เรื่องเล่าแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ประเทศเนปาล

by

ณัฐพล สุขใจ (บอม) นักธรณีวิทยาจากจังหวัดเชียงราย เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศเนปาล และพบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้ว่าเขาจะเคยมีประสบการณ์จากเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงรายมาแล้ว แต่แผ่นดินไหวที่เนปาลก็ทำให้บอมได้ประสบการณ์ใหม่ ซึ่งได้ถ่ายทอดให้ GeoThai.net ฟังดังนี้

ก่อนออกเดินทาง

ทริปนี้เกิดขึ้นจุดประสงค์ก็ไม่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวแนวชื่นชอบเดินป่าชมธรรมชาติรายอื่นๆ ครับ ที่อยากจะไปสัมผัสธรรมชาติและความสวยงามของภูมิประเทศที่มีลักษณ์โดดเด่นติดอันดับต้นๆ ของโลก ท้าทายนักท่องเที่ยวให้ไปสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง นอกเหนือจากที่ได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ หรือเรื่องราวของคนที่เคยไปเที่ยวเล่าให้ฟัง

ผมและเพื่อนชาวไทย 1 คน และอเมริกันอีก 2 คน ใช้เวลาพูดคุยล่วงหน้าถึง 4 เดือนเกี่ยวกับช่วงเวลาการเดินทาง ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะไปเดินป่าปีนเขาที่ประเทศเนปาล ใช้เวลาในประเทศเนปาลทั้งหมด 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 -28 เมษายน 2558

เราเลือกเดินเส้นทางไปยัง Annapurna Base Camp หรือเรียกกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า ABC เพื่อเดินทางไปชมความงามของแนวเขา Annapurna South ที่มีหิมะปกคลุมส่วนยอดตลอดทั้งปี เส้นทางนี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่ เพราะเส้นทางไม่ลำบากจนเกินไปและมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดสองข้างทาง มีที่พักและร้านอาหารบริการตลอดการเดินทาง

Bom-Nepal07

 

จุดเริ่มต้น และการหายไปของสมาชิก

จุดที่เริ่มออกเดินป่าขึ้นเขาไป ABC นี้ เริ่มต้นที่เมือง Pokhara ที่อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้ทั้งทางเครื่องบิน และรถประจำทาง และจากเมือง Pokhara ต้องนั่งรถไปยังจุดเริ่มเดินอีกประมาณ 50 กิโลเมตร

การเริ่มต้นของทริปจึงเริ่มขึ้น เราวางแผนสำหรับทริปนี้ 13 วัน นับจากวันที่ 14-26 เมษายน ถือว่าใช้เวลามากกว่าปกติเพราะเราต้องการไปเนินที่มีชื่อว่า Poon Hill เพื่อชมแนวเขา Annapurna South จากระยะไกลด้วย และเพียงวันแรกของการเดินสมาชิกก็หายไป 1 คน จากอาการอาหารเป็นพิษและโรคประจำตัว จำเป็นต้องเดินทางกลับไปรักษาอาการที่ไทยก่อนถือเป็นโชคร้ายของเขา แต่หลังจากแผ่นดินไหวมีแซวกันว่า กลายเป็นโชคดีที่กลับก่อน

 

Earthquake!!

ตอนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 เราลงจาก Annapurna Base Camp แล้ว ตรงนั้นมีผมและเพื่อนอีก 2 คน ลูกหาบวัยรุ่น 2 คน และชาวต่างชาติอีกกลุ่มเล็กๆ ที่ลงมาจาก Annapurna Base camp ด้วยกัน ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบเที่ยงวันทุกคนกำลังรอทานมื้อเที่ยงเพื่อเดินทางต่อไปยังเมือง Pokhara ซึ่งอยู่ข้างล่าง หลังคาก็เริ่มสั่นแบบกระเพื่อมขึ้นลง ผมมองหน้าหนึ่งในชาวต่างชาติกลุ่มนั้นแล้วบอกว่า Earthquake! จากนั้นก็มองหลังคาพร้อมกันอีกรอบ ผมก็บอก Earthquake! อีกรอบ ทุกคนก็ยังนิ่ง ได้แต่นั่งมองหลังคากัน จากประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เชียงรายขนาด 6.3 เมื่อปีก่อนยังจำได้แม่น มันสั่นขึ้นลงแบบนี้เลย จากนั้นแผ่นดินไหวแบบโยกแรงๆ ซ้ายขวาจึงตามมา

พอตั้งสติได้จึงวิ่งออกมาก่อน เพราะอีกสักพักมันต้องไหวแรงแน่นอนไม่ต้องนั่งรอแล้ว หลังจากนั้นไม่นานทุกคนในร้านก็วิ่งตามออกมาทั้งหมด เพราะแผ่นดินไหวมันแรงจนทุกคนในร้านเริ่มรู้สึกว่าในร้านไม่ปลอดภัย สั่นอยู่เป็นนาที ทุกคนมองไปยังทิศทางที่คลื่นแผ่นดินไหวเคลื่อนที่มากันอย่างอัตโนมัติ เห็นบ้านตามเชิงเขาพังต่อหน้าต่อตา เสียงผู้หญิงกรีดร้อง เด็กเล็กร้องไห้ระงมตามมา

 

การสื่อสารล่ม

ผมรู้สึกได้เลยว่ามันเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไม่ปกติเป็นอย่างมาก แต่ไม่รู้จะเช็คข้อมูลยืนยันได้จากที่ไหนได้แต่บอกคนทุกคนว่าให้ระวังอาฟเตอร์ช๊อค ลูกหาบก็พยายามโทรติดต่อญาติที่ กาฐมาณฑุ แต่การสื่อสารล่มเป็นชั่วโมง จนกระทั่งการสื่อสารกลับมาใช้งานได้ทุกคนจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

เย็นวันนั้นนักท่องเที่ยวที่กำลังจะขึ้นเขาและลงเขาต่างจับกลุ่มคุยกันแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกคนเป็นกังวลเพราะติดต่อโลกภายนอกไม่ได้เลย พอเขารู้ว่าผมเป็นนักธรณีก็ถามข้อสงสัยว่าควรทำตัวอย่างไรกันหลายคน ในกรณีกำลังขึ้นเขาหรือลงเขา ก็ต้องตอบเขาว่าไม่ต้องกังวล มีวิธีป้องกันอย่างโน้นอย่างนี้ ตอบแบบกลางๆ ไป ความจริงแล้วผมก็กังวลพอๆ กัน แต่เราก็ต้องทำให้พวกเขามั่นใจคลายความกังวลให้ได้เสียก่อน

 

อาฟเตอร์ช๊อค กับข่าวลือ

หลังจากแผ่นดินไหว 48 ชั่วโมงแรกอาฟเตอร์ช๊อคขนาดคนรู้สึกได้มีมาถี่มาก สลับกับอาฟเตอร์ช๊อค ขนาด 5-6 กว่าๆ มีวันละครั้งหรือสองครั้งให้ผู้คนตกใจวิ่งหนีออกจากอาคารบ้านเรือน บางคนตกใจกลัวกำลังทานอาหารอยู่ในร้านพอมีอาฟเตอร์ช๊อคก็วิ่งหนีออกจากร้านไม่จ่ายเงินก็มีมาก

ข่าวลือเรื่องการเตือนแผ่นดินไหวจะเกิดอีกในหนึ่งชั่วโมงหรือสองชั่วโมงมีมาเป็นระยะๆ ส่วนตอนกลางคืนก็นอนไม่หลับกัน มีนักท่องเที่ยวบางส่วนเลือกที่จะนอนเต๊นกลางสนาม ส่วนผมและเพื่อนเลือกที่จะพักในโรงแรม เตรียมไฟฉาย อาหาร น้ำดื่ม ไว้สำรองกรณีฉุกเฉิน ทริปนี้โชคดีที่เราปลอดภัยกันทุกคน

เนื่องจากวันเกิดเหตุเป็นวันรองสุดท้ายแล้วจึงไม่มีผลกระทบต่อทริปบนเขาเลย จะมีก็เพียงวันที่ 27 เมษา ที่ตามแผนคือ ตอนกลางวันจะไปเก็บภาพในกาฐมานฑุก็ต้องยกเลิกไป และช่วงกลางคืนนั้นเดิมทางเอเจนซี่นัดหมายจะมีการเลี้ยงฉลองให้เราก่อนกลับไทย แต่ด้วยภาวะที่ไม่ปกติของบ้านเมืองเขาและทุกคนที่นั่นต้องกลับไปดูแลครอบครัว จึงต้องยกเลิกงานเลี้ยงไปโดยปริยาย

 

จาก Pokhara สู่กาฐมาณฑุ

เราเดินลงจากภูเขาเข้าเมือง Pokhara ในช่วงก่อนเที่ยง พอมีสัญญาณอินเตอร์เนต ก็มีหลายท่านที่เป็นห่วงถามถึงความปลอดภัยของผม พอตอบกลับจนทุกคนรับรู้และสบายใจ จึงออกไปหาข้าวเที่ยงทาน ระหว่างนั้นก็มีอาฟเตอร์ช๊อค ขนาด 6 กว่าๆ ผู้คนแตกตื่นออกมาอยู่บนถนนกันหมด ที่เมืองนี้ทุกอย่างปกติ แค่นักท่องเที่ยวดูบางตาลงเท่านั่นเอง

Bom-Nepal01

ผลกระทบที่เริ่มเกิดขึ้นกับกลุ่มของพวกเราเริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ที่สนามบิน Pokhara เพราะตามแผนเครื่องบินจะต้องมารับช่วงสาย และใช้เวลาบิน 30 นาทีก็จะถึงสนามบินตรีภูวัน แต่ไฟล์ทต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะเครื่องบินที่จะบินมารับยังไม่สามารถขึ้นบินได้เนื่องจากความแออัดของสนามบินตรีภูวัน ซึ่งในภาวะปกติกว่าเครื่องของการบินไทยจะลงจอดได้ก็ต้องบินวนรอคิวนับสิบรอบ ยิ่งเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สนามบินแห่งนี้ยิ่งคับคั่งด้วยสายการบินจากนานาชาติที่นำเครื่องบินมารับคนของประเทศตนกลับ และเครื่องบินของกองกำลังทหารจากนานาประเทศที่ส่งสิ่งของบรรเทาทุกและขนส่งทีมช่วยเหลือกู้ชีพ

เราตัดสินใจที่จะรอเครื่องบินกัน ไม่เลือกใช้บริการรถยนต์เข้ากาฐมาณฑุเนื่องจากระหว่างทางเป็นจุด epicenter พอดี และมีความเสียหายจากดินถล่มและถนนพังตลอดทาง จนกระทั่งเครื่องบินมารับเราช่วง 5 โมงเย็นเราจึงได้กลับเข้าตัวเมืองกาฐมาณฑุ ระหว่างทางกลับมองลงไปข้างล่างเห็นเต๊นของผู้ประสบภัยกางอยู่เต็มไปหมด ยิ่งเข้าใกล้เมืองหลวงที่มีคนอยู่หนาแน่นตามพื้นที่โล่งเต็มไปด้วยเต๊น

 

กาฐมาณฑุที่เปลี่ยนไป

นอกจากนั้นที่สลดหดหู่คือ ในตัวเมืองปกคลุมด้วยควันไฟที่เกิดจากการเผาศพของผู้ประสบภัย ซึ่งตามความเชื่อของชาวฮินดูที่นี่ต้องเผาภายในวันที่เสียชีวิตริมฝั่งแม่น้ำบัคมาตีซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยที่วัด Pashupatinath จากเครื่องบินสามารถเห็นควันไฟตามแนวตลอดสองฝั่งแม่น้ำล้นพื้นที่ของวัดออกมา พอออกจากสนามบินเพื่อหาที่พักเตรียมตัวกลับไทย

วันรุ่งขึ้นผมเห็นที่นั่นแตกต่างจากตอนที่เรามาครั้งแรก ค่าแท็กซี่แพงขึ้นเกือบเท่าตัว น้ำดื่มราคาแพงและไม่มีขายซึ่งเราพอคาดการณ์ออกจึงเตรียมน้ำและอาหารแห้งจากเมือง Pokhara เตรียมมาเรียบร้อย ระหว่างทางเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง

Bom-Nepal02

ภาพผู้คนออกมานอนกางเต๊น รอน้ำ และอาหารจากทางการ สภาพน่าสงสารมาก แท็กซี่ก็เหมือนจะรู้ พาพวกเราดูสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายอยู่พักใหญ่จึงไปส่งพวกเราย่าน Thamel ซึ่งก็คล้ายๆ ถนนข้าวสารบ้านเรา ช่วงก่อนแผ่นดินไหวย่านนี้คึกคักมีสีสันมาก แต่เมื่อกลับมาอีกครั้งร้านค้าโรงแรมปิดหมด นักท่องเที่ยวที่เหลือก็เป็นพวกที่มาถึงเนปาลใหม่ๆ ยังไม่มีที่พัก หรือไม่ก็กำลังเตรียมขึ้นเขาแต่ต้องมาหยุดชะงักไปเสียก่อน

พวกเราเดินเกือบครึ่งชั่วโมงจึงหาที่พักเจอ โรมแรมนี้ใช้เครื่องปั่นไฟ ไม่มีน้ำอุ่นและแอร์ ราคา 60 ดอลล่าห์ก็ต้องยอม เย็นนั้นเราออกเดินสำรวจแถวที่พัก เราพบว่าในกาฐมานฑุ ไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า แม้กระทั่งสัณญาณมือถือหรืออินเตอร์เน็ต การติดต่อกันทำได้ยากมาก ร้านอาหารก็หายาก เย็นนั้นพวกเรา 3 คนจึงได้อาหารจากร้านอาหารที่เหลือร้านเดียวในย่านนี้ นั่นคือ ข้าวผัด ซึ่งแทบจะไม่มีอะไรผสมเลย เอาข้าวมาผัดของจริงในราคาจานละประมาณ 200 บาท และดื่มน้ำที่พกไปกันเองตั้งแต่ตอนอยู่ Pokhara

คืนนั้นเราเก็บตัวดูข่าวกันแต่ในห้อง ทุกช่องมีแต่ภาพความเสียหายถ่ายซ้ำไปมา ก่อนนอนก็มีอาฟเตอร์ช๊อคขนาด 4.2 มาทักทาย 1 ครั้ง เอาเข้าจริงๆ คืนนั้นก็ยังนอนไม่หลับอยู่ดี

Bom-Nepal06

 

สนามบินที่แออัด

รุ่งเช้าเก็บของออกเดินทางไปถึงสนามบิน คนเยอะมากนอนกางเต๊นหน้าสนามบินเต็มไปหมด ทั้งชาวต่างชาติ และชาวเนปาลที่มารอซื้อตั๋วบินออกนอกเมือง ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ฟากสายการบินภายในประเทศคนล้นทะลักออกมาทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ รอซื้อตั๋วกัน ส่วนทางฟากระหว่างประเทศคนเยอะก็จริง แต่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่า ถึงจะทุลักทุเลแต่ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

Bom-Nepal03

ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี ระหว่างรอเครื่องบินซึ่งการบินไทย TG 320 กว่าเอาเครื่องลงได้ก็เกือบสามชั่วโมงเราอยู่ในสนามบินกันอย่างแออัด เพราะทุกไฟล์ท ทุกสายการบินมาช้าหมด เพราะสนามบินแออัดมาก จึงสังเกตการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากนานาชาติ รวมทั้งไทยที่ส่งเครื่อง C130 มาด้วย จนได้เวลาขึ้นเครื่องและเดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

Bom-Nepal04

 

แผ่นดินไหว 6.3 เชียงราย กับแผ่นดินไหว 7.8 เนปาล

ความรุนแรงของการสั่นสะเทือนต่างกันมาก ทั้งระยะเวลาในการสั่นและความรุนแรง ขนาด 7.8 การสั่นใช้เวลาเกินนาที และความรุนแรงทำให้รู้สึกว่าแผ่นดินที่เคยรู้สึกว่ามั่นคง ไม่มีความเสถียรเอาเสียเลย พร้อมที่จะถล่มลงไปกองในหุบเขาได้ทุกเมื่อ ยิ่งตอนนั้นยืนอยู่บนเชิงเขา เหมือนยืนอยู่บนแพยางบนผิวน้ำทั้งๆ ทียืนอยู่บนชั้นหินแข็ง

การใช้ชีวิตหลังจากนั้นก็ยากลำบากเนื่องจากสาธารณูปโภคพื้นฐานใช้การไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นอัมพาตเกือบทั้งประเทศ

ส่วนแผ่นดินไหว 6.3 ที่เชียงราย ตอนนั้นอยู่ห่างจาก epicenter ประมาณ 30 กิโลเมตร รู้สึกถึงแรงสั้นสะเทือนได้ชัดเจน แต่ใช้เวลาในการสั่นน้อยกว่า ยังรู้สึกว่าตำแหน่งที่ยืนนั้นมั่นคงกว่า

ครั้งนั้นการใช้ชีวิตหลังจากแผ่นดินไหว ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วมาก ความเสียหายเกิดในวงจำกัด สามารถตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพแต่อาจจะเป็นเพราะแผ่นดินไหวขนาดเล็กกว่าก็ได้จึงจัดการดูแลได้ดีกว่าตามไปด้วย แต่โดยส่วนตัวคิดว่าหากเกิดที่เชียงรายขนาด 7.8 เท่ากันความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของเราคงน้อยกว่าเพราะโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างของเรามีมาตรฐานกว่า

ส่วนเรื่องการเยียวยาฟื้นฟูจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะขนาด 7.8 หรือ 6.3 ต่างก็ต้องการการเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจและคงใช้เวลาในการรักษาไม่แตกต่างกัน

 

กำลังใจสำคัญ

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับโลกและอยู่คู่กับเราดังนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างปลอดภัย ถึงแม้อาจจะป้องกันภัยไม่ได้ทั้งหมด แต่การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในขณะที่เรามีความสามารถในการป้องกันได้นั้น เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อลดการสูญเสีย

ส่วนสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พึงกระทำหลังจากเกิดแผ่นดินไหว นอกจากข้อมูลอธิบายการเกิดแผ่นดินไหว และความช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสิ่งนั้น คือการปลอบใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และรับฟังปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ

การให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งอาจจะเป็นคำแนะนำที่จริงหรือไม่จริงก็ตาม แม้เราจะรู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ แต่ถ้าทำให้คนเหล่านั้นมีกำลังใจ ทำให้เข้มแข็งพร้อมสู้ทุกปัญหา ในจังหวะนั้นหากเราเข้าใจปัญหาได้ดีกว่า ต้องเป็นที่พึ่งให้คนอื่นให้ได้ครับ หลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริงก็ต้องปล่อยให้เป็นไป

สำหรับผมถึงอย่างไรแล้วธรรมชาติยังคงสวยงามเสมอ เนปาลและเทือกเขาหิมาลัยก็เช่นกันในวันนี้อาจจะยังไม่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ต้องใช้เวลาฟื้นฟูสักพักใหญ่เพื่อที่จะพร้อมกลับมาต้อนรับผู้คนที่จะกลับมาค้นหาและท้าทายความสามารถของตนเอง เมื่อถึงเวลานั้น ผมขอเชิญชวนครับ ออกไปผจญภัยสร้างประสบการณ์ให้ชีวิตยังสถานที่ต่างๆ ที่แต่ละท่านมีความหวังอยากจะไป แล้วจะได้ประสบการณ์หลายอย่างที่ไม่ได้คาดหวังจากทริปแน่นอนครับ ผมรับประกัน – บอม ณัฐพล สุขใจ