พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ – บทส่งท้าย

by

ความรู้และประวัติโครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
บันทึกโดย ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล ผู้อำนวยการโครงการฯ

“ระเบิดหินแกะสลักลายเส้นพระพุทธรูปฯ เป็นปฐมฤกษ์”

ก่อนที่จะมีการแกะสลักลายเส้นองค์พระอย่างจริงจังด้วยวิธีระเบิด (ไม่ได้ใช้แสงเลเซ่อร์แกะสลักอย่างที่หลายท่านเข้าใจ)

ในวันพุธที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๙ถือเป็นฤกษ์ดีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกดปุ่มระเบิดหินแกะสลักลายเส้นพระพุทธรูปฯเป็นปฐมฤกษ์ การระเบิดปฐมฤกษ์ครั้งนี้ได้กระทำ ๓ จุดพร้อมกันคือบริเวณพระเศียรและปลายฐานบัวทั้งสองด้าน แต่รูปถ่ายช้าไปนิดนึง จึงเห็นควันลอยสูงขึ้นไปอยู่ด้านข้างขององค์พระฯแล้ว

ภาพจากจดหมายเหตุการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์“พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา”
ภาพจากจดหมายเหตุการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์“พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา”

การแกะสลักลายเส้นรูปองค์พระ (Buddha Carving)

และแล้วก็ถึงจุดไฮไล้ท์ได้ลงมือระเบิดแกะสลักเสียที ที่หลายๆท่านพากันเข้าใจผิดคิดว่าพระหนาผาเขาชีจรรย์นี้ใช้แสงเลเซ่อร์ยิงเข้าไปสกัดเนื้อหินให้เป็นลายเส้น ความจริงเป็นเช่นไร ขอท่านได้ติดตามมาเลยครับ

หลังจากการระบายสีลายเส้นตามแสงเลเซ่อร์รูปองค์พระเสร็จสมบูรณ์แล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของการแกะสลักลายเส้นด้วยการระเบิดให้เป็นร่องลายเส้นที่มีขนาดความหนาของเส้น (ความกว้างของร่อง) ตั้งแต่ 0.50-1.50 เมตร และเป็นร่องลึก 0.25-0.75 เมตร

แต่เมื่อได้ลองระเบิดแกะสลักองค์พระบางส่วนบนหน้าผาจริงตามแบบแล้ว เมื่อเงยหน้ามองจากพื้นดินขึ้นไปบนหน้าผาแล้วพบว่ามองไม่เห็นลายเส้นนี้เลย มันกลืนกันไปหมด  จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขแบบและทดลองลายเส้นหลายๆขนาดจนพบว่าลายเส้นที่เหมาะสมสวยงามนั้นไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มากนัก มีขนาดเพียงประมาณ 0.30-0.50 เมตร และร่องก็ไม่ต้องลึกมาก เพียงประมาณ 0.10 เมตร  แล้วถมร่องนี้ให้นูนด้วยปูนซีเมนต์โดยการพ่นซีเมนต์ที่รู้จักและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ช้อตกรีต”(Shotcrete) นั่นเอง ก็เพียงพอแล้ว

ดังนั้นเมื่อขนาดลายเส้นมีขนาดเล็กลงมาก วิธีการแกะสลักลายเส้นเลยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากวิธีเจาะระเบิดล้วนๆอย่างเดียว จะต้องเอาวิธีอื่นมาผสมด้วยคือเอาวิธีตัดหินด้วยเครื่องเลื่อยคอนกรีต (ทั้งระบบไฟฟ้าและระบบลม) กับวิธีระเบิดมาประกอบกัน โดยใช้เครื่องเลื่อยคอนกรีตตัดขอบเส้น (ภาพด้านล่างซ้าย) เพื่อให้ลายเส้นที่คมชัด แล้วเจาะรูระเบิดตรงกลาง (ภาพด้านล่างขวา) ตามความหนาของเส้น แล้วจึงระเบิดออกให้เป็นร่องที่เส้นขอบที่คมชัดตามต้องการ

GT_Dacha-6b

หน้าพระไม่สวย

การระเบิดให้เป็นร่องลายเส้นได้เริ่มกระทำจากจุดสูงสุดที่ปลายเศียรพระลงมาและมีความคืบหน้าเป็นลำดับ จนวันหนึ่งเมื่อแกะสลักถึงไหล่พระฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จโดยเฮลิค้อปเต้อร์พระที่นั่งเพื่อมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน้าผาเขาชีจรรย์

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระองค์ให้”ฮ” บินวนมาที่หน้าผาฯเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการฯ  “ฮ”พระที่นั่งบินวนสักพัก  มีคนมาแจ้งให้ทราบว่าพระองค์ได้มีกระแสพระราชดำรัสผ่าน “ว”  (walkie talkie) ลงมายังพวกเราที่รับเสด็จอยู่เบื้องล่างว่า

“หน้าพระไม่สวย”

ท่านอาจารย์กนก บุญโพธ์แก้ว(รองอธิบดีกรมศิลปากร ในสมัยนั้น) ผู้รับผิดชอบความสวยงามของลายเส้นองค์พระ “งานเข้า” ต้องเขียนแบบแก้ไขรูปหน้าพระขึ้นมาใหม่ ส่วนทีมผมต้อง “ลบ” หน้าพระฯโดยการระเบิด “ปลอกเปลือก” ผิวหินที่เป็นร่องลายเส้นออก เพื่อจะได้ขึ้นรูปลายเส้นหน้าพระใหม่เมื่อท่านอาจารย์กนกฯทำการแก้ไขลายเส้นเสร็จแล้ว

GT_Dacha-6c

โมเสคทองคำแท้จากอิตาลี

เมื่อระเบิดออกให้เป็นร่องที่มีเส้นขอบที่คมชัดตามต้องการแล้ว จากนั้นทำการปิดทับถมร่องด้วยวีธีพ่นคอนกรีต (Shotcreting)ให้เต็มร่องและนูนขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อให้สามารถสังเกตุเห็นได้ง่ายขึ้นตามพระราชวินิจฉัยในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แล้วใช้โมเสคทองคำแท้จากอิตาลีซึ่งเป็นชนิดเดียวกันและผลิตจากโรงงานเดียวกันกับที่ใช้กับองค์เจดีย์วัดพระแก้วและบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมมหาราชวังและซื้อมาในราคา ๙๙๙ ล้านลี (ประมาณ ๑๘.๕๘ ล้านบาท) ปิดทับตามรอยเส้นที่ถมนูนขึ้นมานี้ให้ปรากฏเห็นเป็นลายเส้นสีทองของรูปองค์พระงดงามบนหน้าผาเขาชีจรรย์

GT_Dacha-6d

พระเนตรดำด้วยนิล

ขั้นตอนเกือบสุดท้ายของการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักฯเป็นการติดตั้งพระเนตรดำด้วยนิลดำที่ได้รับการบริจาคจากคณะผู้มีจิตศรัทธานำโดยคุณนิภา คงสุขและคณะ  โดยเจียระไนนิลดำให้เป็นรูปโมเสคจำนวน ๑๖๗๘ ชิ้น เผื่อสำรอง(ประมาณ ๑๕ %) ๒๕๐ ชิ้น รวมเป็นนิลดำสำหรับติดตั้งพระเนตรดำทั้งหมด ๑๙๒๘ ชิ้น ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานการติดตั้งพระเนตรดำนี้ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ และจะมีพิธีเบิกพระเนตรในโอกาสต่อไป

ภาพซ้าย โมเสคนิลสำหรับติดตั้งบนพระเนตรดำขององค์พระฯ  ภาพขวา ขณะกำลังติดตั้งที่พระเนตรดำ
(ภาพซ้าย) โมเสคนิลสำหรับติดตั้งบนพระเนตรดำขององค์พระฯ (ภาพขวา) ขณะกำลังติดตั้งที่พระเนตรดำ

 

การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเบิกพระเนตร

และแล้วก็มาถึงขั้นตอนท้ายสุดของการโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์

เพื่อให้องค์พระศักดิ์สิทธิ์และสมบรูณ์  ในวันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ จึงได้มีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และทรงอัญเชิญโดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกมาประดิษฐานยังบุษบกไม้สักทองก่อนที่สมเด็จพระสังฆราชฯจะถือสายสูตรอัญเชิญขึ้นตามลวดสลิงที่ได้กำลังพลจากฐานทัพเรือสัตหีบมาช่วยกันดึงขึ้นไปประดิษฐานยังพระอุระ(หน้าอก)เบื้องซ้ายขององค์พระฯ จากนั้นพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากวัดทั่วประเทศสวดเจริญชัยมงคงคาถาและสวดมนต์เบิกพระเนตรตามลำดับ

ณ บัดนี้ การจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์

“พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” ได้ดำเนินการเสร็จสมบรูณ์แล้ว

ภาพซ้ายบน        พระบรมสารีริกธาตุถูกบรรจุในโถศิลาซึ่งประดิษฐานในพระอุระพระพุทธมหาวชิรอตตโมภาส ศาสดา ภาพซ้ายล่าง       สมเด็จพระสังฆราชฯทรงถือสายสูตรอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานยังพระอุระ ภาพขวา           พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในบุษบกไม้สักทองถูกดึงขึ้นมาตามสายสลิง
ภาพซ้ายบน พระบรมสารีริกธาตุถูกบรรจุในโถศิลาซึ่งประดิษฐานในพระอุระพระพุทธมหาวชิรอตตโมภาส ศาสดา
ภาพซ้ายล่าง สมเด็จพระสังฆราชฯทรงถือสายสูตรอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานยังพระอุระ
ภาพขวา พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานในบุษบกไม้สักทองถูกดึงขึ้นมาตามสายสลิง

บทส่งท้าย (Last but not Least)

เนื่องจากลักษณะงานของโครงการฯนี้ค่อนข้างพิเศษ และมีความเสี่ยงภัยสูง ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาทางด้านเทคนิคจึงมีมากเป็นธรรมดา นอกจากนี้ปัญหาทางภัยธรรมชาติเรื่องพายุฝน ช่วงระหว่างเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 ที่มีมากจนผิดปกติของพื้นที่บริเวณนั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีผลกระทบต่อโครงการฯมาก แต่การดำเนินการของโครงการฯ ก็ผ่านไปได้ค่อนข้างดี เนื่องด้วยความช่วยเหลือและร่วมมือของทุกๆฝ่ายซึ่งต้องขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้  อันได้แก่

  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านพล.ร.ท.ประสิทธิ ลัทธิธรรม เลขานุการฯ
  • ทีมงานจากสถาบันAIT (Asian Institute of Technology- สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย)ซึ่งนอกจากหัวเรือใหญ่คือท่าน ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ปรมาจารย์ทางธรณีวิทยาผู้ซึ่งทำให้โครงการนี้เป็นจริง แล้ว ยังมีท่าน รศ.ดร.นพดล เพียรเวช เป็นผู้คอยให้คำแนะนำปรึกษาทางวิชาอยู่ตลอดรวมทั้งได้ส่งวิศวกรมาคอยกำกับดูแลในภาคสนามอย่างใกล้ชิด ๒ ท่านคือคุณสุชัย รุจิวณิชย์กุลและคุณจิรกิต คิมรัมย์
  • ทีมงานจากกรมศิลปากร นำโดยอาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว รองอธิบดีฯและคณะอันได้แก่คุณมานพ  อมรวุฒิโรจน์  คุณบุญส่ง น้อมบุญ และ คุณชิน ประสงค์
  • ทีมงานเลเซ่อร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) และ“เน็คเทค” ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) นำโดยศ.ดร. พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ และดร.พงศ์พันธ์  จินดาอุดม
  • ฐานทัพเรือสัตหีบ เจ้าของพื้นที่นำโดยท่านพล.ร.ต.ประสงค์ สงเคราะห์ รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบซึ่งได้อำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดียิ่ง

เป็นอันจบบทความ “เบื้องหลังที่ยังไม่มีผู้ใดบันทึก” ของ

โครงการก่อสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์ “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา”

ที่ผู้เขียนตั้งท่าจะเขียนมานานแล้ว ก็ไม่ได้ฤกษ์เริ่มสักที จนผ่านมาถึง ๑๖ ปีเต็ม จึงได้เริ่มลงมือเขียนด้วยเกรงว่าความจำจะเลอะเลือนตามกาลเวลาและความชราภาพไปเสียก่อน และก็ดีใจมากด้วยเพิ่งทราบว่าที่ได้พยายามเขียนจนจบในปีนี้นั้นเป็นปีมหามงคลยิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชันษาครบ ๑๐๐ ปีในวันที่ ๓ ตุลาคมที่จะถึงนี้พอดี

เนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่เขียนขึ้นจากความทรงจำ จะมีบ้างก็เพียงส่วนน้อยที่อ้างอิงจากจดหมายเหตุการจัดสร้างพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาเขาชีจรรย์“พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา”๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔  ดังนั้นจึงอาจมีข้อผิดพลาดและตกหล่นได้  ผู้เขียนจึงใคร่กราบขออภัยและกราบขอพระราชทานอภัยไว้ ณ ที่นี้

ภาพซ้ายหมู่ : คณะทำงานกำลังหลักสำคัญ (ส่วนหนึ่ง) แถวยืนจากซ้าย :คุณสมศักดิ์ ธีระวัฒนสุข  คุณนันทวรรณ นนทเปารยะ   คุณสุชัย รุจิวณิชย์กุล                              คุณชวลิต ถนอมถิ่น   ศ.ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ   คุณอุดม ภู่งาม  (ไม่ทราบชื่อ)                              คุณมานพ  อมรวุฒิโรจน์  และคุณบุญส่ง น้อมบุญ  แถวนั่งจากซ้าย : คุณชูวิทย์ โภคบุตร   ดร.พงศ์พันธ์  จินดาอุดม    ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล                            คุณปัณวัฒน์(ปัญจะ)  วัจฉละกมล   คุณจตุรงค์  ดิษฐานุสรณ์   คุณสุระยุทธ                              ศรีชมพู  และ คุณจิรกิต คิมรัมย์    ภาพขวาจากซ้าย : คุณชูศักดิ์ ศิริวงศ์   ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล-ผู้เขียน   อ.กนก บุญโพธ์แก้ว                                 คุณชวลิต ถนอมถิ่น  และ รศ.ดร.นพดล เพียรเวช
ภาพซ้ายหมู่ : คณะทำงานกำลังหลักสำคัญ (ส่วนหนึ่ง)
แถวยืนจากซ้าย :คุณสมศักดิ์ ธีระวัฒนสุข คุณนันทวรรณ นนทเปารยะ คุณสุชัย รุจิวณิชย์กุล
คุณชวลิต ถนอมถิ่น ศ.ดร.พิเชษฐ์ ลิ้มสุวรรณ คุณอุดม ภู่งาม (ไม่ทราบชื่อ)
คุณมานพ อมรวุฒิโรจน์ และคุณบุญส่ง น้อมบุญ
แถวนั่งจากซ้าย : คุณชูวิทย์ โภคบุตร ดร.พงศ์พันธ์ จินดาอุดม ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล
คุณปัณวัฒน์(ปัญจะ) วัจฉละกมล คุณจตุรงค์ ดิษฐานุสรณ์ คุณสุระยุทธ
ศรีชมพู และ คุณจิรกิต คิมรัมย์
ภาพขวาจากซ้าย : คุณชูศักดิ์ ศิริวงศ์ ดร.เดชา หลวงพิทักษ์ชุมพล-ผู้เขียน อ.กนก บุญโพธ์แก้ว
คุณชวลิต ถนอมถิ่น และ รศ.ดร.นพดล เพียรเวช

อ่านบันทึกย้อนหลังทังหมดที่นี่