รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย

by

รอยเลื่อนแม่จัน เป็นหนึ่งในกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ที่มีคนพูดถึงมากทุกครั้งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ทำไมต้องเป็นรอยเลื่อนแม่จัน? บทความนี้จะพูดถึงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรอยเลื่อนแม่จัน และเหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เกิดขึ้นใกล้แนวรอยเลื่อนแม่จัน เพื่อช่วยเตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวได้เตรียมพร้อมรับมือก่อนที่รอยเลื่อนแม่จันจะขยับตัวอีกครั้ง

รอยเลื่อนแม่จัน อยู่ตรงไหน?

รอยเลื่อนแม่จัน จัดเป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ (ยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร) เคลื่อนตัวตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย พาดผ่านตั้งแต่ อ.ฝาง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน เข้าสู่ประเทศลาว หรือ สังเกตได้จากเส้นทางหลวงหมายเลข 1089

เนื่องจากรอยเลื่อนนี้เป็นรอยเลื่อนตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย นั่นหมายความว่าพื้นที่ฝั่งด้านเหนือของทางหลวงหมายเลข 1089 จะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่ฝั่งทางด้านใต้จะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก

ภาพแสดงตำแหน่งรอยเลื่อนแม่จัน – GeoThai.net
ภาพทางหลวงหมายเลข 1089 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ขนานตามแนวรอยเลื่อนแม่จัน (ภาพถ่ายจาก Google)
ภาพทางหลวงหมายเลข 1089 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ขนานตามแนวรอยเลื่อนแม่จัน (ภาพถ่ายจาก Google)

 

น้ำพุร้อนแม่จัน

รอยเลื่อนแม่จันพาดผ่านประกอบหินแกรนิตอายุ 200 กว่าล้านปี ซึ่งเป็นหินอัคนีรองรับอยู่ข้างใต้ รอยแตกรอยแยกของหินแข็งเหล่านี้จึงเปิดโอกาสให้น้ำฝนหรือน้ำใต้ดินในระดับลึกได้รับความร้อนจากใต้พิภพ ความร้อนทำให้เกิดไอน้ำร้อนพร้อมแรงดัน น้ำร้อนจะแทรกตัวกลับขึ้นมาตามแนวแตกของหินและโผล่มายังผิวโลก เราจึงสามารถพบเห็นน้ำพุร้อนได้ตามแนวรอยเลื่อนขนาดใหญ่

[ilink url=”http://www.dmr.go.th/download/pdf/North/Chiangrai.pdf”]แผนที่ธรณีวิทยา จ. เชียงราย โดย กรมทรัพยากรธรณี[/ilink]

 

รอยเลื่อนแม่จัน เคยขยับแบบเหลื่อมขวา

ปัจจุบันรอยเลื่อนแม่จันมีการเลื่อนแบบเหลื่อมซ้าย เนื่องจากถูกแรงบีบอัดในแนวเหนือ-ใต้ อย่างไรก็ตามการเลื่อนในทิศทางนี้อาจเริ่มเกิดขึ้นภายหลังการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกเอเชียเมื่อประมาณ 40 ล้านปีก่อน (Morley, 2006) ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการชนกันนี้ คาดว่าแรงบีบอัดมีการวางตัวในแนวเกือบตะวันออก-ตะวันตก เนื่องจากการชนกันของหินฐานธรณีฉาน-ไทยและหินฐานธรณีอินโดจีน ทำให้รอยเลื่อนแม่จันนั้นอาจจะมีการเคลื่อนที่ไปทางขวามาก่อน หรือสลับทิศทางกับปัจจุบัน

รอยเลื่อนแม่จันและรอยเลื่อนมีพลังอื่นๆ ในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดียกับแผ่นเปลือกโลกเอเชีย (Charusiri et al., 2002) การเดินทางขึ้นเหนือของแผ่นเปลือกโลกอินเดียอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน  ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรอยเลื่อนต่างๆ ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ต่อเนื่องมาถึงรอยเลื่อนตามแนวตะวันตกของประเทศไทยและพม่าด้วย

 

การศึกษาแผ่นดินไหวโบราณ

การศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต ตามแนวรอยเลื่อนแม่จัน บริเวณ อ.แม่จัน โดย ปัญญา จารุศิริ (2543) และบริเวณ อ.แม่อาย โดย สุวิทย์ โคสุวรรณ และคณะ (2546) นั้นอาศัยการขุดร่องสำรวจในบริเวณที่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีรอยเลื่อนตัดผ่าน เช่น ลักษณะลำธารหักเลื่อน และผารอยเลื่อน เป็นต้น วันเวลาของเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว หาได้จากการหาอายุของชั้นดินก่อนและหลังถูกรอยเลื่อนตัดผ่านด้วยวิธีเรืองแสงด้วยความร้อน (Thermoluminescence) และวิธีคาร์บอน-14

ผลการศึกษา ได้ข้อสันนิษฐานว่า รอยเลื่อนแม่จัน เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (>7.0) มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ในช่วง ระหว่าง 940,000 ถึง 1,600 ปีก่อน* ปัจจุบันมีอัตราการเลื่อนที่ อ.แม่อาย ประมาณ 0.70 มิลลิเมตรต่อปี**

 

รอยเลื่อนและแผ่นดินไหวใกล้เคียง

ตำแหน่งของรอยเลื่อนแม่จันอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ในประเทศพม่า เช่น รอยเลื่อนน้ำมา และรอยเลื่อนมีพลังที่วางตัวแนวเดียวกันในประเทศลาว ซึ่งรอยเลื่อนทั้งสองนี้เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (มากกว่า 6.0) มาแล้วในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

แผ่นดินไหวขนาด 6.1 ในประเทศลาว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 50 แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในกรุงเทพมหานคร ส่วน แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในพม่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค.54 ใกล้กับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งสองเหตุการณ์เกิดจากการขยับตัวของรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวในทิศทางเดียวกับรอยเลื่อนแม่จัน โดยกลุ่มรอยเลื่อนในประเทศพม่า ลาว และทางตอนเหนือของประเทศไทย ส่วนใหญ่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้

ล่าสุดในประเทศไทย กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 จากการขยับตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาในเขตรอยต่อระหว่าง อ.พาน และ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

แบบจำลองภูมิประเทศจ.เชียงรายและพื้นที่ชายแดนพม่า-ลาว แสดงตำแหน่งรอยเลื่อนแม่จัน และศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (>6.0) ในบริเวณใกล้เคียง
แบบจำลองภูมิประเทศจ.เชียงรายและพื้นที่ชายแดนพม่า-ลาว แสดงตำแหน่งรอยเลื่อนแม่จัน และศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (>6.0) ในบริเวณใกล้เคียง

 

แผนที่แสดงตำแหน่งรอยเลื่อนน้ำมา และศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศพม่า (2554) และลาว (2550) – GeoThai.net

 

เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง?

จาก 3 เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ใกล้รอยเลื่อนแม่จัน ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยับตัวของรอยเลื่อนแม่จันในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่ รอยเลื่อนแม่จันอาจจะยังมีการสะสมพลังงานไปเรื่อยๆ อีกหลายปีก็ได้ ระหว่างนี้การเตรียมความพร้อมของผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวรอยเลื่อนแม่จัน เพื่อรับมือแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง และพื้นที่ลาดชันที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

นักธรณีวิทยาเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่ารอยเลื่อนแม่จันนั้นจะขยับตัวเมื่อไหร่ ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้จึงต้องเตรียมพร้อมทุกวัน เมื่อถึงเวลา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่คิดก็ได้

อ้างอิง

* ปัญญา จารุศิริ. (2543). แผ่นดินไหวในประเทศไทยและผืนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

** สุวิทย์ โคสุวรรณ, ปรีชา สายทอง และ อภิชาติ ลำจวน. (2546). แผ่นดินไหวโบราณกาลบริเวณ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิชาการ ฉบับที่ กธส 3/2546. กรมทรัยากรธรณี.

Charusiri, P., Faorerk. V., Archibald, D., Hisod, K. and Ampaiwan, T., 2002. Geotectonic Evolution of Thailand. Journal of the geological Society of Thailand, No.1 April 2002, p. 1-20

Morley, C.K., 2006. Variations in Late Cenozoic – Recent strike-slip and oblique-extensional geometrics, within Indochina: The influence of pre-existing fabrics. Journal of Structural Geology, p. 1-23