นักธรณีวิทยาที่ออกภาคสนามไกลที่สุดได้เดินทางไปพร้อมกับทีมสำรวจดวงจันทร์อพอลโล่ 17 ซึ่งเป็นปฏิบัติการสุดท้ายของโครงการอพอลโล่ ด้วยระยะทางกว่าสามแสนแปดหมื่นสี่พันสี่ร้อยกิโลเมตรจากพื้นโลก เขาไปทำอะไรที่นั้น รับรองว่าการเดินทางของเขาครั้งนี้มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติแน่นอน
มันเป็นความเข้าใจที่ผิด มานานพอควรที่ว่า บุคคลแรกกดรอยเท้าบนผิวดวงจันทร์ (นีล อาร์มสตรอง) เป็นนักธรณีวิทยา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ นักธรณีคนแรกที่ไปเยือนดวงจันทร์คือ แฮร์ริสัน แฮแกน สมิธ (Harrison Hagan “Jack” Schmitt) มีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองซานตาริต้า มลรัฐนิว แมกซิโก แต่กลับไปโตที่ เมืองซิลเวอร์ซิตี้ สมิธสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย จากนั้นจึงไปศึกษาต่อธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ถึงหนึ่งปีเต็ม ข้อมูลที่ผมค้นดูไม่ได้บอกสาเหตุที่ว่าทำไมเขาจึงต้องลำบากข้ามทะเลไปเรียนทุบหินที่นั้น แต่ผมเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่เขาได้รับคัดเลือกจากนาซ่าไปดวงจันทร์และเขากสามารถจบด๊อกเตอร์สาขาวิชาธรณี จากสถาบันอันดับหนึ่งของโลก อย่างมหามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปีพ.ศ.2507
เมื่อกลับมาที่อเมริกาอีกครั้ง เขาเริ่มงานที่สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ศูนย์ธรณีวิทยาอวกาศอริโซน่าในตำแหน่งนักธรณีวิทยา ก่อนหน้าที่จะเป็นนักบินอวกาศ สมิธเคยเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกนักบินอวกาศในการเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยา (คุณครูของ นิล อาร์มสตรอง) ก่อนจะไปปฏิบัติการจริงบนผิวดวงจันทร์ และในอวกาศ
จากนั้นฝันของเขาก็เป็นจริง โดยไม่ต้องเขียนไปเล่าจดมายหาคุณไตรภพ แต่อย่างใด เขาเป็นตัวแทนจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียวใน ปฏิบัติการอพอลโล่ เขาเป็นหนึ่งในทีมอพอลโล 17 ลำสุดท้ายที่จะถูกส่งไปยังดวงจันทร์ ความจริงแล้วเขาถูกกำหนดเป็นนักบินใน อพอลโล่ 18 แต่ด้วยแรงกดดันจากสังคมนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการเห็นตัวแทนเป็นส่วนหนึ่งร่วมเดินทางในเที่ยวบินนี้ ดังนั้นเขาจึงถูกเปลี่ยนตัวมาร่วมทีมในนาทีสุดท้าย ไม่เช่นนั้นผมคงต้องเปลี่ยนหัวข้อที่ว่า “ใครคือ…นักธรณีวิทยาที่-เกือบ-ออกภาคสนามในดินแดนที่ไกลที่สุด”
ภารกิจของอพอลโล่ 17 คือการสำรวจภาคสนาม บริเวณหุบเขาทอรัส-ลิตต์โรว์ (Taurus-Littrow highland and valley) จากข้อมูลภาพถ่าย คาดว่าบริเวณดังกล่าวประกอบไปด้วยตะกอนของหินขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นหินธรณีฐานของแนวภูเขาบริเวณดังกล่าว และเป็นบริเวณที่คาดว่าจะเป็นปล่องภูเขาไฟ (ชมแผนที่การสำรวจตอนท้ายบทความ)
หน้าที่หลักของสมิธและทีมงานในปฏิบัติการครั้งนี้ก็คือ ควบคุมหุ่นยนต์สำรวจ (Lunar Rover) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำรวจสมบัติทางธรณีวิทยาพื้นฐานจากพื้นผิวดวงจันทร์ ที่เรียกว่า Apollo lunar surface experiment package (ALSEP) ซึ่งมีภารกิจประกอบไปด้วย
- Heat Flow experiment (HFE), ประมาณว่าปฏิบัติการการทดลองการไหลของความร้อนใต้พื้นผิวบนดวงจันทร์
- Lunar seismic profiling (LSP), การเก็บข้อมูลภาคสนาม คลื่นไหวสะเทือน เพื่อหาโครงสร้างคร่าวๆของชั้นหิน
- Lunar surface gravimeter (LSG), การเก็บข้อมูลภาคสนาม แรงโน้มถ่วงของพื้นผิวดวงจันทร์ ก็สามาถหาโครงสร้างคร่าวๆ ของชั้นหินเช่นกัน
- Lunar atmospheric composition experiment (LACE) ปฏิบัติการการทดลององค์ประกอบของบรรยากาศของดวงจันทร์
- Lunar ejecta and meteorites (LEAM) โครงการอุกาบาตและเทหะวัตถุบนผิวดวงจันทร์
นอกจากนี้ยังปฏิบัติภารกิจการทดลองทางชีวการแพทย์ (Biomedical experiments) ด้วย
ส่วนภารกิจหลักของนักธรณีภาคสนาม…เขาเก็บตัวอย่างหินดินกลับมาฝากคนบนโลกมาทั้งสิ้น 110.4 กิโลกรัม (ชั่งบนโลก) กับระยะเดินทางบนดวงจันทร์ทั้งสิ้น 34 กิโลเมตร
“ถามว่าสมิทจะแบกไหวน้ำหนักหินขนาดนี้ไหวหรือไม่บนดวงจันทร์ เพราะเท่าที่รู้มา แรงโน้มถ่วงของโลกมากกว่าบนดวงจันทร์ห้าเท่า แสดงว่า น้ำหนักที่สมิทแบกก็จะเท่ากับข้าวสารหนึ่งถัง หรือประมาณยี่สิบกิโล เป็นผมก็ชิลชิล นะ
แต่ทางกลับกันน้ำหนักของเขาก็จะลดลงห้าเท่า สมมุติเขาหนักระมาณ 100 กิโลกรัม เมื่อไปถึงที่นั่นนำนักเขาก็จะเหลือเพียง 20 กิโลกรัม ก็จะประมาณว่าให้เด็กประถมหนึ่งไปแบกข้าวสารหนึ่งถัง…จะไหวมั้ยเนี่ย….ผมไม่เก่งฟิสิกส์ซะด้วยสิ”
ผลงานอีกชิ้นที่ทุกคนคงจะเคยผ่านตามาแล้วแน่ๆ คือ The Blue Marble รูปถ่ายโลกสีครามภาพแรกสันนิษฐานว่าจะเป็นฝีมือของสมิธ แต่อย่างไรก็ตามทางนาซ่าก็ให้เครดิตภาพนี้กับทีมสำรวจอพอลโล่ 17 ทั้งหมด
นี่แหละครับ แฮร์ริสัน แฮแกน สมิธ มนุษย์คนสุดท้ายของนักบินอวกาศทั้งสิบสองคนที่ได้มีโอกาสเหยียบดวงจันทร์ แต่รอยเท้าของเขาไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์สุดท้ายบนดวงจันทร์ “the last man on the moon” แต่เป็จ ยูจีน เคอร์แนน (Eugene Cernan) หัวหน้าทีมของเขา……… และเขาคงไม่ใช่นักธรณีวิทยาคนสุดท้ายที่จะได้มีโอกาสออกภาคสนาม ณ ดินแดนไกลโพ้นก็ได้
แล้วอยากรู้รึเปล่าละครับ ถ้าเขาใช้เข็มทิศ บนดวงจันทร์ มันจะชี้ไปทางไหน ไปทางโลกของเราหรือเปล่า ลองไปค้นดูนะคับ แล้วบอกผมด้วยละกัน
แถมด้วยคลิปความน่ารักของสมิธบนดวงจันทร์ เมื่อเขาอ้อนขอเพื่อนร่วมทางอย่างน่าเอ็นดู เพื่อขอขว้างค้อนธรณีวิทยาเล่นเหมือนเด็ก แล้วเขาก็ได้รับอนุญาตด้วยคำตอบที่ว่า
“You deserve it. A hammer thrower…You’re a geologist. You ought to be able to throw it.”
แผนที่สำรวจบนดวงจันทร์ http://www.google.com/moon/#lat=0.655754&lon=23.471664&zoom=18&apollo=a11&lon=30.727787&zoom=11&apollo=a17
ผู้เขียนเผยแพร่บทความนี้ครั้งแรกบนเว็บวิชาการดอทคอม เมื่อปีพ.ศ. 2550