การบรรยายความรู้ทางธรณีวิทยาต้องอาศัยภาพประกอบ ความน่าสนใจของผลงานที่นำเสนอจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาพประกอบ เช่น แผนที่ กราฟ ตาราง รูปภาพ แม้ว่าผู้นำเสนอจะไม่ใช่เป็นคนที่พูดเก่ง แต่การทำสื่อนำเสนอที่ดีก็จะสามารถช่วยดึงดูดความน่าสนใจและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้
เนื้อหาต่อไปนี้เป็นแนวสำหรับการเตรียมสื่อเพื่อประกอบการบรรยาย รวบรวมจากประสบการณ์การเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาทางธรณีวิทยาทั้งในและต่างประเทศ
ภาพประกอบ
ก่อนที่เราจะใส่ภาพใดๆ ลงไปในสื่อ ลองตรวจเช็คดูว่าภาพนั้นมีความละเอียด หรือมีขนาดใหญ่เพียงพอหรือไม่ กล่าวคือต้องมีความคมชัดและไม่แตกหรือเบลอเมื่อนำขึ้นแสดงบนจอภาพ ปัญหาที่พบบ่อยคือการคัดลอกภาพจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่มีความละเอียดต่ำ เมื่อฉายขึ้นจอภาพเส้นจะแตกจนดูไม่น่าสนใจ
จริงๆ แล้วการคัดลอกภาพจากอินเตอร์เน็ตหรืองานตีพิมพ์ที่ไม่ใช่ของเราโดยตรงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ แม้จะอนุโลมได้ถ้ามีการอ้างอิงแหล่งที่มา เนื่องจากอาจจะเข้าข่ายการขโมยความคิดผู้อื่น (Plagiarism) ดังนั้นถ้าต้องการจะยืมใช้ผลงานผู้อื่นควรที่จะมีการวาดใหม่และปรับแต่งให้แตกต่างจากต้นฉบับ เช่น ใส่ข้อมูลเพิ่ม หรือตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป โดยเฉพาะการเลือกแผนที่และรูปภาพจากงานตีพิมพ์ที่เก่ามากๆ ก่อนยุคดิจิตอล ซึ่งข้อดีของการวาดใหม่ก็คือว่าเราสามารถที่จะปรับแต่งสี แก้ไขตัวหนังสือ หรือปรับขนาดรูปให้ใหญ่ตามที่ต้องการได้ โปรแกรมวาดภาพที่นิยมใช้กัน ได้แก่ Illustrator และ CorelDRAW
การวาดภาพขึ้นใหม่นี้อาจจะใช้เวลานานสำหรับมือใหม่ และมองว่าเสียเวลา แต่ถ้าตั้งใจทำแล้วรับรองว่าคุ้มค่า เพราะเราจะได้ภาพที่เป็นรูปแบบของเราเองและสามารถเก็บไว้ใช้ในงานต่อไปได้
สี
โดยทั่วไปการนำเสนอในห้องประชุมจะเป็นการฉายภาพไปยังจอรับภาพแล้วสะท้อนกลับมายังผู้ชม ซึ่งสายตามนุษย์จะตอบสนองต่อแสงสว่างได้ดี ดังนั้นควรให้สิ่งที่เราจะเน้นในสไลด์ เช่น แผนที่ รูปภาพ เส้นกราฟ หรือตัวหนังสือมีความสว่างของสีมากกว่าสีของพื้นหลัง
สีพื้นหลังที่สว่างจ้ามากเกินไปจะทำให้เกิดแสงสะท้อนมากรบกวนสายตาและลดความโดดเด่นของรายละเอียดหลักได้ โดยเฉพาะการนำเสนอในห้องบรรยายที่มีแสงน้อย ซึ่งแสงจ้ามากๆ จะทำให้สายตาผู้ชมล้าได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสีพื้นหลังและสีตัวหนังสือที่มีความใกล้เคียงกัน ตัวหนังสือสีเหลืองมักไม่ค่อยโดดเด่น สีที่ใช้แสดงชนิดหินยุคต่างๆ ควรสามารถแยกออกจากกันได้ง่าย และให้ใช้สีเดียวกันตลอดการนำเสนอ สีพื้นหลังก็เช่นเดียวกัน
ตัวหนังสือ
โดยทั่วไปคนผู้ชมจะอ่านมากกว่าฟัง ดังนั้นตัวหนังสือจึงมีความสำคัญ ในการนำเสนอควรใช้แบบอักษรเดียวกันทั้งหมดตลอดการนำเสนอหรือมากไม่เกินสองแบบ เพื่อให้อ่านได้อย่างสบายตา แบบอักษรควรเป็นแบบทางการที่ผู้ชมทุกคนคุ้นเคย ตัวหนังสือทุกตัวควรมีขนาดใหญ่พอที่สามารถอ่านได้จากที่นั่งหลังห้อง
ในหลายๆ กรณีมักพบการวางตัวหนังสือทับเส้นในแผนที่หรือรูปภาพ ซึ่งจะทำให้ภาพดูรกและอ่านยากมาก หากจำเป็นปัญหานี้หลีกเลี่ยงได้โดยการเพิ่มสีพื้นหลังให้ตัวหนังสือ หรือใส่เงา สิ่งสำคัญอีกสึ่งหนึ่งคือการวางตัวหนังสือในแนบราบ หรือเอียงเล็กน้อย ไม่ควรวางตัวหนังสือในแนวตั้ง โดยเฉพาะคำอธิบายแกนตั้งในกราฟหรือในแผนที่ ยกเว้นจำเป็นจริงๆ อย่างเช่นชื่อยุคในตารางธรณีกาล
องค์ประกอบ
ภาพและตัวหนังสือควรถูกจัดวางอย่างลงตัวตามความสำคัญ สิ่งที่เราเน้นควรจะเป็นสิ่งแรกที่ลืมตามาเห็นสไลด์นี้ ควรใช้พื้นที่บนสไลด์ให้เต็มที่ด้วยการขยายภาพให้ใหญ่ที่สุด ภาพหรือแผนที่ที่ดีควรมีการบอกชื่อ ตำแหน่ง ทิศทาง มาตราส่วน และแหล่งอ้างอิง (ถ้ามี) ให้สังเกตขนาดของลูกศรทิศเหนือและแถบมาตราส่วนใต้แผนที่ว่าดูใหญ่เกินไปหรือไม่ โดยปกติทิศเหนือควรอยู่ด้านบนและมาตราส่วนอยู่ด้านล่าง มาตราส่วนควรเป็นเลขที่ลงตัว เช่น 500 เมตร 1 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร
การที่คนส่วนใหญ่ถนัดในการอ่านจากซ้ายไปขวา ดังนั้นควรจัดวางข้อความบรรยายทางด้านขวาของภาพประกอบที่เป็นแนวตั้ง เช่น ในสไลด์ที่แสดงการลำดับชั้นหิน หรือ ตารางธรณีกาล ภาพแผนที่ธรณีวิทยาควรมีคำอธิบายสัญลักษณ์ประกอบด้วยทุกครั้ง หลายครั้งที่พบว่าในสไลด์มีโลโก้องค์กรหรือบริษัทที่ใหญ่เกินไป และบางครั้งยังทำเป็นแถบด้านบนและล่างของทุกหน้า ซึ่งกินพื้นที่นำเสนอและไม่มีความจำเป็นหากได้แสดงไว้แล้วในหน้าแรก ยกเว้นว่าเป็นข้อบังคับขององค์กรนั้น แต่ก็ควรทำให้เล็กลงให้มากที่สุด
การจัดลำดับ
การนำเสนอเปรียบเสมือนการเล่าเรื่องอย่างมีจุดประสงค์ ควรวางลำดับขั้นตอนการนำเสนอให้ต่อเนื่อง ไม่ข้ามไปข้ามมา ในระหว่างการนำเสนอหากอ้างถึงสิ่งใด สไลด์ถัดมาควรจะเป็นสิ่งนั้น เช่น แสดงตำแหน่งภาคตัดขวางในแผนที่ก่อนแสดงภาคตัดขวางในสไลด์ถัดมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมโยงความคิดระหว่างสไลด์ได้และไม่หลงทาง
การทำแอนิเมชันก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยในการเล่าเรื่อง แต่อย่าให้มีเยอะจนเกินไป อย่างไรก็ตามการลำดับขั้นตอนเนื้อหานั้นแตกต่างกันไปตามรูปแบบของลักษณะของผลงานและความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น – Title- Content Outline/Overview- Location map/Study area- Summary tectonic events/geological history- Problems/Objectives- Data used- Results of field survey/data analysis- Discussion- Conclusion- Acknowledgement
ปริมาณเนื้อหา
ในสไลด์หนึ่งๆ ไม่ควรดูเยอะจนเกินไป โดยเฉพาะตัวหนังสือ อาจใช้สัญลักษณ์ช่วยแยกเป็นห้วข้อย่อยๆ แต่ไม่ควรมีเกิน 5 หัวข้อในหนึ่งสไลด์ ควรตรวจสอบเวลาในการนำเสนอและจำนวนสไลด์ โดยที่มีเวลาให้ผู้ชมได้เห็นสไลด์อย่างเหมาะสม ในการนำเสนอแต่ละครั้ง ผู้ชมจะฟังเพียง 25%-50% ของเวลาทั้งหมด ดังนั้นในสไลด์ที่มีภาพประกอบควรพยายามทำให้ภาพนั้นช่วยบอกเรื่องราวในตัวมันเอง
กล่าวคือผู้ชมต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่บนสไลด์ได้ แม้จะไม่ฟังเราพูด ซึ่งภาพที่แสดงในสไลด์ต้องกระชับและครบถ้วน อย่าลืมว่าภาพแผนที่ต้องมีทิศทาง มาตราส่วน และคำอธิบาย คุณภาพของภาพประกอบและข้อความที่กระชับจะช่วยให้ผู้ชมมีสมาธิตลอดการนำเสนอ
การเข้าร่วมฟังบรรยายในงานประชุมหรือสัมมนา นอกจากเราจะได้รับความรู้เพิ่มเติมแล้ว ถ้าสังเกตดีๆ เราก็จะได้เห็นข้อดีข้อเสียของการนำเสนอของบุคคลต่างๆ ในวงการเดียวกัน แม้ว่าจะมีผลงานที่ไม่ตรงกับความสนใจของเรา แต่หากผลงานนั้นมีการนำเสนอที่น่าสนใจก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับเราได้ แนวทางการทำสื่อเพื่อนำเสนอผลงานทางธรณีวิทยาที่กล่าวมานี้ น่าจะช่วยเพิ่มการสังเกตคุณภาพการนำเสนอผลงานตามงานประชุมต่างๆ และนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาสื่อของตนเองต่อไปในอนาคต