การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต

by

รู้หรือไม่ว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่เคยอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ในขณะที่สิ่งมีชีวิตรุ่นเก่าที่เคยรุ่งเรืองก็ได้ค่อยๆ หายสาบสูญไป สิ่งมีชีวิตรุ่นใหม่พยายามพัฒนาและสามารถปรับตัวให้ดำรงอยู่รอดในสภาวะ-แวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์อยู่ตลอดเวลา อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไม่ได้คงที่ตลอด การสูญสิ้นสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากกว่า 50-90 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในช่วง 500 ล้านปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับอายุของโลก 4,600 ล้านปี

แม้ว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้าย แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มสิ่งมีชีวิตสายใหม่วิวัฒนาการขึ้นมา เช่น ไดโนเสาร์ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลกเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน ที่เรียกว่าการสูญพันธุ์เพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic mass extinction) เหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ได้รับความสนใจและได้รับการศึกษาค้นคว้ามากที่สุด คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงยุคครีเตเชียส (Cretaceous) และยุคพาลีโอจีน (Paleogene) หรือประมาณ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งได้กวาดล้างเหล่าไดโนเสาร์ไปจากโลกนี้จนสิ้น เพื่อเปิดถนนสายใหม่ให้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แพร่ขยายและเจริญเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว

สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เหล่านี้ยังคงความลึกลับ ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่ามาจากการระเบิดของภูเขาไฟและการพุ่งชนโลกของก้อนอุกกาบาตหรือดาวหางขนาดยักษ์ ซึ่งทั้งสองสาเหตุนั้นก่อให้เกิดขี้เถ้าและผุ่นควันต่างๆ ปริมาณหลายตันฟุ้งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้ามืดมิดอย่างน้อยหลายเดือน เมื่อขาดแสงอาทิตย์พืชและสัตว์กินพืชก็จะตายลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้วัตถุจากนอกโลกยังอาจปล่อยสารพิษหรือก๊าซที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจกทำให้สัตว์โลกต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การตกกระทบของวัตถุจากนอกโลก (Impact events) นั้นสามารถเชื่อมโยงได้กับเหตุการณ์การสูญพันธุ์ใน ช่วงยุคครีเตเชียส โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณอายุหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่บนคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) ประเทศเม็กซิโกได้ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งตรงกันกับช่วงของการสูญพันธุ์พอดี นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนที่ได้รับอิทธิพลจากการระเบิดของภูเขาไฟบริเวณที่ราบสูงเดคข่าน (Deccan Flats) ในอินเดียก็อาจเป็นตัวเร่งให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุอะไรก็ตาม…ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เกือบครึ่งโลก…ต้องสูญพันธุ์ไป เหลือไว้แต่เพียงความลึกลับให้ศึกษากันไม่จบสิ้น

นอกเหนือจากเหตุการณ์บนบกแล้ว การไหลบ่าของมวลลาวาปริมาณมหึมา (Flood basalt eruptions) จากการระเบิดของแนวภูเขาไฟกลางมหาสมุทร แอตแลนติกเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน หรือที่เรียกว่าการสูญพันธ์ไทรแอสซิก-จูราสซิก (Triassic-Jurassic extinction) ได้ทำให้สัตว์น้ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ทั้งหมด รวมถึงพวกที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ และสัตว์เลื้อยคลานต้องสูญพันธุ์เกือบทั้งหมดด้วย ต่อไปนี้คือการสูญพันธ์ุครั้งใหญ่ 5 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในธรณีประวัติ

 

ช่วงเวลาย้อนหลังโดยประมาณ จำนวนสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์โดยประมาณ ข้อสัณนิษฐานถึงสาเหตุ
429-439 ล้านปี(Ordovician-Silurian extinction) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตซึ่งอาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 25% คิดเป็น 60% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมด น้ำทะเลลดระดับลงจากการก่อตัวเป็นก้อนน้ำแข็งยักษ์ และต่อมาน้ำทะเลจึงเพิ่มระดับขึ้นกะทันหัน จากการละลายของก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์ เป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลจำพวก แบรคิโอพอด (Brachiopods) โคโนดอน (Conodonts) ที่มีลักษณะคล้ายปลาไหล และ ไตรโลไบต์ (Trilobites) สูญพันธุ์
364 ล้านปี(Late Devonian extinction) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 22% คิดเป็น 57% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมด ยังไม่มีสมมติฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ ช่วงเวลาของการสูญพันธุ์ยาวนานถึง 20 ล้านปี และเว้นช่วงทุกๆ 100,000-300,000 ปี โชคดีที่ขณะนั้น แมลง พืช และต้นตระกูลของสัตว์พวกครึ่งบกครึ่งน้ำได้มีวิวัฒนาการมาอาศัยอยู่บนบกแล้ว
251 ล้านปี(Permian-Triassic extinction) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไป 95% ของจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดบนโลกสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 53% คิดเป็น 83% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมดสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนพื้นดินทั้งพืชและสัตว์สูญพันธุ์ไป 70% ของจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดที่อาศัยบนบก สมมติฐานที่ 1 อุกกาบาตขนาดใหญ่ หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าชนโลกสมมติฐานที่ 2 ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงสมมติฐานที่ 3 อุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก และไปกระตุ้นให้เกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่
199-214 ล้านปี(Triassic-Jurassic extinction) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 22% คิดเป็น 52% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมดสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนบกไม่ทราบจำนวนที่สูญพันธุ์ที่แน่ชัด ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่ที่บริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ปลดปล่อยลาวาจำนวนมหาศาลออกมา และอาจทำให้เกิด ภาวะโลกร้อนขั้นวิกฤต โดยพบหลักฐานการระเบิดจากหินภูเขาไฟที่ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ทางตะวันออกของบราซิล และทางเหนือของแอฟริกาและสเปน
65 ล้านปี(Cretaceous-Paleogene) สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำสูญพันธุ์ไป 16% คิดเป็น 47% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำทั้งหมดสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนบกสูญพันธุ์ไป 18% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยบนบก รวมไปถึงไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ทั้งหมด ดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้างหลายไมล์พุ่งเข้าชนโลก ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทัน (Yucatan Peninsula) และใต้อ่าวเม็กซิโก

ดัดแปลงจาก http://th.wikipedia.org/wiki/การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ทำนายว่ากระบวนการของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หกได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งอาจเป็นครั้งที่มาถึงเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก จะโทษใครได้เล่า นอกจากมนุษย์เรานั่นเอง ภายในปี ค.ศ. 2100 ผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์เช่น มลภาวะ การถางป่า และการตกปลาเกินขีดจำกัดของธรรมชาติอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำและสัตว์บกมากว่าครึ่งหนึ่งที่เคยมีอยู่  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญที่เป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ห้าครั้งที่ผ่านมา จากผลการศึกษาปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลกหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในขั้วโลกเหนือ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาอีกมากเพื่อตรวจสอบว่าการสูญพันธุ์ในปัจจุบันนี้อยู่ในภาวะปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติหรือไม่ หากไม่แล้วก็จงเตรียมพร้อมกับการสูญเสียครั้งใหญ่จากฝีมือมนุษย์เราได้เลย

 

อ้างอิง

http://science.nationalgeographic.com/science/prehistoric-world/mass-extinction.html
http://th.wikipedia.org/wiki/การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
http://www.seedmagazine.com/magazine/