และแล้วก็ถึงฤดูกาลของการประกาศผลรางวัลโนเบลอีกครั้ง เหรียญรางวัลที่มีการมอบให้กับผู้สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์โลก และเป็นรางวัลที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนใฝ่ฝัน ซึ่งเราก็เคยได้ยินชื่อรางวัลนี้มาตั้งแต่เด็ก และก็คิดว่านักวิทยาศาสตร์ทุกแขนงก็มีโอกาศได้รางวัลนี้เช่นกัน
รางวัลโนเบลเป็นรางวัลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลกที่มอบให้แก่ผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์โลก โดยในแต่ละปีจะมีนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะได้รับรางวัลนี้
อย่างไรก็ตามรางวัลโนเบลไม่ได้มีให้สำหรับวิทยาศาสตร์สาขาธรณีวิทยาโดยเฉพาะ เพราะตอนเริ่มนั้น อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ได้ตั้งรางวัลนี้ไว้เฉพาะสาขาฟิสิกส์ เคมี แพทย์ศาสตร์ และวรรณกรรม เท่านั้น แม้ภายหลังได้มีการเพิ่มสาขาสันติภาพ และเศรษฐศาสตร์รวมไว้ด้วย
แล้วอะไรคือรางวัลโนเบลสำหรับนักธรณีวิทยา?
สำหรับนักธรณีวิทยาแล้ว แม้ว่าจะไม่มีรางวัลโนเบลสำหรับสาขาธรณีวิทยาโดยตรง แต่ก็มีแฝงอยู่ร่วมกับสาขาอื่นบ้าง เช่น ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์ เมื่อดูประวัติผู้ที่ได้รับรางวัลบางท่านก็จะพบว่าได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับธรณีวิทยาไม่น้อย (ลองค้นหาได้ที่ Nobelprize.org) หรือแม้แต่นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปีพ.ศ.2550 ก็ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งก็อาจจะมองได้ว่ามีองค์ความรู้ทางธรณีวิทยาแฝงอยู่ด้วย
แต่ถ้าเราจะพูดถึงรางวัลที่มอบให้กับสาขาธรณีวิทยาโดยตรงแล้ว รางวัลอะไรจะเป็นรางวัลที่ใกล้เคียงกับโนเบลในสาขาธรณีวิทยาล่ะ?
นักธรณีวิทยาที่มีผลงานดีเยี่ยมจะถูกพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญหรือกรรมการของสมาคมธรณีวิทยาต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขของ “ความเป็นเลิศ (excellence)” หรือ “ความโดดเด่นและความสำคัญจากผลงาน (outstanding accomplishments)” ในสาขาเฉพาะด้านนั้นๆ ซึ่งก็ยังคงหลักการเดียวกับรางวัลโนเบลคือความ “เป็นประโยชน์สูงสุด” ไม่ว่าผลงานนั้นจะสำเร็จหรือว่ากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองก็ตาม เพราะอาจการศึกษาทางธรณีวิทยาอาจใช้เวลานาน และมักไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์
ทีนี้เรามาดูกันว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่ให้รางวัลอันสุดยอดแก่นักธรณีวิทยา
รางวัลที่ให้โดยองค์กรธรณีวิทยา
- รางวัล Wollaston Medal โดยสมาคมธรณีวิทยาแห่งลอนดอน (The Geological Society of London)
- รางวัลจากสหภาพธรณีวิทยายุโรป (The European Geosciences Union)
- รางวัลจากสหภาพธรณีวิทยาอเมริกา (The American Geophysical Union) ประกอบด้วย สุดยอดรางวัล Bowie Medal สำหรับผู้ที่มีผลงานวิจัยโดดเด่นและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างไม่เห็นแก่ตัว และรางวัลที่คล้ายกับรางวัลโนเบลคือ Falkenberg Award เริ่มขึ้นเมื่อปี 2002 สำหรับนักวิทยาศาสตร์อายุไม่เกิน 45 ปี ผู้ที่นำความรู้ทางธรณีวิทยามาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต โอกาสทางเศรษฐกิจ และดูแลโลกเขาเรา
- รางวัลบริการสังคม (Public Service Award) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่ารางวัลคนทำรองเท้า (Shoemaker Award) ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งอเมริกา (The Geological Society of America) สำหรับงานวิจัยที่มีความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
- รางวัลจากสมาคมธรณีวิทยาแห่งแคนาดา (The Geological Association of Canada)
- รางวัลจากสมาคมธรณีวิทยาแห่งฝรั่งเศส (The Geological Society of France)
รางวัลที่ให้โดยองค์กรทั่วไป
- รางวัลจากราชสมาคมแห่งลอนดอน (The Royal Society of London) ประกอบด้วยเหรียญรางวัล Copley Medal (ให้กับนักธรณีฟิสิกส์คนล่าสุดเมื่อปี 2011 Dan McKenzie), เหรียญรางวัล Davy Medal (เคยให้กับนักธรณีเคมีครั้งหนึ่งเมื่อปี 1895) และเหรียญรางวัล Hughes Medal
- รางวัล Advancement of Science’s Abelson Prize จากสมาคมอเมริกา (The American Association) ยังไม่เคยมีนักธรณีวิทยาที่ได้รับรางวัลนี้
- สถาบันแฟรงคลิน (The Franklin Institute) ในรัฐฟิลาเดเฟีย ได้เสนอรางวัลให้กับนักธรณีวิทยา แต่มีเพียงสิบห้าคนเท่านั้นในช่วงร้อยปีทีผ่านมา ล่าสุดเมื่อปี 2005 ให้กับ Peter Vail สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับตะกอนและระดับน้ำทะเลโบราณ
- รางวัล Thompson Medal จากสถาบันวิทยาศาสาตร์นานาชาติ (The National Academy of Sciences) สำหรับการบริการทางธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา แต่ไม่ได้ให้อย่างต่อเนื่อง
- รางวัล Crafoord Prize จากผู้รักษาการณ์รางวัลโนเบลแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ Royal Swedish Academy ที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนวิทยาศาสตร์ในสาขาที่นอกเหนือโนเบล ประกอบด้วยสาขาธรณีศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และชีวศาสตร์ จัดขึ้นทุกๆ สี่ปี และมีเงินสนับสนุนงานวิจัยให้ด้วย 700,000 เหรียญสหรัฐ (24.3 ล้านบาท) เป็นรางวัลที่ดีมากที่เดียว นอกจากนี้สถาบันยังจัดงานอภิปรายกึ่งงานเลี้ยงให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลอีกด้วย
- สำหรับรางวัลที่น่าจะใกล้เคียงกับโนเบลมากที่สุดก็น่าจะเป็นรางวัล Vetlesen Prize ที่เสนอในมหานครนิวยอร์กทุกปีเว้นปี สำหรับนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโลก ประวัติโลก หรือความสัมพันธ์กับจักรวาล ผู้รับรางวัลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้คนสำคัญของธรณีวิทยา ตั้งแต่ Maurice Ewing (1960) ถึง Nicholas Shackleton (2005) ด้วยเงินรางวัล 250,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท) และยังได้ดินเนอร์เท่ห์ๆ (black-tie dinner) ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ถ้าดูจากเงื่อนไขรางวัลโนเบลที่ว่า “ประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ (the greatest benefit on mankind)” แล้ว คุณคิดว่านักธรณีวิทยาท่านใครควรที่จะได้รับรางวัลโนเบล? คำถามนี้น่าสนใจใช่มั้ยล่ะครับ
เนื้อหาเผยแพร่ครั้งแรก 14 ตุลาคม 2550 ลิงค์และข้อมูลในบทความนี้อาจไม่ตรงกับข้อมูลปัจจุบัน