หลังจากฤดูหนาวผ่านพ้นไป ก็ถึงเวลาของฤดูแห่งการออกภาคสนาม ปีนี้ผมเดินทางตามเพื่อนนักธรณีไปออกภาคสนามที่ประเทศสเปน โดยมีพื้นที่ศึกษาอยู่ที่บริเวณเทือกเขาที่เป็นรอยต่อระหว่างประเทศสเปนและฝรั่งเศส เทือกเขาแห่งนี้มีชื่อว่า ไพเรนีส์ (Pyrenees) ซึ่งเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกไอบีเรียกับแผ่นยุโรปตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิก (~250 ล้านปี) การชนกันของแผ่นเปลือกโลกทั้งสองทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนขึ้นทั้งสองฝั่งของเทือกเขาที่วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เทือกเขาไพเรนีส์เป็นสถานที่เรียนรู้ธรณีวิทยาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีหินโผล่และโครงสร้างชั้นหินที่สวยงาม เหมาะแก่การการศึกษาวิวัฒนาการเกิดเทือกเขาและการสะสมตะกอนในแอ่งที่เกิดร่วมกัน
ลักษณะทางธรณีวิทยาของเทือกเขาไพเรนีส์ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีการเปลี่ยนสภาพ (deformation) หลายครั้งในระหว่างกระบวนการเกิดเทือกเขา เราเริ่มต้นสำรวจจากแอ่งส่วนหน้า (foreland basin) ทางตอนเหนือของประเทศสเปน จากนั้นก็เดินทางขึ้นเหนือไปจนถึงเขตแกนกลางของเทือกเขา (Axial Zone) ระหว่างทางเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ตามแนวการชนกันของเปลือกโลกในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่แอ่งส่วนหน้าจนถึงแกนกลางของเทือกเขาไพเรนีส์
ความน่าประทับใจในไพเรนีส์อยู่ที่การที่ได้เห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามเมื่อมองจากยอดเขา ซึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิประเทศอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่สูงของเทือกเขากับพื้นที่ราบของแอ่งส่วนหน้า โดยเฉพาะในวันที่สภาพอากาศปลอดโปร่ง เราสามารถมองเห็นยอดภูเขาสูงที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะได้ในระยะไกล
ในส่วนแกนกลางของเทือกเขาไพเรนีส์ประกอบไปด้วยชั้นหินอายุแก่ของมหายุคพาลีโอโซอิกที่ถูกรอยเลื่อนย้อน (thrust faults) พาขึ้นมาโผล่ซ้อนกันเป็นเทือกเขาสูง ซึ่งรอยเลื่อนย้อนเหล่านี้ได้เปลี่ยนสภาพของชั้นหินคดโค้ง เกิดเป็นความซับซ้อนของธรณีวิทยาในพื้นที่ เทือกเขาในเขตแกนกลางมีหิมะปกคลุมตลอดปีเนื่องจากความสูงและอากาศที่หนาวเย็น
ทุกวันนี้เทือกเขาไพเรนีส์ยังคงเป็นห้องเรียนภาคสนามที่ดีให้กับนักศึกษาธรณีวิทยาทั่วโลก ในทุกปีจะมีนักธรณีวิทยาแวะเวียนมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้อยู่เสมอ หากใครมีโอกาส ผมขอแนะนำให้มาเยือนไพเรนีส์สักครั้ง แล้วท่านจะต้องประทับใจกับความยิ่งใหญ่และสวยงามของธรณีวิทยาที่นี่แน่นอนครับ ..gneiss