[อัพเดท] วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2559 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในมหาสมุทรอินเดีย (ตามภาพประกอบ) มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ความลึก 24 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเกิดจากรอยเลื่อนเฉือนตามแนวระดับลักษณะเช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555
วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ.2555 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่สองครั้งขนาด 8.6 และ 8.2 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองบันดาอาเจะห์ประมาณ 430 กิโลเมตร แผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยและบนตึกสูงในกรุงเทพมหานคร ในช่วงแรกมีการประกาศเตือนภัยสึนามิ ก่อนที่จะยกเลิกในเวลาต่อมา
เหตุการณ์แผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวขนาด 8.6 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 15:38 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย สองชั่วโมงต่อมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ห่างจากตำแหน่งแรกไปทางใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง การไหวสะเทือนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนในหมู่เกาะสุมาตราต้องอพยพขึ้นสู่ที่สูงทันที เพื่อหลบหนีคลื่นสึนามิตามประกาศเตือนภัยของหน่วยงานราชการ พื้นที่เสี่ยงภัยสึนามินั้นได้รวมถึงบริเวณชายฝั่งอันดามันของประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดคลึ่นสึนามิขนาดใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2547 ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ได้ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย
เปรียบเทียบแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปีพ.ศ. 2547 กับ 2555
ความแตกต่างระหว่างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2547 (9.1) กับปีพ.ศ. 2555 (8.6) อยู่ที่ชนิดของรอยเลื่อนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผ่นดินไหว โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อปี 2547 นั้น เกิดจากรอยเลื่อนย้อนขนาดใหญ่ในเขตการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลียใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย การขยับตัวของรอยเลื่อนย้อนจะมีการยกตัวของพื้นมหาสมุทรอย่างฉับพลัน ทำให้มวลน้ำที่อยู่เหนือตำแหน่งรอยเลื่อนมีการกระเพื่อมเป็นคลื่นน้ำ ก่อนที่จะขยายเป็นวงกว้าง โดยคลื่นน้ำจะเพิ่มความสูงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ชายฝั่งในรูปแบบของคลื่นสึนามิ
แต่สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 เกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อนตามแนวระดับ ที่มีการเลื่อนทางด้านข้างเป็นหลัก การยกตัวของพื้นมหาสมุทรมีน้อยจนไม่สามารถก่อให้เกิดการกระเพื่อมของมวลน้ำได้มาก คลื่นน้ำที่เกิดขึ้นจึงมีขนาดเล็ก และไม่เป็นอันตราย รอยเลื่อนตามแนวระดับที่ขยับตัวนี้เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ภายในแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลีย แนวรอยเลื่อนมีการวางตัวในแนวเกือบเหนือใต้ตามทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลีย รอยเลื่อนตามแนวระดับกลางมหาสมุทรชนิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วแตกต่างกันตามส่วนต่างๆ ของเปลือกโลก โดยปกติบริเวณตามแนวรอยต่อของเปลือกโลกมหาสมุทรจะมีการเคลื่อนที่ไม่เท่ากันและจะฉีกขาดเป็นแนวรอยเลื่อนที่สามารถสังเกตได้จากแผนที่กลางมหาสมุทร
แม้ว่าแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 จะไม่ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ แต่การรีบอพยพขึ้นสู่ที่สูงทันทีหลังจากแผ่นดินไหวก็เป็นเรื่องที่ดีและควรกระทำ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ทันทีว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นจากรอยเลื่อนชนิดไหน ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลก่อนที่จะรู้ถึงตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวและชนิดของรอยเลื่อน ดังนั้นถ้าท่านที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยสึนามิรู้สึกได้ว่ามีแผ่นดินไหวรุนแรงกว่าปกติ ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงทันที โดยที่ไม่ต้องรอการประกาศจากทางการหรือรอสังเกตระดับน้ำทะเลก่อน
แผ่นดินไหว 8.6 ทำสถิติใหม่
แผ่นดินไหวขนาด 8.6 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 นี้ ถูกจัดว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนตามแนวระดับที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารอยเลื่อนตัวไหนกันแน่ที่เป็นสาเหตุ เนื่องจากตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่แสดงหลักฐานรอยเลื่อนบนพื้นผิวมหาสมุทร ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนที่ถูกปิดทับอยู่ใต้ชั้นตะกอนบนพื้นมหาสมุทรที่หนาเป็นกิโลเมตร
ข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับข้อมูลสนามแม่เหล็กที่แสดงแนวไม่ต่อเนื่องผ่านตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ข้อมูลความลึกของศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่คำนวณได้ยังช่วยบ่งบอกว่ารอยเลื่อนดังกล่าวอาจจะอยู่ใต้ชั้นเปลือกโลก เนื่องจากเปลือกโลกมหาสมุทรจะมีความหนาเฉลี่ย 6 ถึง 8 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้มีความลึกกว่า 23 กิโลเมตร ดังนั้นแผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในชั้นเนื้อโลกส่วนบนสุด (uppermost mantle) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งคล้ายเปลือกโลก ในทางธรณีวิทยาชั้นหินแข็งของเปลือกโลกและชั้นเนื้อโลกส่วนบนสุดจะถูกเรียกรวมกันว่าชั้นธรณีภาค (lithosphere) หมายถึงชั้นหินแข็งส่วนนอกสุดของโครงสร้างโลก มีความหนารวมกันตั้งแต่ 40 ถึง 200 กิโลเมตร
ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรอยเลื่อนและแผ่นดินไหวกลางมหาสมุทรน้อยมากเมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนบก แผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลียเป็นแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่ที่ยังคงยังไม่มีความชัดเจนในการแบ่งแผ่นเปลือกโลกอินเดียออกจากแผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย แม้ว่าทั้งสองแผ่นจะเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือเหมือนกัน แต่ก็มีอัตราการเคลื่อนที่แตกต่างกัน แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนั้นช่วยบ่งบอกว่ามีพลังงานสะสมอยู่ในบริเวณของรอยเลื่อนที่ถูกปิดทับอยู่ในชั้นใต้เปลือกโลก ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางธรณีฟิสิกส์มาช่วยในการแปลความหมาย นอกจากนี้เรายังได้ความรู้ว่าใต้แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรที่เรียกว่าชั้นเนื้อโลกส่วนบนสุดนั้นก็สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรได้เช่นกัน