ดินถล่ม

by

ดินถล่มคืออะไร? ดินถล่มหรือโคลนถล่ม คือ การเคลื่อนที่ของมวลดินและหินลงมาตามลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลก และจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องในการ ทำให้มวลดินและหินเคลื่อนตัวด้วยเสมอ ดินถล่มมักเกิดตามมาหลังจากน้ำป่าไหลหลาก ในขณะที่เกิดพายุฝนตกหนักรุนแรงต่อเนื่อง หรือหลังการเกิดแผ่นดินไหว

กระบวนการเกิดดินถล่ม

  •  เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะซึมลงไปในดินอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ดินอุ้มน้ำจนอิ่มตัว แรงยึดเกาะระหว่างมวลดินจะลดลง  ระดับน้ำใต้ผิวดินสูงขึ้นจะทำให้แรงต้านทานการเลื่อนไหลของดินลดลง
  • เมื่อน้ำใต้ผิวดินมีระดับสูงก็จะไหลภายในช่องว่างของดิน ลงมาตามความชันของลาดเขา
  • เมื่อมีการเปลี่ยนความชัน ก็จะเกิดเป็นน้ำผุดและเป็นจุดแรกที่มีการเลื่อนไหลของดิน
  • เมื่อเกิดดินเลื่อนไหลแล้ว ก็จะเกิดต่อเนื่องขึ้นไปตามลาดเขา
รูปแบบการเกิดดินถล่ม ดัดแปลงจาก Geological Survey of Canada

 

รูปแบบของดินถล่ม

  1. หินแตกไหล
  2. ดินถล่มเนื่องจากการสร้างถนน
  3. ดินถล่มใต้น้ำ
  4. หินร่วง หรือหินหล่น
  5. เศษตะกอนไหลเลื่อนตามทางน้ำ
  6. หน้าผาผุกร่อน
  7. ตลิ่งพัง
  8. ดินถล่ม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดดินถล่ม

พื้นที่เป็นหินแข็งเนื้อแน่น แต่ผุง่าย มีชั้นดินสะสมตัวหนาบนภูเขา ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชัน ที่ลาดเชิงเขา หุบเขาและหน้าผา ป่าไม้ถูกทำลาย มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) และภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น พายุ แผ่นดินไหว และไฟป่า

 

ลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

ลักษณะของพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม มักเป็นพื้นที่ที่อยู่ตามลาดเชิงเขา หรือบริเวณที่ลุ่มที่ติดอยู่กับภูเขาสูงที่มีการพังทลายของดินสูง หรือสภาพพื้นที่ต้นน้ำที่มีการทำลายป่าไม้สูง นอกจากนั้นในบางพื้นที่อาจเป็นบริเวณภูเขาหรือหน้าผาที่เป็นหินผุพังง่าย ซึ่งมักก่อให้เกิดเป็นชั้นดินหนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่หินรองรับชั้นดินนั้นมีความเอียงเทสูง และเป็นชั้นหินที่ไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านได้สะดวก  ลักษณะดังกล่าวทั้งหมดพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีกำลังทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล  สำรวจเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยาและสภาพแวดล้อมของพื้นที่เบื้องต้น และรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่น พบว่าใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ  ซึ่งมีลักษณะพื้นที่เสี่ยงภัยต่อดินถล่มอยู่บริเวณลาดเชิงเขาและที่ลุ่มใกล้เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยต่อดินถล่มมาก เนื่องจากเมื่อมีพายุฝนตกหนักต่อเนื่องจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มตามมาได้  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน ดังนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงควรให้ความสนใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ

ข้อมูลกรมทรัพยากรธรณี ปี 2547

 

ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

  • อยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย
  • มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา
  • มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา
  • อยู่บนเนินหน้าหุบเขาและเคยมีโคลนถล่มมาบ้าง
  • ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย
  • มีกองหิน เนินทรายปนโคลนและต้นไม้ ในห้วยใกล้หมู่บ้าน
  • พื้นห้วยจะมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่อยู่ปนกันตลอดท้องน้ำ

ข้อสังเกตหรือสิ่งบอกเหตุ

  • มีฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน)
  • ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา
  • มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย
  • น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

บันทึกเหตุการณ์ดินถล่มในประเทศไทย

ที่มา: http://www.dmr.go.th/geohazard/update_landslide/landslide_record.htm