การสำรวจปิโตรเลียมที่เราต้องเข้าใจ

by

ปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนทั่วโลกในปัจจุบัน ปิโตรเลียมเป็นเรื่องของทุกคนที่ควรรู้และเข้าใจอย่างครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจ การผลิต และการจำหน่าย แม้ว่าทุกวันนี้จะมีการพูดถึงปิโตรเลียมกันอย่างมากในประเทศไทย แต่บางครั้งการพูดหรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมโดยปราศจากความเข้าใจในส่วนของธรณีวิทยาปิโตรเลียม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจปิโตรเลียมแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เนื้อหาต่อไปนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับปิโตรเลียมที่คนไทยต้องรู้และเข้าใจแม้ว่าจะไม่ใช่นักสำรวจ

ภาพการสำรวจทางธรณีวิทยาปิโตรเลียมในภาคสนาม

น้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่ได้มีอยู่ทุกที่ มีเกิดแล้วหนี

ในธรรมชาติ ปิโตรเลียมเกิดจากชั้นหินที่มีปริมาณสารอินทรย์สูงที่เรียกว่า หินต้นกำเนิด ซึ่งเป็นหินที่เกิดจากการทับถมกันของเศษตะกอนปนซากพืชซากสัตว์ในอดีตเมื่อหลายล้านปีก่อน ในขณะเวลานั้น หินต้นกำเนิดยังไม่สามารถให้ปิโตรเลียมได้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก หินต้นกำเนิดที่จะให้ปิโตรเลียมได้ต้องถูกทับให้ไปอยู่ใต้ดินในความลึกและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นแค่ช่วงความลึกและอุณหภูมิที่จำกัดของพื้นที่หนึ่งๆ เท่านั้น หากพ้นช่วงนี้แล้ว ปิโตรเลียมก็จะสุกเกินไปจนเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่น

ตรงนี้อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงช่วงเวลาหลายร้อยหลายสิบล้านปีก่อนถึงปัจจุบัน ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น หินต้นกำเนิดอาจจะถูกทำให้เคลื่อนไปอยู่ยังตำแหน่งสูงๆ ต่ำๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก นักธรณีวิทยาจึงต้องนำความรู้ทางธรณีวิทยามาช่วยในการหาพื้นที่ที่มีปิโตรเลียมสุกพอดีตามเงื่อนไขดังกล่าว

เมื่อมีปิโตรเลียมเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ สารทั้งสองสิ่งนี้สามารถย้ายหนีจากชั้นหินต้นกำเนิดไปอยู่ที่ใหม่ได้ เนื่องจากใต้ดินมีแรงกดดันสูงมาก นั่นคือปิโตรเลียมจะพยายามเคลื่อนตัวจากที่ลึกไปยังที่ตื้นตามเส้นทางที่โล่งและไม่ติดขัด ซึ่งมักเป็นบริเวณชั้นหินที่มีรูพรุนหรือมีรอยแตกเยอะที่เรียกว่า หินกักเก็บ โดยปิโตรเลียมจะเข้าไปแทรกตามช่องว่างในหินกักเก็บ อย่างไรก็ตามชั้นหินกักเก็บจะเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ถ้าหากไม่มีอะไรมาปิดกั้น ไม่อย่างนั้นปิโตรเลียมก็จะหนีไปเรื่อยๆ จนสามารถโผล่ออกมาบนผิวโลกได้ หินที่ไม่ยอมให้ปิโตรเลียมเคลื่อนผ่านได้ง่ายๆ เรียกว่า หินปิดกั้น ดังนั้นการสำรวจปิโตรเลียมใต้ผิวดินจึงต้องมองหาหินปิดกั้นด้วย

แม้ว่าในพื้นที่หนึ่งๆ จะมีองค์ประกอบครบทั้งสามส่วนตามระบบปิโตรเลียม (หินต้นกำเนิด หินกักเก็บ และหินปิดกั้น) แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือเรื่องของ เวลา เพราะหินทั้งสามชนิดนี้อาจจะเกิดกันคนละช่วงเวลา และอาจจะเกิดห่างกันหลายล้านปี ซึ่งหมายความว่าก่อนที่ปิโตรเลียมจะเคลื่อนตัวมายังหินกักเก็บ หินปิดกั้นต้องมีอยู่เตรียมพร้อมก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่อย่างนั้นปิโตรเลียมก็จะหนีไปบนผิวโลกโดยไม่มีการกักเก็บ

โลกของเราไม่อยู่นิ่ง เปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปิโตรเลียมที่กักเก็บไว้อย่างสบายหลายล้านปี ก็อาจจะถูกรบกวนได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง หินปิดกั้นอาจจะถูกทำให้แตกแยกโดยรอยเลื่อนมีพลัง ส่งผลให้ปิโตรเลียมสะสมไว้หนีไปอยู่ที่อื่นได้ นักสำรวจก็ต้องมาตามดูว่าเส้นทางหนีของปิโตรเลียมจะไปที่ใด และน่าจะไปจนมุมอยู่ที่ไหน การลำดับเหตุการณ์ในอดีตจึงเป็นเรื่องสำคัญของการสำรวจปิโตรเลียม

ข้อมูลเพิ่มเติม ปิโตรเลียมคืออะไร?

 

ปริมาณปิโตรเลียมที่ซ่อนอยู่ใต้ดินมีเท่าไหร่

ไม่มีใครสามารถให้คำตอบอย่างแท้จริงได้ว่าใต้ผิวโลกของเรามีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเท่าไหร่ ตัวเลขปริมาณสำรองของปิโตรเลียมในแต่ละประเทศนั้น ล้วนแล้วเกิดจาการคำนวณอย่างมีระบบเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่คำนวณได้จะขึ้นอยู่กับการให้ค่าความน่าจะเป็นด้วยว่ามากหรือน้อย ดังนั้นตัวเลขเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากได้รับข้อมูลการสำรวจใหม่ๆ หรือมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคและเทคโนโยลีที่ทันสมัยขึ้น

ปัจจุบันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ คำตอบสุดท้ายของคำถามนี้จึงยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอัตราการผลิตปิโตรเลียมก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดปริมาณปิโตรเลียมที่มีอยู่ในประเทศนั้นๆ การเปรียบเทียบความมั่งคั่งทางปิโตรเลียมของประเทศจากข้อมูลการผลิตจึงไม่ถูกต้อง บางประเทศมีปิโตรเลียมอยู่มากแต่ผลิตน้อยก็มี

 

พื้นที่สัมปทานไม่ใช่แหล่งปิโตรเลียมทั้งหมด

พื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมนั้นจะถูกจัดสรรไว้เหมือนเป็นพื้นที่ศึกษาและค้นหาแหล่งปิโตรเลียม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดจากการประเมินแล้วว่าน่าจะมี ศักยภาพ คำว่ามีศักยภาพหมายถึงมีโอกาสที่จะพบปิโตรเลียม เพราะมีการศึกษาทางธรณีวิทยาเบื้องต้นแล้ว พบว่าในบริเวณนั้นมีองค์ประกอบของปิโตรเลียมครบดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อแรก นั่นคือ หินต้นกำเนิด หินกักเก็บ และหินปิดกั้น แต่การที่จะรู้ว่ามีปิโตรเลียมอยู่จริงหรือไม่นั้น ก็ต้องทำการศึกษาข้อมูลใต้ผิวดินเพิ่มเติม และเจาะหลุมสำรวจ

ข้อมูลใต้ดินที่มีมากขึ้นก็จะช่วยให้ นักสำรวจสามารถกำหนดขอบเขตของแหล่งปิโตรเลียมภายในพื้นที่สัมปทานนั้นได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ในเขตสัมปทานเท่านั้น และก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะประสบผลสำเร็จ ดังนั้นแผนที่แปลงสัมปทานปิโตรเลียมจึงไม่ใช่แผนที่ที่บ่งบอกว่ามีปิโตรเลียม

การสำรวจปิโตรเลียมไม่ได้มีสูตรสำเร็จ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับปิโตรเลียมยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ การลงทุนสำรวจอย่างจริงจังแต่สุดท้ายกลับไม่พบปิโตรเลียม หรือพบปริมาณน้อยจนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนผลิตก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติ เช่นเดียวกับการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศที่ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่คนไทยมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ก็อยากให้คิดสักนิดว่า การสำรวจปิโตรเลียมมันไม่ได้ง่ายเลย

ข้อมูลเพิ่มเติม ปิโตรเลียมในอ่าวไทย