลุมเหล่านี้เรียกว่ารูพรุน ซึ่งเกิดจากการหลีกหนีของแก็สในขณะที่ลาวากำลังเย็นตัว อุกกาบาตจะไม่มีรูพรุน ถ้าเห็นวัตถุที่มีรูพรุนมันไม่ใช่อุกกาบาตแน่ๆ
ภาพตัวอย่างอุกกาบาต (http://aerolite.org)
|
||
ลักษณะผิวภายนอก
อุกกาบาตประเภทเหล็กที่ตกในรัสเซีย เมื่อปี 1947 แสดง regmaglypts ขนาดเล็กจำนวนมาก อุกกาบาตประเภทเหล็กที่สดใหม่จะมีลักษณะแบบนี้ |
ลักษณะผิวภายนอก
อุกกาบาตประเภทเหล็กที่อยู่บนโลกมาหลายศตวรรษแล้ว สังเกต จะมี regmaglypts และสนิมโดยทั่ว |
ลักษณะผิวภายนอก
อุกกาบาตประเภทเหล็กที่พบในทะเลทราย Nambian ตัวอย่างนี้อยู่บนโลกมาหลายศตวรรษเช่นกัน สังเกต ความเป็นเหลี่ยมคม regmaglypts ขนาดใหญ่ และคราบสนิมที่เกิดในสภาพแวดล้อมแบบทะเลทราย |
- เกล็ดโลหะ ส่วนมากอุกกาบาตประเภทหินมักแสดงเกล็ดโลหะ (metallic flakes) ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเศษชิ้นของเหล็กและนิเกิลจากนอกโลก เราสามารถสังเกตเห็นได้หลังจากตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หรือหลังจากกำจัดเหลี่ยมมุม แต่! เขาแนะนำมาว่าไม่ควรตัดทั้งก้อนนะ เพราะจะทำให้ขาดความสวยงาม (ราคาจะตก) ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัด
- คอนดรูล โครงสร้างทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลิเมตร เรียกว่า คอนดรูล (Chondrules) ซึ่งมักพบในอุกกาบาตประเภทหิน ดังนั้นชื่อของอุกกาบาตประเภทหินลักษณะแบบนี้จึงเรียกว่า คอนไดร์ท (chondrites) คอนไดรท์เป็นอุกกาบาตที่พบตกมาบนผิวโลกมากที่สุด
- สนิมหรือสนิมเขียว อุกกาบาตที่ตกมายังโลกนานแล้วมักจะมีสนิม หรือในกรณีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบแห้งแล้งทะเลทรายมักจะมีคราบสนิมเขียวที่เกิดจากการกระบวนการอ๊อกซิเดชั่น ซึ่งมักจะมีสีเหลือง/น้ำตาล แดง หรือส้ม
ภาพตัวอย่างอุกกาบาต (http://aerolite.org)
|
||
METAL FLAKES
อุกกาบาตประเภทหินส่วนใหญ่จะมีเกล็ดโลหะของเหล็กและนิกเกิลจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีน้ำหนักมาก |
CHONDRULES
อุกกาบาตประเภทหินส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบโครงสร้างเม็ดๆ ที่เรียกว่า คอนดรูล คอนไดร์ทคืออุกกาบาตที่พบมากที่สุด |
FLOWLINES
Flowlines (เกิดเนื่องจากการหลอม) และแสดง fusion crust มันๆ บน Australian Millbillillie stone meteorite ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวอย่างที่ไม่ดูดติดแม่เหล็ก |
การตรวจสอบ
- สำรวจด้วยตาเปล่า ถ้าได้อ่านข้อความข้างบนหมดแล้วก็จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับอุกกาบาตมากขึ้นทีนี้ลองมาพิจารณาดูดีๆ อีกทีซิว่า หินนั้นมีลักษณะพิเศษดังที่กล่าวไว้หรือไม่? หินนั้นมีความหนักมากมั้ย? หินนั้นมีรอยบุ๋ม หรือคราบสนิมเขียว หรือเปลือกหลอมหรือไม่? ลองเปรียบเทียบกับรูปภาพดูก่อนก็ได้
- ตรวจสอบโดยแม่เหล็ก ลองมาทบทวนอีกครั้งนะว่า อุกกาบาตจะดูดติดกับแม่เหล็ก (ที่มีคุณภาพ) ได้อย่างง่ายดาย ถ้าหินนั้นไม่ดูดติดกับแม่เหล็ก ก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าหินนั้นไม่ใช่อุกกาบาต แต่ก็น้อยมากๆ ที่เราจะพบอุกกาบาตที่ไม่ค่อยดูดติดแม่เหล็ก จำไว้ว่ามีหินมากมายในโลกที่ดูดติดแม่เหล็ก ดังนั้นถ้าตัวหินตัวอย่างของเราดูดติดแม่เหล็กก็ไม่ได้หมายความว่ามันคืออุกกาบาต แต่ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นอุกกาบาต
- ตรวจสอบสีผง แร่จำพวกเหล็กอ๊อกไซด์ เช่น แร่ฮีมาไทต์ (hematite) และ แร่แมกนีไทต์ (magnetite) ที่พบในหินบนโลกมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอุกกาบาตอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแร่เหล่านี้ค่อนข้างที่จะหนัก (แต่ไม่หนักเท่าอุกกาบาตประเภทเหล็ก) แสดงประกายแบบโลหะ และมักดูดติดแม่เหล็กด้วย ถ้าสงสัยว่าจะเป็นอุกกาบาตหรือไม่ เราสามารถทดสอบได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยนำตัวอย่างไปขูดกับกระเบื้องที่ไม่เคลือบ เช่น หลังแผ่นกระเบื้องห้องน้ำ หรือก้นแก้วกาแฟเซรามิก ก็ได้ ขูดขีดธรรมดาคล้ายกับเขียนชอล์คบนกระดาน ถ้าเกิดสีผง (streak color) ที่ติดกระเบื้องเป็นน้ำตาลแดงเข้ม หรือสีสนิม ตัวอย่างนั้นน่าจะเป็นฮีมาไทต์ ถ้าสีผงเป็นสีเทาเข้ม ตัวอย่างนั้นอาจจะแมกนีไทต์ ส่วนอุกกาบาตประเภทเหล็กนั้นโดยทั่วไปจะไม่ให้สีผง หรือมีเป็นรอยสีเทาจางๆ เท่านั้น
- ตรวจสอบนิกเกิล อุกกาบาตส่วนใหญ่ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิล หินบนโลกที่ตามธรรมชาติจะไม่มีนิกเกิล ดังนั้นถ้าตัวอย่างเราตรวจพบปริมาณนิกเกิลสูงก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นอุกกาบาต ซึ่งมีชุดตรวจสอบนิกเกิลเบื้องต้นขายตามอินเตอร์เน็ตหรืออาจนำเข้าห้องปฎิบัติการตรวจแร่ก็ได้
ภาพตัวอย่างหินที่คล้ายอุกกาบาต (http://aerolite.org)
ดูให้ดีก่อน หินธรรมดาเหล่านี้มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุกกาบาต |
||
NOT A METEORITE
หินภูเขาไฟ สังเกต รูพรุนที่เกิดจากการหลีกหนีของแก๊สขณะเย็นตัว อุกกาบาตจะไม่มีรูพรุน |
NOT A METEORITE
นี่คือฮีมาไทต์ ดูเหมือนโลหะ และแสดงการหลอมบริเวณผิวภายนอก แต่ไม่ดูดติดแม่เหล็ก |
NOT A METEORITE
หินภูเขาไฟ สังเกต รูขนาดเล็ก และมีเป็นเม็ดๆ ปรากฎทั่วไป ซึ่งอุกกาบาตจะไม่มีรูพรุน |
NOT A METEORITE
เนื้อผิวที่หยาบขรุขระของหินนี้ไม่บ่งบอกถึงความเป็นอุกกาบาตเลย ไม่ปรากฏลักษณะของ regmaglypts และ fusion crust แม้แต่น้อย |
NOT A METEORITE
นี่คือกรวดแม่น้ำ รอยเจาะรอยบากบนหินนี้เกิดจากกระบวนการโดยทางน้ำ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของ regmaglypts |
NOT A METEORITE
หินก้อนนี้ค่อนข้างหนักและดูเหมือนโลหะ แต่สังเกตให้ดีจะเห็นรูขนาดเล็กที่เกิดจากการหลีกหนีของแก๊ส ซึ่งอุกกาบาตไม่มีรูพรุน |
อุกกาบาตในประเทศไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง อุกกาบาต มหันตภัยจากนอกโลก