“เธอเจาะได้ ฉันเจาะด้วย” คือชื่อบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ คำว่า “เธอเจาะได้” นั้นหมายถึง การเจาะอุโมงค์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ส่วน“ฉันเจาะด้วย” ที่จะเล่า “เบื้องหลัง” นั้น เป็นการเจาะอุโมงค์ของโครงการผันน้ำคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นโครงการสร้างระบบผันน้ำผ่านอุโมงค์ยักษ์แห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ในสมัยของท่านผู้ว่าฯ ดร.พิจิตต รัตตกุล ตามแนว (ใต้) ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ทั้งนี้อุโมงค์ของทั้งสองโครงการนี้เริ่มเจาะในเวลาไล่เลี่ยกัน และด้วยวิธีการที่เหมือนกัน เพียงต่างกันที่ขนาดของหัวเจาะหรืออุโมงค์เท่านั้น
ผู้เขียนต้องขอเรียนไว้ก่อนว่าในเนื้อหาอาจจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจาก “เบื้องหลัง” ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการบันทึก ไว้ หากผิดพลาดหรือหลงลืมประการใด ขออภัยไว้ ณ ที่นี้
1. ท้าทายไม่ทันเริ่ม
การที่จะทำงานชิ้นนี้ของกทม.ได้ บริษัทที่ผู้เขียนสังกัด (ขณะนั้น) คือ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บลาสเตอร์ จำกัด (International Blaster Co.,Ltd.) ที่มีท่านชวลิต ถนอมถิ่น นักธรณีวิทยา เป็นกรรมการผู้จัดการ และตัวผู้เขียนเองเป็นรองกรรมการผู้จัดการ จำเป็นต้องจับมือทำ Joint Venture กับบริษัทวูบวาบ เอ๊ย! วูวาบาว (Wuwa Bau GmbH) จากเมืองนูเร็มเบิร์ก (Nuremberg) ประเทศเยอรมัน เพื่อเอาผลงานเจาะอุโมงค์ของเขามาใช้ประกอบการยื่นซองประมูลงานแข่งขัน และท้ายสุดเราก็ชนะได้งานมาในวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง หรือ 1,345 วัน
พอได้งานก็คิดการใหญ่ หมายจะให้เป็น “Record” ระดับภูมิภาค คือวางแผนจะเจาะอุโมงค์ของโครงการนี้ด้วยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) ท่านที่รู้จักวิธีนี้ดีอาจจะสงสัยก็ไม่เห็นจะตื่นเต้นน่า “Record” ตรงไหน ใช่ครับ ถ้าเป็นการดันท่อขนาดเล็กธรรมดาๆ ไม่เกิน 2 เมตร หรือดันกันเป็นแนวตรงช่วงสั้นๆ 100-200 เมตร ก็จะไม่แปลกแต่อย่างใด มีการทำกันทั่วประเทศโดยเฉพาะในกทม. แต่กรณีที่เราจะทำและถ้าทำได้นั้น นอกจากจะเป็นการเจาะอุโมงค์ด้วยวิธีการดันท่อขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อไม่น้อยกว่า 3.5 เมตรแล้ว ยังจะดันเป็นแนวโค้งตามแนวที่กทม.ได้ออกแบบไว้ ในระยะทางแต่ละช่วงยาวสุดถึงเกือบ 1 กิโลเมตรอีกด้วย ก็จะเป็น “Record” ที่ทั้ง “ใหญ่ ยาว และโค้ง” ของในภูมิภาคนี้ในขณะนั้น หรือแม้แต่ในขณะนี้ที่ผ่านมากว่า 20 ปี ดูเหมือนจะยังไม่มีใครทำ “Record” นี้เลย (หรือเปล่า)
คิดได้ดังนั้นก็พากันยกทีมใหญ่ นำโดยท่านญาณเดช ทองสิมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยนั้น) และคณะที่รับเทียบเชิญไปดูงานของพาร์ทเนอร์เราคือบริษัทวูวาบาว ณ เมืองนูเร็มเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี ที่กำลังเจาะกันอยู่ด้วยวิธีดันท่อขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้ทางกทม.มั่นใจว่าทีมเราสามารถที่จะเจาะอุโมงค์ให้กับทางกทม.ได้ไม่ไก่กา ซึ่งทางคณะของท่านรองผู้ว่าฯ ก็พอใจอนุมัติให้ใช้วิธีนี้ได้
2. กลับหลังหัน
แต่แล้วก็เหมือนโดนฟ้าผ่า ด้วยว่ารัฐบาลท่านบิ๊กจิ๊วได้ลอยละลิ่วค่าเงินบาท พวกเราต่างก็โดนพิษ “ต้มยำกุ้ง” ฟาดแทบต้องจอด ไม่สามารถสร้าง “Record” ให้กับเมืองไทยด้วยวิธีดันท่อดังว่าได้ เพราะสู้งบการลงทุนไม่ไหว ต้องทำใจหันหลังกลับมานับหนึ่งกันใหม่ จำต้องใช้วิธี “Segmental Lining” (ชมคลิปด้านล่าง) ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่รถไฟฟ้าใต้ดินใช้อยู่และกำลังจะเริ่มเจาะเหมือนกัน แม้ทั้งสองวิธีจะใช้หัวเจาะชนิดเดียวกันคือ หัวเจาะอุโมงค์แบบแรงดันสมดุลย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่าหัวเจาะ “EPB” (Earth Pressure Balance Shield) แต่ชุดหางเครื่องของแบบวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) จะแพงกว่า วิธี “Segmental Lining” มากอยู่ โดยเฉพาะค่าแม่แรงยักษ์ (Hydraulic Jack)
3. เริ่มกันใหม่
เมื่อแผนที่วางไว้ไม่สามารถจะกระทำได้ดั่งใจ ต้องรีบกลับไปเปลี่ยนวิธีเจาะอุโมงค์เป็นแบบ Segmental Lining ซึ่งขณะนั้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็กำลังเตรียมการกับวิธีนี้อยู่เหมือนกัน แต่ล้ำหน้าเราไปแล้วพอควร ไม่ว่าจะเป็นเตรียมการหล่อผนังอุโมงค์คอนกรีต (concrete segments) และการเตรียมหัวเจาะ (EPB Shield) ที่ไม่มีวางขาย แต่ต้องสั่งซื้อแบบวัดตัวตัด (tailor-made) ตามสภาพธรณีวิทยาและขนาดของอุโมงค์ ทางเราเลยต้องใช้สูตร “เธอเจาะได้ ฉันเจาะด้วย เธอไปไหน ฉันไปด้วย” โดยเอาแบบหล่อผนังอุโมงค์คอนกรีตของอุโมงค์รถไฟฟ้ามาย่อส่วนลงประมาณ 2 เมตรและไปจ้างโรงหล่อแถวหนองมน จ.ชลบุรี ทำการหล่อให้ จากเดิมผนังอุโมงค์ของวิธีดันท่อจะเป็น “ท่อ” คอนกรีตสำเร็จรูป (concrete pipe) ตามรูปที่ 3 ก็ต้องกลายมาเป็นชิ้นเล็กย่อยๆตามรูปที่ 5 ที่จะต้องลำเลียงลงไปทีละชิ้นๆ เพื่อประกอบเป็น “วง” ผนังอุโมงค์ทีละวงๆ ที่ท้ายหัวเจาะข้างล่างใต้ดิน
ส่วนการช้อปปิ้งหัวเจาะก็นับว่าเป็นโชคดีที่ Mitsubishi อกหักรักกลับกลายไม่ได้งานขายให้กับโครงการรถไฟฟ้าฯ ที่ต่างวิ่งซื้อหาแต่หัวเจาะ Kawasaki มาใช้ (ดูเหมือนจะขายได้ถึง 6 หัว) Mitsubishi จึงไม่กล้าขายเราแพงเพราะไม่อยากอกหักซ้ำสองเลยต้องหั่นราคาสู้ รู้สึกว่าถ้าจำไม่ผิดราคาค่าตัวหัวเจาะรวมหางเครื่อง (ขบวนอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ท้ายหัวเจาะ) จะมีราคาร่วมๆ ร้อยล้านบาท และการสั่งซื้อหัวเจาะแบบวัดตัวตัด (tailor-made) นี้จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนรวมการขนส่งทางเรือ
เนื่องจากทางเราไม่มีประสบกาณ์กับการเจาะอุโมงค์ด้วยวิธี “Segmental Lining” นี้เลย จึงได้ขอร้องกับทาง Mitsubishi ให้ช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้เราด้วย (นอกเหนือจากผู้เชี่ยวชาญของ Mitsubishi เองที่จะต้องจัดให้เราตามสัญญาซื้อ-ขายหัวเจาะแต่จะมาเป็นที่ปรึกษาในระยะสั้นๆ ให้กับเราตอนเริ่มต้นเท่านั้น)
4. สงสารเด็กเสิร์ฟ
หลังจากพากันเดินสำรวจตลอดแนวอุโมงค์ พอดีได้เวลาอาหารเที่ยงผมกับท่านชวลิต ถนอมถิ่นจึงชวนคุณไกเซ่อร์ (Mr.Kaizer) เจ้าของวูวาบาว และคุณ “แก๊งค์หมาป่า” โวล์ฟกัง (Mr.Wolfgang) ผู้เชี่ยวชาญการเจาะอุโมงค์ชาวเยอรมันมานั่งทานข้าวเที่ยง คุยไปทานไปพร้อมดูลาดเลาเสาคานเพื่อวางแผนรื้อร้านเขาไปด้วย เพราะ ณ ตรงร้านยกยอสาขาท่าเรือบางโพที่พวกเรากำลังนั่งทานข้าวอยู่นี้ เป็นตำแหน่งที่จะต้องก่อสร้างเป็นบ่อติดตั้งหัวเจาะ (Launch Shaft) ซึ่งการเจาะอุโมงค์จะเริ่มจากตรงนี้ น้องๆ เด็กเสิร์ฟคงไม่รู้หรอกว่าลูกค้าไทยปนฝรั่งที่นั่งโต๊ะกลางร้านนั้น กำลังนั่งวางแผนที่จะทำให้พวกเขาตกงานในเร็วๆ นี้
จากนั้นไม่นาน ร้านอาหารยกยอที่พวกเราเพิ่งนั่งทานข้าวนี้ก็ถูกรื้อย้ายออกไป กลายสภาพเป็นพื้นที่เตียนโล่งเพื่อเริ่มงานก่อสร้างบ่อติดตั้งหัวเจาะ (Launch Shaft) ด้วยวิธี “Secant Pile Wall” ที่เสร็จทันพอดีกับที่หัวเจาะลงเรือจากญี่ปุ่นมาเทียบท่าแหลมฉบัง แล้วนั่งรถเทรเล่อร์มาหย่อนลงบ่อติดตั้งตามรูปที่ได้เรียงลำดับไว้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายอะไรมากตามรูปที่ 8-10
5. ได้ฤกษ์เริ่มเจาะ
กว่าเราจะพร้อมเริ่มเจาะได้ ทางรถไฟใต้ดินสายแรกของไทยก็ได้เจาะล่วงหน้าแซงไปแล้วหลายช่วงตัว หัวเจาะของเราหรือไม่ว่าของใครก็(อยาก)จะติดตั้งเตรียมเจาะที่ระดับความลึกประมาณ 15-20 เมตร เพราะเป็นชั้นของชั้นดินเหนียวแข็ง (Stiff Clay) ที่มีความมั่นคงปลอดภัยในการเจาะมากที่สุด ถ้าตื้นหรือเหนือชั้นนี้ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นชั้นดินอ่อน (Soft Clay) มีลักษณะเป็นขี้เลนเหลวราวยาสีฟัน ที่คุณไกเซ่อร์กำชับว่าอย่าเจาะในชั้นนี้เด็ดขาดนะ เดี๋ยวหัวเจาะมันจะ “สวิม (swim) ว่ายน้ำ” เอาได้ ทีนี้ปัญหาใหญ่เลยล่ะ!! ถ้าต่ำลงไปใต้ชั้นนี้ก็จะมีชั้นทรายอิ่มตัวด้วยน้ำ (Saturated Sand) รอท่าอยู่ ก็ไม่น่าเจาะเพราะอาจจะเจอกับปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในอุโมงค์ได้ ดังนั้น “ชั้นดินเหนียวแข็ง” ในระดับความลึกประมาณ 15-25 เมตร จึงเปรียบเสมือนสาวน้อยทรงเสน่ห์ที่ใครๆก็หมายปอง จองที่จะเจาะก็เพราะมีความมั่นคงปลอดภัยสูงกว่าชั้นอื่นๆ นั่นแล
การเจาะช่วงแรกๆ จะช้า เพราะนอกจากหลายอย่างยังไม่เข้ามือแล้วยังจะต้องทยอยขนขบวนหางเครื่องลงไปติดตั้งที่ละอย่างๆ กว่าจะครบ แต่เมื่อเข้าที่แล้วอัตราการเจาะต่อวันจะได้ไม่ต่ำกว่ายี่สิบกว่าเมตร (ประมาณ 20 วงๆละ 1.20 เมตร) หรือประมาณมากกว่า 600 เมตร/เดือน แต่ถัวเฉลี่ยหักลบ กลบปัญหาและอุปสรรคโน่นนี่แล้ว ตัวเลขที่จะใช้คิดราคาประมูลงานจะตกประมาณ 500 เมตร/เดือน (สมัยนั้น สมัยนี้น่าจะได้มากขึ้น)
เนื่องจากอุโมงค์ (ผันน้ำจาก) คลองเปรมประชากร (ลงมาน้ำสู่เจ้าพระยา) นี้ เป็นโครงการก่อสร้าง “อุโมงค์ยักษ์” ระบายน้ำแห่งแรกของกทม. ทางท่านผู้ว่าฯ ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและได้มาตรวจเยี่ยมที่หน้างานอยู่เนืองๆ ตั้งแต่เริ่มต้นตัดริบบิ้นจนกระทั่งหัวเจาะทะลุถึงจุดหมายปลายทาง
6. แถวนี้เจ้าที่แรง
จากบ่อติดตั้งหัวเจาะ (Launch Shaft) ใกล้ๆท่าน้ำ/ท่าเรือบางโพ หัวเจาะจะถูกขับให้วิ่งไปตาม/ใต้ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสามแยกเตาปูน ไปตัดถนนประชาชื่น เพื่อมุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางที่คลองเปรมประชากร ในพื้นที่ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ตามรูปที่ 14 ข้างล่าง
แต่ช้าก่อน การจะผ่านสามแยกเตาปูนตรงจุดตัดถนนประชาชื่นนั้น ท่านเจ้าที่ไม่ยอมให้ผ่านไปง่ายๆ เพราะใต้ถนนประชาชื่นมีเจ้าที่ที่เป็นท่อประปาขนาดใหญ่ยักษ์เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เมตรขวางอยู่พอดิบพอดีที่ชั้นดินเหนียวแข็ง ท่านอยู่ตรงนี้มาก่อนนานแล้ว ดังที่ได้เรียนไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าใครๆ ก็อยากอยู่ชั้นนี้ ประมาณว่าใครมาก่อนได้ก่อน เราผู้มาใหม่จำต้องหลบไป ไม่ขึ้นบนก็ลงล่าง ทางเราจึงเลือกหลบมุดลงล่างที่คิดว่าน่าจะปลอดภัยกว่าที่จะไปเสี่ยงกับการให้หัวเจาะไป “ว่ายน้ำ” ในชั้นดินอ่อนที่ท่านอาจารย์บาล่า (Prof. Bala subramaniam) เคยอธิบายให้จนเห็นภาพสมัยเรียนปริญญาโทกับท่านที่ AIT ว่า “Bangkok Soft Clay is something like toothpaste” มันเหลวราวยาสีฟันเลยทีเดียว!!
นอกจากเจ้าที่ที่เป็นท่อประปาขนาดใหญ่ยักษ์นี้ขวางอยู่แล้ว เลยไปนิดแค่ข้ามฟากถนนก็จะเจอเจ้าที่อีกท่านขวางอยู่เป็นเข็มสะพานข้ามคลองประปาที่พยายามหาแบบก่อสร้างของเข็มฐานรากไม่ว่าจากแหล่งไหนหน่วยงานใดก็ไม่มี จำต้องจ้างนักประดาน้ำมาดำคลำหารูปแบบของ (หัว) เสาเข็มว่าจะเป็นอย่างไร จะได้ออกแบบแก้ไขถูก
7. งานนี้มีเดิมพัน
เมื่อพิจารณาดีแล้วว่าน่าจะหลบลงล่างดีกว่าจึงได้ติดต่อ “เจ้าพ่องานดินอ่อนกรุงเทพฯ” รศ.ดร.วันชัย เทพรักษ์ แห่งสำนักวิศวกรรมโยธาจุฬาฯ มาช่วยออกแบบวางแผนการเจาะลอดเจ้าที่ดังกล่าว และได้ข้อสรุปว่าเพื่อไม่ให้อุโมงค์เราลงต่ำเกินไป จากการคำณวนพบว่า ระยะห่างท่อประปายักษ์เพียง 80 ซม. ก็เพียงพอแล้วซึ่งเป็นระยะบีบคั้นหัวใจเจ้าที่-การประปานครหลวง(กปน.) ยิ่งนัก แต่ทางเราไม่อยากห่างลึกลงกว่านี้ที่ยิ่งห่างลงลึกมากเท่าไหร่ อุโมงค์เราก็ต้องยิ่งจมลงไปในชั้นทรายที่อิ่มตัวด้วยน้ำอันไม่พึงประสงค์มากขี้นเท่านั้น
ทางเราพยายามไปนำเสนอแผน (defense) กับกปน. ไม่ว่าจะท่านอาจารย์วันชัยฯ จะแสดงการคำณวนอย่างไรว่าการเจาะลอดในระยะห่าง 80 ซม.ของเราจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อท่อประปายักษ์ของกปน.อย่างแน่นอน ทางกปน.ได้ตอบว่า “ถ้าท่อประปายักษ์ของกปน.พังไป ความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะขายบริษัทคุณจนต้องปิดไป ก็ไม่พอใช้หนี้หลวงหรอก !!”
พากันถอยทัพกลับมาตั้งหลักใหม่ เผอิญนึกขึ้นได้ว่าท่านอาจารย์ปริ๊นเซล (Dr.Fredrich Prinzl) จาก AIT มาเป็นที่ปรึกษารถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สายแรกของเมืองไทยในขณะนั้น จึงพากันหอบข้อมูลนำปัญหาไปเรียนปรึกษาท่านที่สำนักงานสนามของรถไฟฟ้าใต้ดินริมถนนอังรีดูนังต์ หลังจากท่านดูข้อมูลสักพัก ท่านก็ทักว่า “ปัญหาหนักดีนะ” น่าจะลอดใต้เขาสัก 1.50 เมตรก็น่าจะรับกันได้ ไม่ใช่แค่ 80 เซ็นให้เป็นที่หวาดเสียวกันไปเปล่าๆ
“ผมขออนุญาตอ้างชื่ออาจารย์ได้มั้ยครับ” จำไม่ได้ว่าท่านอาจารย์ “say yes or no” แต่ผมก็เอาชื่อท่านไปขาย เอ๊ย! ไปอ้างเพื่อเพิ่มน้ำหนักกับกปน.ตอน “defense” ครั้งที่สองประกอบกับท่านอาจารย์วันชัย ได้เตรียมการบ้านจากคำถามครั้งแรกมาดี การ “ขึ้นเขียง” ครั้งนี้จึงบรรลุผลตามประสงค์
8. ปัญหาที่มาแบบไม่คาดคิด
เป็นปกติของทุกงานจะต้องมีปัญหาแบบ “unforeseen” มิได้คาดคิดชนิดที่ไม่มีแผนรองรับ ที่นี่ก็ไม่มีข้อยกเว้น เจาะไปเจาะมา อ้าวเจ้าหัวเจาะค่อยๆ ดำดิ่งลงเรื่อยๆ และทำท่าจะไม่ยอมชะเง้อขึ้นมาซะงั้น อย่ากระนั้นเลยทางเราขอเชิญคุณนิรนามซัง (Unnamed SAN) ผู้เชี่ยวชาญการเจาะอุโมงค์ชาวญี่ปุ่นของเรากลับบ้านไปพักผ่อนก่อน จากนั้นผู้บริหารระดับสูงของเราได้ติดต่อมือเจาะอุโมงค์ชาวไทยจำได้เพียงว่าชื่อบริษัท DC (มั้ง) ของรุ่นพี่โยธามช. (ต้องขออภัยที่จำชื่อพี่ท่านไม่ได้) มารับผิดชอบงานเจาะที่ภายหลังต้องยอมรับว่าท่านพี่มีความสามารถระดับมืออาชีพทีเดียว
แต่ในที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหาหัวเจาะตก/จมลงไปต่ำกว่าแนวที่ได้วางแผนไว้ร่วม 3 เมตรนั้น ท่านสมศักดิ์ กลั่นพจน์ ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร (สมัยนั้น) ในฐานะเจ้าของงาน/ผู้ควบคุมงาน ได้ให้คำแนะนำที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่า “ยังไม่จำเป็นต้องบังคับให้หัวเจาะโงหัวขึ้นมาตอนนี้ก็ได้ แต่ต้องพยายามรักษาระดับนี้ไว้ไม่ให้จมลงไปอีกเท่านั้น พอหัวเจาะลอดเจ้าที่ที่เตาปูน (ท่อประปายักษ์ของกปน.และเข็มสะพานของกทม.) แล้ว ก็บังคับให้หัวเจาะค่อยๆ ใต่ระดับขึ้นมาก็ได้” โอ้….ช่างเป็นคำแนะนำยอดเยี่ยมมาก!!
9. แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เมื่อผ่านเจ้าที่ทั้งสองไปด้วยดีโดยไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแต่อย่าง ณ ตรงนี้หัวเจาะจะถูกบังคับให้ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมกับเลี้ยวซ้ายลอดคลองประปาและคลองเปรมประชากรข้างๆ สะพานสูงบางซื่อ มุ่งสูงจุดหมายที่บ่อรับหัวเจาะ (Reception Shaft) ที่ได้ก่อสร้างรอรับไว้ล่วงหน้า ณ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ไว้สำหรับยกหัวเจาะขึ้นมาหลังภาระกิจการเจาะอุโมงค์เสร็จสิ้นลง
ณ ตำแหน่งบ่อรับหัวเจาะนี้ ตั้งอยู่ริมคลองเปรมประชากรในรั้วของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และที่ตอนแรกทำให้พวกเราหวั่นวิตกเป็นอย่างมากเพราะอยู่ติดกับ “ศาลาเฉลิมพระเกียรติ” มาก ซึ่งรั้วบ่อก่อสร้างจะอยู่ห่าง “ศาลาเฉลิมพระเกียรติ” นี้เพียง 5 เมตรเท่านั้น!! ในขณะที่เราจะต้องขุดบ่อรับหัวเจาะนี้ลงไปร่วมๆ 20 เมตร และทางเจ้าของพื้นที่ (SCG) ได้กำชับนักกำชับหนาว่า “การก่อสร้างจะกระทบกระเทือนอาคารมหามงคลนี้ไม่ได้โดยเด็ดขาด และเมื่อการก่อสร้างสิ้นสุดลง จะต้องคืนสภาพให้ดีดังเดิม!!”
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างบ่อรับหัวเจาะนี้ก็ผ่านไปด้วยดีไม่ความสียหายต่อศาลาเฉลิมพระเกียรติฯแต่อย่างใดและเสร็จทันกับการที่หัวเจาะจะต้องเจาะมาทะลุที่บ่อรับหัวเจาะเพื่อยกหัวเจาะขึ้นพอดี โดยมีท่านผู้ว่ากทม. ดร.พิจิตต รัตตกุล ได้เดินทางมาร่วมสังเกตุการณ์เป็นสักขีพยานและแสดงความยินดีในวันแห่งความสำเร็จของการเจาะอุโมงค์ยักษ์แห่งแรกของกรุงเทพมหานครนี้ด้วย
เมื่อการเจาะและก่อสร้างอุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ คือจะเป็นการติดตั้งท่อเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ตลอดแนวอุโมงค์สำหรับเป็นท่อระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรโดยสถานีสูบน้ำที่ก่อสร้างบริเวณบ่อรับหัวเจาะ ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่อาคารระบายน้ำบริเวณท่าน้ำบางโพ ใกล้ๆ กับบ่อติดตั้งหัวเจาะ ซึ่งได้ทำการคืนสภาพพื้นที่เรียบร้อยแล้วดังรูปข้างล่าง
ผลสัมฤทธิของโครงการนี้ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง “เรื้อรัง” ในเขตกรุงเทพมหานครตอนเหนือ อันได้แก่ เขตดอนเมือง เขตจตุจักรและเขตบางซื่อ ส่วนน้ำท่วมขัง “รอระบาย” โครงการนี้ไม่เกี่ยวนะ. จบ