วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:46 ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น โดยวัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 9.0 Mw มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ โทโฮะกุ ลึกลงไปใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร จากแรงสั่นสะเทือนที่วัดได้ นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเป็นอันดับสี่ของโลกเท่าที่มีการบันทึกได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2443
โดยเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวได้เคลื่อนเกาะฮอนชูไปทางตะวันออก 2.4 เมตร และเคลื่อนแกนหมุนของโลกไปเกือบ 10 เซนติเมตร ตามข้อมูลของสถาบันธรณีฟิสิกส์และภูเขาไฟวิทยาแห่งชาติของอิตาลี แผ่นดินไหวดังกล่าวได้ย้ายตำแหน่งแกนโลกไป 25 เซนติเมตร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกเล็กน้อยหลายอย่าง รวมไปถึงความยาวของวันและความเอียงของโลก อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้วันหนึ่งสั้นลง 1.8 ไมโครวินาทีเนื่องจากการกระจายมวลของโลกใหม่
แผ่นดินไหวดังกล่าวยังก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น และเป็นสาเหตุทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 และ 2 ถูกคลื่นสึนามิซัดข้ามกำแพงและทำลายระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรอง จึงเกิดปัญหาในการลดความร้อน และทำให้เกิดระเบิด 2 ครั้งที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ 1 และทำให้กัมมันตภาพรังสีในบริเวณรอบข้างมีระดังสูงขึ้น ประชาชนกว่า 200,000 คนในบริเวณใกล้เคียงต้องอพยพหนี
จากเหตุการณ์นี้ ธนาคารโลกประมาณการความเสียหายระหว่าง 122,000 ถึง 235,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศว่ามูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิอาจมีมูลค่าสูงถึง 309,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวีตไม่ต่ำกว่า 9,408 ราย สูญหาย 14,716 คน ได้รับบาดเจ็บ 2,746 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกจำนวนมาก
คุณ ภัณฑิรา รัตนกิจ หรือ จุ๊บ นักธรณีวิทยาหญิงของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (มหาชน) หรือ ปตท.สผ คือหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ หลังจากได้รับมอบหมายให้ไปอบรมเฉพาะทาง ด้านนักธรณีวิทยาสำรวจที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ภัณฑิราจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนกำหนด ทันทีที่กลับมาทีมงาน GeoThai.net จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ทางอีเมลถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้
พี่จุ๊บเดินทางไปทำอะไรที่ประเทศญี่ปุ่นครับ?
“พี่มีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดชิบะ อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าอบรมหลักสูตรนักธรณีวิทยาสำรวจ (Exploration Geologist) ที่ศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีของหน่วยงาน Japan Oil, Gas and Metals National Corporation หรือ JOGMEC-TRC ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของรัฐบาลญี่ปุ่นกับนานาขาติค่ะ หลักสูตรระยะเวลาประมาณ 3 เดือนนี้มีหลายประเทศเข้าร่วมนะ ปีนี้มี 19 คนจาก 19 ประเทศ พี่เป็นนักธรณีวิทยาตัวแทนของปตท.สผ จากประเทศไทยค่ะ”
ขอพี่จุ๊บลองเล่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาหน่อยครับ ว่าตอนนั้นพี่ทำอะไรอยู่ และเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วพี่ปฏิบัติตัวอย่างไร?
“ในวันนั้นพี่กำลังเรียนที่ศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) ของ JOGMEC ซึ่งอยู่ใกล้ที่พักเลย ตัวพี่เองกับเพื่อนๆ กำลังทำ workshop เกี่ยวกับการลำดับชั้นหิน (sequence stratigraphy) กันอยู่ ตอนแรกพี่เองมีความรู้สึกว่าตัวมันลอยๆ พื้นมันแกว่งๆ พี่ก็หันไปถามเพื่อนว่า รู้สึกอะไรกันมั๊ย เพื่อนก็ยังแซวพี่เล่นอยู่เลยว่า “Wake up Jubby!!” พี่ก็โอเค ไม่ได้คิดไรมาก”
“แต่ว่าหลังจากนั้น ไม่ถึง 10 นาที ทีนี้มาเต็มๆ เลย… แผ่นดินไหวแรงมาก ผนังห้องนี่สั่นสะเทือน โยกไปโยกมา โคลงเคลง ชัดมากๆ ความรู้สึกตอนนั้น พี่ว่าเหมือนเราอยู่บนเรือแล้วคลื่นซัดเข้ามาจังๆ พี่ก็เริ่มเวียนหัวนะ แต่ว่าทางอาจารย์ที่สอน และเจ้าหน้าที่ของ JOGMEC ก็พยายามบอกให้พวกเราอย่าเคลื่อนที่ ให้อยู่นิ่งๆ ก่อน แล้วก็ให้เรามุดลงใต้โต๊ะ เหมือนที่เคยซ้อมอพยพแผ่นดินไหวในชั่วโมงแรกที่มาเรียนที่นี่…”
“ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่เค้าคาดการณ์ไว้ มันเริ่มรุนแรงมากขึ้น ฝ้าเพดาน หลอดไฟ ตกลงมา บวกกับพื้นก็สั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ ในใจพี่ก็คิดนะว่า เฮ้ย ตึกถล่มแน่ๆ ทำไงดี สัญชาตญาณมันบอกให้วิ่ง…พวกเราตัดสินในวิ่งหนีกันออกมา นอกอาคาร เพื่อความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ของ JOGMEC คอยดูแลอย่างดีเยี่ยม ข้างนอกอากาศหนาวมากๆ ผู้คนเริ่มแตกตื่นรวมทั้งคนญี่ปุ่นเอง เค้าก็ตกใจมากๆ นะ พี่มองกลับขึ้นไปบนห้องเรียน เห็นตึกที่เรียนอยู่ โยกๆ เอนๆ ใจหายเลย ท่อประปาบริเวณอาคารก็แตก ถนนแยกออกเป็นสองฝั่ง มีของเหลวเหมือนน้ำโคลนจากใต้ดินพุ่งขึ้นมา เหมือนในหนังเด๊ะเลย… “
พี่จุ๊บรู้สึกอย่างไรตอนเกิดแผ่นดินไหว และหลังจากแผ่นดินไหวมีแผนการอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือตัวเอง?
“ตอนที่แผ่นดินไหวแรงๆ พี่กลัวนะ กลัวมากทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วและแรงมากจนเราไม่ทันได้ตั้งสติ ไม่ทันคิดว่าต้องทำยังไงบ้าง มัวแต่ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่โชคดีที่ทางเจ้าหน้าที่ของ JOGMEC ดูแลพวกพี่และแนะนำการเอาตัวรอดให้พวกเราเป็นอย่างดี บวกกับที่มีการซ้อมรับมือกับแผ่นดินไหวไว้ตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว”
“หลังจากเกิดแผ่นดินไหว คนส่วนใหญ่ค่อนข้างตกใจและก็กังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพอเราออกมานอกตึกไม่นาน สัญญาณโทรศัพท์ ไฟฟ้า ทุกอย่างโดนตัดหมดเลย ทุกคนที่นั่นพยายามติดต่อกับคนในครอบครัว แต่ก็ทำไม่ได้ พี่ได้ยินแต่เสียงรถฉุกเฉิน เห็นเฮลิคอปเตอร์บินบนท้องฟ้า สิ่งเหล่านี้เลยทำให้พวกเรารู้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง ตัวพี่เองก็พยายามติดต่อกับพ่อแม่ ครอบครัว เพื่อนสนิท ที่เมืองไทยเหมือนกัน และก็พยายามให้กำลังใจตัวเองนะ ว่าเอาน่า ไม่เป็นไรๆ และก็หวังว่าคงไม่มีอะไรร้ายแรงไปกว่านี้ บรรยกาศตอนนั้นมันหดหู่มากๆ อาจจะเป็นเพราะมันไม่ใช่บ้านเมืองเราด้วย พอเจอเรื่องแบบนี้ พี่ยอมรับเหมือนกันว่าค่อนข้างเครียด แล้วก็เป็นครั้งแรกที่พี่คิดถึงบ้านมาก และอยากกลับเมืองไทยตอนนั้นเลย..”
ช่วยบรรยายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวของเมืองที่อาศัยอยู่ และเล่าถึงความลำบากให้ฟังหน่อยครับ?
“หลังจากเกิดเหตุ 2 วัน พี่ถึงกล้าเดินออกไปสำรวจรอบๆ นอก เมืองที่พี่อยู่เสียหายค่อนข้างเยอะนะคะ ถึงแม้ว่าไม่ได้มากขนาดตึกถล่ม แต่ว่าระบบขนส่ง พี่หมายถึงรถไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของชาวญี่ปุ่นที่ใช้ในการเดินทาง หยุดให้บริการหมดเลย เสียหายหมดเลย คนจำนวนมากก็กลับบ้านไม่ได้ บางคนเลือกที่จะเดิน บางคนก็ต้องเสียเวลานอนรอ เพื่อที่จะกลับบ้าน พื้นดิน พื้นถนนทรุดเสียหาย รวมถึงตัวอาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ได้รับความเสียหายไปตามๆ กัน เสาไฟฟ้าล้ม สะพานลอยหัก ท่อประปาชำรุด ฯลฯ “
“สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ก็มีการขัดข้องในเรื่องของไฟฟ้า มีการตัดไฟฟ้าบางช่วงเวลา รวมถึงเรื่องของอาหาร เริ่มหาของกินยากขึ้น ร้านค้าปิดหมด ทางโรงอาหารก็เตรียมหาซื้ออาหารไม่ทัน แต่โชคดีที่พวกเรายังมีข้าวกล่องกินกัน ..”
พี่สังเกตคนญี่ปุ่นว่าเขารู้สึกหรือมีความเห็นกันอย่างไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้?
“พี่ได้คุยกะเพื่อนชาวญี่ปุ่น เค้าค่อนข้างตกใจกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้มากนะคะ เพราะว่าในชีวิตเค้าเอง เค้าก็บอกว่าครั้งนี้รุนแรงที่สุด ยิ่งพอเรารับรู้ข่าวสารว่าเกิดสึนามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด พี่ว่ามันเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ที่เกิดขึ้นประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ และสภาพจิตใจของคนในประเทศ เค้าเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะ เราสัมผัสได้เลย”
การรับมือของคนญี่ปุ่นรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่นั่นเป็นอย่างไร เขามีการเตรียมการแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง มีการซ้อมหรือให้ความรู้ประชาชนอย่างไรครับ?
“การรับมือของคนญี่ปุ่นหรือว่าหน่วยงานที่นี่ ต้องบอกว่ายอดเยี่ยมค่ะ ทุกคนรับผิดชอบและทำหน้าทีของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม เป็นภาพที่พี่เองไม่คิดว่าจะเห็นเหมือนกัน ช่วงเวลาที่พวกเราวิ่งหนีเอาตัวรอดกันออกจากตึก เชื่อมั๊ยว่าคนญี่ปุ่นต่อคิวกันวิ่งลงบันได โดยไม่มีการชุลมุน หรือโกลาหลเกิดขึ้นเลย พี่ว่าแต่ละคนเค้ามีวินัยในตนเองสูงมากๆ พอเราออกมานอกอาคารสิ่งที่พี่เห็นคือ ช่างประปาซ่อมท่อประปาในขณะที่แผ่นดินยังไหวอยู่เลยนะ ช่างดูแลตัวอาคารตรวจสอบรอบๆ ตัวตึก ดูรอยร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้สนใจเลยว่าตัวเองจะเป็นอันตรายรึเปล่า พี่ชื่นชมในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของคนญี่ปุ่นมากๆ”
“ในช่วงเวลาที่พี่เดินออกไปสำรวจรอบๆ เมืองเจ้าหน้าที่ของเค้าช่วยกันเต็มความสามารถเพื่อที่จะซ่อมถนน ซ่อมรางรถไฟ ทุกอย่างมันกลับสู่สภาพเดิมเร็วได้อย่างรวดเร็วมากๆ ซึ่งไม่คิดว่าบ้านเมืองเค้าจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากขนาดนี้ พี่ยกย่องในจุดนี้มากๆ ค่ะ”
“ส่วนเรื่องการซ้อมหรือให้ความรู้ประชาชน เค้าทำได้อย่างน่าเหลือเชื่อนะ อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเค้าเจอกับภัยธรรมชาติแบบนี้มานับไม่ถ้วน เลยทำให้เค้าเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ในห้องนอนพี่เองก็มีพร้อมทุกอย่าง หมวกนิรภัย ไฟฉาย ผ้าห่ม เพื่อเตรียมพร้อมอพยพช่วงเกิดแผ่นดินไหว ข่าวสารเทคโนโลยีเร็วมาก คือหลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ มันยังมีแผ่นดินไหวตาม (after shock) มาเรื่อยๆ เป็นระยะๆ เลย แทบจะไม่หยุด แต่ระบบสื่อสารมวลชนที่นี่สุดยอด เค้าสามารถเช็คได้แทบจะ real time ว่าจุดศูนย์กลางอยู่ที่ไหน มีความรุนแรงเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่เช็คทางอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ รถไฟสายไหนหยุดให้บริการ เค้าเช็คได้เร็วมาก และที่สำคัญ ข้อมูลถูกต้องและแม่นยำมาก!!”
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สอนหรือทำให้เราได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวอย่างไรบ้างครับ?
“พี่ต้องขอบคุณเหตุการณ์ครั้งนี้มากๆ ค่ะ มันเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิตของพี่เอง และมั่นใจว่าพี่ไม่มีวันลืมเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เลย ตัวพี่เองขนาดเป็นนักธรณี ซึ่งก็เคยพอได้เรียนรู้มาบ้างกับแผ่นดินไหว ยังทำอะไรไม่ถูกเลย เพราะเราเคยได้แต่อ่านในตำราไม่เคยมาสัมผัสกับความรู้สึกจริงๆ แบบนี้ สิ่งที่พี่ได้รับมันมากกว่าการวิ่งหนีเอาตัวรอด มันมีมิตรภาพที่หาซื้อไม่ได้แฝงอยู่ในนั้น หลายครั้งพี่ว่าคนเราก็ใช้ชีวิตอย่างประมาทนะ รวมถึงตัวพี่เองด้วย รู้เลยว่าสติสำคัญมากๆ กับการเอาตัวรอดในช่วงเวลาคับขันแบบนี้ รวมถึงกำลังใจที่ดีๆ จากครอบครัว จากคนรอบข้าง ทำให้พี่หายเครียดไปได้เยอะเลย ^^ เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดขึ้นแล้วค่อยมาแก้ไข การเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่างหากที่พี่ว่าสำคัญยิ่งกว่า ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันแก้ไขอะไรไม่ได้ เราต้องยอมรับ และเรียนรู้เป็นประสบการณ์ และยังไงก็ต้องก้าวต่อไป พี่เองขอส่งกำลังใจให้ประเทศญี่ปุ่นผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็วค่ะ”
สุดท้าย มีอะไรฝากถึงชาว GeoThai.net เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาเช่นนี้บ้างครับ?
“อยากให้ทุกคนได้มีประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ร่วมกันค่ะ อ่ะ..ล้อเล่น!!”
“จริงๆ แล้วแผ่นดินไหวมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด อย่างที่เราพอทราบๆ กัน มันไม่ได้น่ากลัวทุกครั้งไป พวกเราในฐานะนักธรณีวิทยา สิ่งที่พอทำได้คือ ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับชาวบ้าน หรือว่าคนที่เค้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้เค้าเหล่านั้นได้รู้จักและเข้าใจเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาเช่นนี้อย่างถูกต้อง รวมถึงวิธีในการรับมือ การป้องกัน และที่สำคัญ จะได้ไม่ต้องถูกหลอก ไม่ต้องตื่นตระหนก หรืองมงายมากเกินความจำเป็นค่ะ” ..gneiss
ภาพประกอบเนื้อหาโดย ภัณฑิรา รัตนกิจ