สัมภาษณ์ — October 10, 2010 at 10:10 AM

นักวางแผนหลุมเจาะน้ำมันหญิงไทยที่ไซบีเรีย

by

siberia_iconกลับมาตามที่ได้สัญญากันไว้แล้วนะครับ คราวก่อนเราได้ไปสัมภาษณ์ชีวิตการเรียนธรณีของคุณหมีที่รัสเซียกันไปแล้ว คราวนี้เราเดินทางออกจากเมืองหลวงมอสโคมุ่งหน้าสู่ไซบีเรีย ไปตามติดชีวิตการทำงานของนักธรณีสาวสวย คนหนึ่งว่าเพราะเหตุใด เธอถึงเลือกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองไทย มาทำงานในสถานที่ที่ปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี ที่แม้แต่กองทัพนาซีเองก็แทบเอาชีวิตกลับไปไม่รอด ถ้าทุกท่านเตรียมเสื้อกันหนาวกันพร้อมแล้ว ผมขอเปิดประตูต้อนรับทุกคนสู่ดินแดนไซบีเรีย ณ บัด now

 

Q: สวัสดีครับ ก่อนอื่นช่วยแนะนำตัวหน่อยครับ ตอนนี้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร? oui_01

A: พี่ชื่ออุ๋ยค่ะ ตอนนี้ พี่เป็นที่ปรึกษา (consultant) ทำงานในตำแหน่งนักวางแผนหลุมเจาะน้ำมัน (well planner) ให้กับบริษัท Halliburton Eurasia ประจำอยู่ที่เมืองซาลิม (Salym) ในเขตไซบีเรียตะวันตกของประเทศรัสเซียค่ะ โดยทำงานร่วมกับ นักธรณีฟิสิกส์ และวิศวกรหลุมเจาะ ซึ่งบริษัท Halliburton เนี่ยเป็นบริษัทรับเหมา (subcontractor) งานจากบริษัทที่เป็นลูกค้า เช่น Chevron BP Shell เป็นต้น ในส่วนงานของพี่ก็ทำให้กับบริษัท Shell (Shell Petroleum Development) ค่ะ

Q: พี่เรียนจบทางด้านธรณีวิทยามาใช่ไหมครับ ทำไมถึงได้เลือกเรียนและมีความสนใจในด้านนี้

A: ใช่ค่ะ จริงๆ แล้วอยากเรียนเคมี แต่ตอนที่เลือกเมเจอร์นั้นเกรดไม่ถึงค่ะ ไม่เคยคิดสนใจในธรณีนะคะตอนนั้น แต่พวกรุ่นพี่ๆ สมัยนั้น เฮฮาและน่าเกรงขาม เราเห็นแล้วชอบมากๆ บันเทิงดี คิดเอาไว้ว่าถ้าเกรดไม่ถึงเคมี ธรณีนี่แหละ เราจะเลือก

Q: แล้วทำไมพี่ถึงได้ตัดสินใจเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาทำงานที่รัสเซียครับ
A: เงิน และ “โอกาส” ค่ะ..โอกาสที่ได้รับมาจากเจ้านายและเพื่อนๆ พี่ไม่เคยปฎิเสธมันค่ะ

Q: ช่วยเล่าเพิ่มเติมหน่อยได้ไหมครับว่า พี่ทำอย่างไรถึงได้ไปทำงานที่รัสเซีย และมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
A: พี่ทำงานอยู่ Halliburton ที่กรุงเทพฯ มานานแล้วค่ะ ประมาณ 8 ปีได้ ลาออก ตกงานอยู่ 8 เดือน ที่ได้มาทำงานเมืองนอกเนี่ย ไม่ได้สมัครค่ะ แต่เจ้านายเรียกตัวด่วนมาก ให้ไปทำงานที่เมืองบากู (Baku) สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน (Republic of Azerbaijan) เมื่อปี ค.ศ.2004 งานนี้พี่ไม่ได้เตรียมตัวเลยค่ะ “หัวใจพร้อมลุยเต็มร้อย” ในเมื่อนายเมตตามากและเชื่อใจว่าพี่ทำได้ ลุยเลยค่ะ ไปแบบไม่รู้ว่า บากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน อยู่ที่ไหนของแผนที่โลก รู้แต่ว่า เป็นเมืองแขกขาว และเคยเป็นเมืองขึ้นของรัสเซียมาก่อน พออยู่มาได้่อาทิตย์ที่สอง (in Baku 2004) เป็นอีสุกอีใสค่ะ พวกคนที่นี่ (Azeri) ไม่รู้จัก มันนึกว่าเป็นเอดส์ ถึงขั้นอัญเชิญเราออกจากโรงแรมง่ะ

Q: ไม่ทราบว่าตอนนี้มีนักธรณีไทยคนอื่นที่ทำงานในรัสเซียอีกหรือไม่ครับ?
A: พี่ได้ยินมาว่า ตอนนี้ก็มีนักธรณีฟิสิกส์หญิงจำนวนหนึ่งทำงานอยู่ที่คาซัคสถานนะคะ

oui_02Q: แล้วชีวิตความเป็นอยู่ที่รัสเซียเป็นอย่างไรบ้างครับ
A: ก็ดีค่ะ มีอาหารรัสเซียที่ไม่ถูกปาก ให้ทานสามมื้อ ซึ่งฟรีทั้งหมด รวมถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เสื้อผ้าเค้าก็ซักให้ ไม่มีปัญหาด้านรถติด ไม่มีที่ Shopping และห้ามเครื่องดื่มแอลกออลค่ะ

Q: ลักษณะการทำงานของที่นั่นเป็นอย่างไรครับ มีความแตกต่างจากที่ไทยมากน้อยเพียงไรครับ
A: การทำงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับบริษัทลูกค้าเป็นสำคัญค่ะ ว่าเค้าต้องการอะไร แต่ละบริษัทจะมีข้อกำหนด (Policy & Practice) ที่ไม่เหมือนกัน ถ้าถามว่าทำงานที่นี่ (ไซบีเรีย) เป็นอย่างไร ขอตอบว่า ดีมากและชอบมากค่ะ เนื่องจากลูกค้าไม่จู้จี้มากเท่าไหร่ โดยรวมแล้วก็ไม่แตกต่างจากที่เมืองไทยมากนะคะ ลักษณะหลุมเจาะจะคล้ายๆกัน เพียงแต่แท่นเจาะของที่นี่อยู่บนบก (Land Rigs) แต่ของเมืองไทย ส่วนมากอยู่ในทะเล (Offshore Rigs)

Q: ความรู้ที่ได้เรียนมานั้นได้นำมาประยุกต์ใช้และมีความเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันมากน้อยเพียงใดครับ oui_03
A: 20% ประมาณนั้นค่ะ คือพอจะเข้าใจว่านักธรณีเค้าพูดอะไรกัน เช่น reservoir formation, fault trap เป็นต้น จริงๆ งานที่ทำอยู่เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ตรีโกณมิติง่ายๆ ขั้นพื้นฐานพวก Sin Cos Tan แต่สมัยเรียนพี่ได้ F วิชาแคลคูลัสถึง 8 ครั้ง เกลียดอย่างไร หนีไม่พ้นอย่างนั้นจริงๆ โชคดีที่มีโปรแกรมที่ใช้ในการคำนวณสำหรับงานที่ทำอยู่ค่ะ ซึ่งเป็นโปรแกรมเฉพาะของบริษัทค่ะ

แต่ส่วนใหญ่แล้วความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้นำมาใช้ในการทำงานจริงๆ นั้น ได้รับการถ่ายทอดมาจากการเข้าไปพูดคุย พบปะและสังสรรค์กับพวกรุ่นพี่และเพื่อนๆ ทั้งหมดเลยค่ะ แม้แต่งานที่เคยทำและทำอยู่ก็ได้มาจากการแนะนำของพวกรุ่นพี่และเพื่อนทั้งนั้น เพราะฉะนั้น “การทำกิจกรรมและเข้าสังคมบ้างก็มีประโยชน์” นะคะ สำหรับตัวพี่เองไม่แปลกใจเลยว่า “ความรู้นอกห้องเรียน” ที่พี่ได้รับมาจากตรงส่วนนี้ ตลอดระยะเวลาสี่ปีครึ่งที่พี่เรียนอยู่นั้น ได้นำมาใช้ในการทำงานเกินร้อยเปอร์เซ็นต์เลยค่ะ

Q: การทำงานมีอุปสรรคทางด้านใดบ้างครับ เพศและภาษาเป็นอุปสรรคในการทำงานมากน้อยเพียงใด
A: “การเป็นผู้หญิงไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเลยค่ะ” กลับดีซะอีก ตำแหน่งที่พี่ทำ สมควรจะเป็นผู้หญิงนะคะ เพราะจะได้ลดความกดดันระหว่างนักธรณีกับวิศวกร เพราะสองแผนกนี้เค้าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอดเวลา เรานั้นดั่งเสมือนนั่งทำงานกลางสมรภูมิเลือด เรื่องภาษาก็เคยเป็นอุปสรรคค่ะ เมื่อห้าปีที่แล้วสมัยที่ทำงานอยู่ที่ Nizhnervatovsk ซึ่งห่างจากที่นี่ไปอีก 7 ชั่วโมงโดยรถยนต์ เนื่องจาก ทั้งนักธรณีและวิศวกรพูดแต่ภาษารัสเซีย ไม่เน้นภาษาอังกฤษเลยค่ะ ตอนนั้นต้องทำงานกับล่าม และก็มีผู้ช่วยชาวรัสเซียอีกหนึ่งคนค่ะ แต่ตอนนี้ ภาษาไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ค่ะ เนื่องจากทุกคนพูดอังกฤษ ได้ค่ะ

 

“การเป็นผู้หญิงไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเลยค่ะ” กลับดีซะอีก ตำแหน่งที่พี่ทำ สมควรจะเป็นผู้หญิงนะคะ เพราะจะได้ลดความกดดันระหว่างนักธรณีกับวิศวกร เพราะสองแผนกนี้เค้าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันตลอดเวลา

 

Q: พี่ได้ประสบการณ์อะไรกลับมาบ้างครับตลอดระยะเวลาการทำงานที่ประเทศรัสเซีย
A: คงเป็นเรื่องของการทำงานที่ได้ความรู้ในเชิงลึกมากขึ้นในสายงานที่ทำ อีกเรื่องคือการปรับตัว การดำรงชีวิตในต่างบ้านต่างเมือง และการใช้ชีวิตกับ “คน” บนโลกใบนี้ค่ะ ประสบการณ์ต่างๆ พวกนี้ ไม่มีขาย ต้องเจอด้วยตัวเอง พอเจอแล้ว ขอยืนยันฟันธงว่า ไม่มีที่ใดที่สุขใจ และสบายเท่าอยู่เมืองไทยค่ะ พี่ต้องขอขอบคุณ เจ้านายที่ประเทศอาเซอร์ไบจานมา ณ ที่นี้ด้วย ที่เปิดโอกาสให้พี่ได้ “โกอินเตอร์” ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 พอถึงปี 2005 พี่ก็ได้ย้ายไป Nizhnervatovsk ประเทศรัสเซียและอยู่ที่นั่นหนึ่งปีครึ่ง จากนั้นก็ย้ายกลับมาที่บากู ประเทศอาเซอร์ไบจันอีกครั้งในปี 2006 และอยู่ที่นั่น จนกระทั่งสิ้นปี 2008 ก็ย้ายกลับมาที่ไซบีเรียอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ที่เมืองเดิม

oui_06จะเห็นว่าพี่ไปมาอยู่สองประเทศนี้ค่ะ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้พี่รักเมืองไทย รักในหลวง และภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้นอีกล้านเท่า อันนี้ไม่ได้เว่อร์!!! แน่ใจว่าถ้าไม่ได้อยู่ต่างประเทศ คงไม่รักชาติเท่านี้ คนรัสเซียเป็นชาติที่ฉลาดชาติหนึ่ง และก็งี่เง่าที่สุดชาติหนึ่งเช่นกัน จากการที่เค้าเป็นคอมมิวนิสต์มานานน่ะคะ ทำให้ไม่ค่อยไว้วางใจผู้อื่น ไม่ยิ้ม และไม่ยืดหยุ่นค่ะ ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ

Q: พี่อุ๋ยครับ หากน้องๆ สนใจที่จะไปทำงานในรัสเซีย ควรมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ มีข้อจำกัดในเรื่องเพศและระดับการศึกษาหรือไม่ และโอกาสที่นักธรณีไทยจะโกอินเตอร์ไปทำงานที่นั่นมีมากน้อยเพียงใด
A: เตรียมใจก็พอมั้งคะ ใจพร้อมเนี่ย “ไม่ว่าที่ไหนๆ นักธรณีไทยบ่ยั่น” แน่นอนค่ะ “เพศและการศึกษาหาได้มีอุปสรรคไม่” ถ้าจะทำงานที่นี่ (รัสเซีย) ต้องตรวจเลือดหา “HIV” ค่ะ สำหรับการขอวีซ่าทำงาน

Q: สุดท้ายนี้พี่อุ๋ยมีอะไรจะฝากถึงน้องๆ นักศึกษาธรณีที่กำลังจะจบการศึกษา เกี่ยวกับการเตรียมตัวสมัครงานบ้างไหมครับ?
A: บอกตรงๆ นะคะ ตอนจบใหม่ๆ ก็ยังหลงทางค่ะ หาตัวเองไม่เจอ กว่าจะหาตัวเองเจอก็ทำงานมาแล้วสิบปี ดังนั้นพี่ขอฝากง่ายๆ สั้นๆ นะค่ะ

  • “เพื่อนและพี่” คือแหล่งงานที่ดีที่สุด ที่มีอยู่รอบตัวนะคะ ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ถามเลยค่ะ แต่อย่าคาดหวังว่าพี่ต้องช่วยเสมอ
  • ช่วยตัวเราเองก่อน ร่อนใบสมัครไปทุกที่นะคะ เขียนสั้นๆ ใบเดียว พร้อมรูปสวยงาม สร้างจุดสนใจในใบสมัครด้วยยิ่งดีค่ะ
  • “ภาษาอังกฤษ” จำเป็นมากนะคะ พยายามให้พอสื่อสารได้ก็พอค่ะ
  • ต้องมีใจรักค่ะ

ก็ต้องขอขอบคุณพี่สาวคนสวยของเรานะครับที่สละเวลา มาเล่าประสบการณ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ที่ประเทศรัสเซีย หวังว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้คงเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ นักศึกษาและนักธรณีรุ่นใหม่ไฟแรงอีกหลายคนที่มีความใฝ่ฝันอยากไปตกระกำลำบาก เอ้ย ไม่ใช่สิ ที่อยากมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ ได้มุมานะพยายามในการตามล่าฝันของตัวเอง เมื่อกายพร้อม ใจพร้อมแล้ว “อย่าลืมฝึกฝนเรื่องภาษา” อย่างที่พี่อุ๋ยได้เน้นย้ำไว้ด้วยนะครับ..gneiss