คุณสมบัติทางกายภาพของแร่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำแนกแร่ออกเป็นชนิดต่างๆ นักธรณีวิทยาทุกคนจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติทางกายภาพต่างๆ ของแร่เป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญของการศึกษาทางธรณีวิทยา นอกจากความรู้ความเข้าใจแล้ว นักธรณีวิทยายังต้องมีทักษะที่สามารถนำคุณสมบัติเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างถูกต้องอีกด้วย คุณสมบัติเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในการทำงานภาคสนามที่ต้องทำการระบุชนิดหิน แร่ เพื่อทำแผนที่ธรณีวิทยา ก่อนการตรวจสอบในขั้นละเอียดต่อไป |
สี (color)
สี เป็นลักษณะเฉพาะของแร่อย่างหนึ่ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับธาตุและโครงสร้างที่ประกอบเป็นแร่ใน บางแร่จะมีสีแตกต่างกันมาก เนื่องจากมีมลทิน (impurities) เข้ามาเจือปน แร่พวกที่พบว่ามักจะมี หลายสีนั้น ส่วนใหญ่แร่พวกนี้เมื่อบริสุทธิ์จะมีสีขาว หรือไม่มีสีเมื่อมีอะตอมของธาตุอื่น โดยเฉพาะ ไอออนของธาตุทรานสิชัน (transition elements) เข้าไปปน จะทำให้แร่นั้นกลายเป็นสีต่าง ๆ ตามธาตุ ที่มาปนเหล่านั้น |
สีผงละเอียด (Streak)
สีผงละเอียด เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของแร่แต่ละชนิด เมื่อนำแร่มาขีดบนแผ่นกระเบื้อง (ที่ไม่เคลือบ) จะเห็นสีของรอยขีดติดอยู่แผ่นกระเบื้อง ซึ่งอาจมีสีไม่เหมือนกับชิ้นแร่ก็ได้ เช่น ฮีมาไทต์และแมกเนไทต์ เป็นสินแร่เหล็กเหมือนกัน แต่ฮีมาไทต์ให้ผงสีแดง ส่วนแมกเนไทต์ให้ผงสีดำ การทดสอบด้วยสีผงละเอียดมีความน่าเชื่อถือกว่าการดูสีของตัวแร่เอง |
ประกาย (Luster)
ประกาย หรือความวาว เป็นสมบัติหนึ่งของแร่ที่มีต่อแสง เกิดจากความสามารถของแร่ในการสะท้อนแสงซึ่งแต่ละแร่ก็จะมีสมบัติแตกต่างกันไป ประกายขึ้นอยู่กับการจับตัวของธาตุและความต่อเนื่องในโครงสร้างของผลึก
- เหมือนโลหะ (metallic; M) มีลักษณะเป็นมันแวววาวอย่างโลหะผิวมัน เช่นที่พบในแร่กาลีนาหรือแร่ไพไรต์ ถ้าหากมีประกายคล้ายโลหะแต่ไม่มีแวววาวเท่าโลหะ ก็เรียกเป็นกึ่งเหมือนโลหะ (sSub-metallic; Sm) เช่น สฟาเลอไรต์ ที่มีเหล็กปนมาก
- เหมือนเพชร (adamentine; A) เป็นประกายที่มีลักษณะเล่นแสงแพรวพราวคล้ายเพชร เช่น ที่พบในเพชร หรือผลึกดีบุก แต่ถ้าไม่แพรวพราวเท่าพวกเหมือนเพชร ก็เรียกว่า กึ่งเหมือนเพชร (sub-adamentine; Sa) เช่น ผลึกแคลไซต์เล็ก ๆ ที่เกาะกันเป็นกลุ่ม
- เหมือนแก้ว (vitreous; V) เป็นประกายใสแจ๋วเหมือนแก้ว อย่างที่พบในโทแพซ ในหินเขี้ยวหนุมาน แต่ถ้ามีประกายคล้ายเหมือนแก้ว แต่ไม่ใสเหมือนแก้ว ก็เรียกว่า กึ่งเหมือนแก้ว (sub-vitreous; Sv) เช่น ฟลูออไรต์
- เหมือนยางสน (resinous; R) ลักษณะเป็นมันมีเหลือบน้อย ๆ คล้ายยางไม้ที่แห้ง หรืออำพัน เช่น สฟาเลอไรต์ เป็นต้น
- เหมือนมุก (pearly; P) ลักษณะเป็นมันแวววาว อาจเหลือบสีรุ้งเหมือนไข่มุก หรือเปลือกหอย เช่น ทัลค์ หรือมัสโคไวต์
- เหมือนน้ำมัน (greasy; G) ลักษณะเป็นเหมือนผิวอาบน้ำมันบาง ๆ เช่น แกรไฟต์
- เหมือนไหม (silky; S) มีลักษณะเป็นเส้น ๆ ที่มีความแวววาวเหมือนไหม เช่น ยิปซัมชนิดที่มีชื่อ Satin spar หรือ เซอร์เพนทีน ชนิดแอสเบสทอส
- เหมือนดิน (dull; D หรือ earthy; E) เป็นลักษณะประกายที่ตรงกันข้ามกับการสะท้อนแสง
เพราะจะมีลักษณะด้าน ๆ เหมือนเดิม เช่นที่พบในดินขาว หรือชอล์ค
ความโปร่ง (Diaphaneity)
จะมองเห็นได้ทันทีหรือโดยการยกก้อนแร่ขึ้นมาส่องดูกับแสงสว่าง ความโปร่ง (Diaphaneity) คือ สมบัติของแร่ที่ยอมให้แสงผ่าน ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประเภท
- โปร่งใส (transparent) คือ ความใสที่สามารถจะมองผ่านไปเห็นวัสดุอื่นที่อยู่ด้านตรงกันข้ามกับคนทดลอง กล่าวได้ว่ายอมให้ทั้งแสงและสายตามองผ่านทะลุได้ เช่น ควอรตซ์ โทแพซ
- โปร่งแสง (translucent) เป็นความโปร่งที่ไม่สามารถจะมองทะลุได้ แต่ยอมให้แสงผ่านได้ เช่น หินเขี้ยวหนุมานสีชมพู หรือสีน้ำนม
- ทึบแสง (opaque) คือ ความไม่โปร่ง ไม่ยอมให้แสงและสายตาผ่านทะลุไปได้เช่นแร่โลหะต่างๆ
สมบัติอื่นที่มีต่อแสง (Other properties reflected to light)
- แสงโอปอล์ (opalescence) เป็นการสะท้อนแสงขุ่นมัวคล้ายนม ออกมาจากภายในของแร่ ดังจะเห็นได้จากโอปอล์ หรือมุกดาหาร
- แสงลายเส้น (chatoyancy) เป็นแถบของประกายลายเส้นเหมือนแนวของเส้นไหม เมื่อจับก้อนแร่พลิกไปมา พบในแร่ที่มีโครงสร้างเป็นเส้นใย เช่น ในแร่หินเขี้ยวหนุมานชนิดตาเสือ (tigers eye) ในแร่ คริสโซเบอริลชนิดตาแมว (cats eye) เป็นต้น
- ยี่หร่าหรือสาแหรก (asterism) ลักษณะของยี่หร่า คือ การเกิดประกายคล้ายดาวเป็นแฉก ๆ อย่างที่พบใน star sapphire หรือทับทิม เกิดขึ้นเมื่อแร่ถูกตัดในทิศทางที่ตั้งฉากกับแกนเอก (principal axis) ของผลึก จำนวนแฉกที่เกิดขึ้นจะบ่งจำนวนสมมาตรของแกนเอกนั้น เช่น 6, 4, 3, และ 2 เป็นต้น
การเล่นแสง (Change or play of color)
การเล่นแสงนี้ คือ การเปลี่ยนสีของแร่เมื่อแสงตกกระทบในทิศทางต่างๆ ทดสอบโดยหมุนก้อนแร่ให้กระทบแสงในทิศทางต่าง ๆ แล้วสีที่เห็นจะเปลี่ยนไป พบมากในแร่ซิลิเกตพวกแพลจิโอเคลส โดยเฉพาะในชนิดที่มีชื่อว่า ลาบราดอไรต์ (labradorite) และ โอลิโกเคลส หรือซันสโตน (oligoclase หรือ sunstone)
- แสงลายแตก (iridescence) เป็นลักษณะที่มองเห็นคล้าย ๆ รูปเข็ม หรือรอยร้าวลึกลงไปใต้ผิวแร่ เป็นผลเนื่องจากรอยแตกหรือการเชื่อมต่อของหน่วยเซลล์ชั้นในผลึกแร่ไม่สนิท พบมากในแร่ที่มีแนวแตกทิศทางเดียวดี เช่น แร่ในกลุ่มแพลจิโอเคลส
- การเรืองแสง (luminescence) แร่บางชนิดสามารถจะเรืองแสงในที่มืด หรือกระทบแสงที่มีความยาวคลื่นพิเศษ เช่น อุลตราไวโอเลต การเรืองแสงนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น การเรืองแสงเมื่อได้รับแสงต่าง ๆ เรียกว่า fluorescence การเรืองแสงในที่มืดก็เรียกว่า phosphorescence ถ้าเป็นการการเรืองแสงเมื่อได้รับความร้อน เรียกว่า thermoluminescence และหากเป็นการเรืองแสงก็ต่อเมือถูกบด ถูกขีด หรือถูกขูดขัด เรียกว่า triboluminescence
การหักเหของแสง และดัชนีหักเห (Refraction and refractive index)
เมื่อแสงเดินทางผ่านแร่ ความเร็วของแสงในแร่จะน้อยกว่าความเร็วของแสงในอากาศ ทำให้เวลาแสงลำเดียวกันเดินทางผ่านตัวกลางสองตัว จะมีการหักเหของแสง ค่าเปรียบเทียบระหว่างความเร็วของแสงในอากาศต่อในแร่ เรียกว่า ดัชนีหักเห (Refractive index) ดัชนีหักเหจะมีค่าเฉพาะสำหรับแร่หนึ่งๆ อาจมีค่าดัชนีหักเห 1 ค่า 2 ค่า หรือ 3 ค่า ขึ้นอยู่กับระบบผลึกของแร่
ผลึกแร่มีความยาวแกนพื้นฐานเท่ากันทุกแกน หรือเป็นอันยรูปจะมีค่าดัชนีหักเห 1 ค่าเรียกว่า isotropic ผลึกแร่มีอัตราส่วนความยาวแกนพื้นฐานไม่เท่ากัน มีค่าดัชนีหักเหหลายค่า เรียกเป็น anisotropic ซึ่งมี 2 ชนิด คือ (1) พวกที่มีความยาวแกนผลึก 2 ค่า จะให้ดัชนีหักเห 2 ค่าเช่นกัน เรียกว่า uniaxial (2) พวกที่มีผลึกแร่มีความยาวแกนพื้นฐานไม่เท่ากันทั้งสามแกน จะมีค่าดัชนีหักเห 3 ค่า เรียกว่า biaxial เกิดจาก แสงเดินทางตามแนวแกนทั้งสามด้วยความเร็วไม่เท่ากัน
ความแข็ง (Hardness)
ความแข็ง คือ ความคงทนต่อการขีดขูด ซึ่งวิธีทดสอบความแข็ง ทำได้โดยเอาแร่ที่ต้องการทดสอบ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งควรจะรู้ค่า (หรืออาจเปรียบเทียบกับวัสดุอื่น เช่น เล็บ ตะปู เหรียญทองแดงมีด) ให้ใช้ปลายแหลมหรือมุมแหลมขีดลงบนหน้าเรียบของแร่ที่ต้องการทดสอบ ถ้ามีผงแร่เกิดขึ้นก็ปัดหรือเป่าออกเสียก่อน แล้วพิจารณาว่ามีรอยขูดปรากฏขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีให้กลับเอาแร่ที่ถูกขีดทดลองขีดลงไปบนหน้าเรียบของอีกแร่หนึ่งแล้วดูว่ามีรอยเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าแร่ที่ใช้ขีดแข็งกว่าแร่ที่
เป็นรอย แล้วจึงเปรียบเทียบความแข็งดูว่าควรจะอยู่ที่ประมาณลำดับที่เท่าใด ซึ่งในแร่แต่ละชนิดสามารถเปรียบเทียบกับลำดับขั้นความแข็งของโมห์ (Mohrs scale of hardness) ได้ดังนี้
ลำดับที่ 1 ทัลค์ (Talc) สามารถที่จะขูดขีดได้ด้วยเล็บมือ | |
ลำดับที่ 2 ยิปซัม (Gypsum) สามารถจะขีดเป็นรอยได้บ้างด้วยเล็บมือ แต่ไม่สามารถที่จะเอายิปซัมขีดเหรียญทองแดงให้เป็นรอยได้ (เล็บมือมีความแข็งประมาณ 2.5 แต่เล็บบางคนอาจแข็งกว่า หรืออ่อนกว่านี้) | |
ลำดับที่ 3 แคลไซต์ (Calcite) แคลไซต์สามารถทำให้เหรียญทองแดงเป็นรอยได้เล็กน้อย และเหรียญทองแดงก็สามารถขีดแคลไซต์เป็นรอยได้เช่นกัน (ทองแดงมีความแข็งประมาณ 3) | |
ลำดับที่ 4 ฟลูออไรต์ (Fluorite) ฟลูออไรต์สามารถทำให้เหรียญทองแดงเป็นรอย แต่ ไม่สามารถขีดอะพาไทต์ หรือแก้วได้ | |
ลำดับที่ 5 อะพาไทต์ (Apatite) สามารถทำให้กระจกเป็นรอยได้บ้างเล็กน้อย และแก้วกระจกก็สามารถจะทำให้อะพาไทต์เป็นรอยได้บ้าง แต่กระจกเป็นแก้วโซดา มีความแข็งประมาณ 5 5.5 ถ้าเป็นพวกแก้วโพแทส หรือ บอโรโรซิลิเกต จะแข็งกว่านี้ | |
ลำดับที่ 6 ออร์โทเคลสเฟลด์สปาร์ (Orthoclase) ออร์โทเคลสจะขีดกระจกเป็นรอยได้ง่าย แต่ถ้าใช้มีดขีดออร์โทเคลสจะเป็นรอยได้เล็กน้อย (ใบมีดจะมีความแข็ง 5 5.6) | |
ลำดับที่ 7 หินเขี้ยวหนุมาน (Quartz) ใบมีดจะขีดหินเขี้ยวหนุมานไม่ได้ และหินเขี้ยวหนุมานจะทำให้โทแพสเป็นรอยไม่ได้เช่นกัน | |
ลำดับที่ 8 โทแพส (Topaz) โทแพสจะทำให้หินเขี้ยวหนุมานเป็นรอยได้ แต่ไม่สามารถจะทำให้คอรันดัมเป็นรอยได้ | |
ลำดับที่ 9 คอรันดัม (Corundum) แร่คอรันดัมจะทำให้โทแพส หรือสปิเนลเป็นรอย แต่ไม่สามารถทำให้เพชรเป็นรอย แต่ซิลิคอนคาร์ไบด์จะทำให้คอรันดัมเป็นรอยได้ | |
ลำดับที่ 10 เพชร (Diamond) เพชรจะไม่ถูกอะไรขีดข่วนได้ นอกจากเพชรด้วยกันเอง และเพชรยังใช้ตัดแร่อื่นได้ด้วย |
แร่ kyanite (Al2SiO5) จะมีความแข็ง 4-5 ตามความยาวของผลึก แต่จะมีความแข็ง 6-7 ในทิศทางอื่น ในตารางแสดงลำดับความแข็งของแร่ทั่ว ๆ ไปมักจะแสดงค่าความแข็งที่แข็งที่สุดของแร่นั้น
ลักษณะรูปแบบและผลึก (Forms and crystals)
ผลึก (crystals) หมายถึง ของแข็งที่มีโครงสร้างภายในเป็นระเบียบทั้ง 3 มิติ ส่วนคำว่า รูปแบบ (forms) หมายถึง ลักษณะภายนอกของผลึกที่มักจะพบในธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแร่แต่ละชนิด เอกลักษณ์ของรูปแบบทำให้ในผลึกอย่างเดียวกัน มุมระหว่างหน้า 2 หน้าของผลึกอย่างเดียวกันจะให้ค่าเท่ากัน ไม่ว่าผลึกนั้นจะมีขนาดเป็นอย่างไร แร่บางแร่อาจมีรูปแบบหลายอย่าง เช่น แคลไซต์ มีประมาณ 108 รูปแบบ โดยรูปแบบ และโครงสร้างภายในที่เป็นระเบียบของแร่ จะช่วยในการตรวจสอบแร่ได้ สามารถจะแบ่งเป็นระบบ ตามสมมาตรได้ 6 ระบบ ดังต่อไปนี้
ระบบไอโซเมตริก (Isometric system) มีแกนสมมาตร (แกมสมมติ) 3 แนว 4 แกน และแกนพื้นฐาน(สมมติ) ทั้ง 3 แกนจะมีความยาวเท่ากัน และตั้งฉากซึ่งกันและกัน รูปแบบพื้นฐานมีเป็นแต่ชนิด ฟอร์มปิด คือ ไม่ต้องมีรูปแบบอื่นมาเสริมก็คงตัวเป็นผลึกได้ มีดังนี้ รูปลูกบาศก์ รูปแปดหน้า รูปสิบสองหน้า รูปยี่สิบสี่หน้าต่าง ๆ รูปสี่สิบแปดหน้า รูปสิบสองหน้าต่างๆ รูปสี่หน้า
ระบบเฮกซะโกนอล (Hexagonal system) มีแกนสมมาตร 6 แนว หรือ 3 แนว อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแกนเอก วางตั้งฉากอยู่บนอีก 3 แกน ที่มีความยาวแกนเท่ากัน และทำมุมกัน 120 องศา ในแนวระนาบรวมเป็นแกนพื้นฐาน 4 แกน รูปแบบมีทั้งฟอร์มปิด และฟอร์มเปิด ถึงจะเป็นผลึกมีหน้าสมบูรณ์ มีดังนี้ รูปหน้าเดียว รูปสองหน้าขนาน รูปปริซึม รูปปิรามิด รูปทราเปเซียม รูป
ข้าวหลามตัด รูปสิบสองหน้าเหลี่ยมด้านไม่เท่า
ระบบเตตระโกนอล (Tetragonal system) มีแกนสมมาตร 4 แนว 1 แกน เป็นแกนเอกวางตั้งฉากอยู่บนอีกสองแกน ที่มีความยาวแกนเท่ากัน และทำมุม 90องศาในแนวระนาบ รวมเป็นแกนพื้นฐานสามแกน รูปแบบพื้นฐานมีทั้งฟอร์มปิด และฟอร์มเปิด นอกจากรูปหน้าเดี่ยว และรูปสองหน้าขนานแล้ว ยังมีรูปแบบฐานดังต่อไปนี้ รูปปริซึม รูปปิรามิด รูปสี่เหลี่ยมทราเปเซียม
รูปสี่ด้านประสานลิ่ม รูปแบบหน้าสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า
ระบบออร์โธรอมบิก (Orthorhombic system) ระบบนี้เป็นระบบที่ผลึกมีแกนสมมาตร 2 แนว 1 แกนหรือระบบสมมาตร 2 แนว 1 ระนาบ แกนพื้นฐานทั้งสามแกนมีความยาวแกนไม่เท่ากัน แต่ตั้งฉากซึ่งกันและกัน รูปแบบพื้นฐานของระบบนี้มีทั้งฟอร์มปิด และฟอร์มเปิด นอกจากรูปหน้าเดี่ยว และรูปสองหน้าขนานแล้ว ยังมีรูปแบบอื่น ๆ ดังนี้ รูปปริซึม (prism) รูปปิรามิด
(pyramid) รูปสี่ด้านประสานลิ่ม (disphenoid)
ระบบโมโนคลินิค (Monoclinic system) ระบบนี้เป็นระบบที่ผลึกมีแกนสมมาตร 2 แนว 1 แกน หรือระบบสมมาตร 2 แนว 1 ระนาบ อย่างใดอย่างหนึ่ง แกนพื้นฐานทั้งสามแกนมีความยาวแกนไม่เท่ากัน มี 2 แกนที่ทำมุมเอียงซึ่งกันและกัน และแกนที่สามจะตั้งฉากกับทั้งสองมุมที่ทำมุมเอียงกันอยู่นั้น รูปแบบในระบบนี้เป็นฟอร์มเปิดทั้งหมด นอกจากรูปหน้าเดี่ยว และรูปสองหน้าขนานแล้ว ยังมีรูปแบบอื่น ๆ ดังนี้ รูปปริซึม (prism) รูปลิ่ม (sphenoid) รูปโดม (dome)
ระบบไตรคลินิค (Triclinic system) เป็นระบบที่มีเพียง 1 แกนสมมาตร ที่มี 1 แนว โดยที่แกนพื้นฐานทั้งสามแกนมีความยาวแกนไม่เท่ากัน และไม่มีแกนใดทำมุมฉากต่อกันเลย รูปแบบในระบบนี้เป็นฟอร์มเปิดทั้งหมด มีอยู่สองอย่าง คือ รูปหน้าเดี่ยว และรูปสองหน้าขนาน เท่านั้น
ผลึกแร่ต่าง ๆ ประกอบด้วยหน้าผลึกที่มาจากรูปแบบพื้นฐาน อาจมีรูปแบบเดียว หรือรูปแบบหลาย ๆ อย่าง และผลึกที่สมบูรณ์ทุกหน้านั้นมักจะหายาก สมมาตรของผลึกจะลดลงเท่ากับรูปแบบประกอบที่มีสมมาตรต่ำสุดในกรณีที่รูปแบบหลายแบบประกอบกันอยู่ ผลึกแร่หลายชนิดจะแสดงรูปแบบเฉพาะ เช่น ผลึกแคลไซต์ ผลึกหินเขี้ยวหนุมาน ผลึกคอรันดัม แร่หลายชนิดที่ประกอบจากกลุ่มไอออนลบอย่างเดียวกันจะมีผลึกที่เหมือนกัน หรือคล้ายกัน และค่ามุมระหว่างหน้าที่เหมือนกันจะใกล้เคียงกัน ผลึกฝาแฝดจะบ่งลักษณะของแร่นั้นเช่นในแร่ออร์โทเคลส ที่เรียกว่า Carlsbad twin นั้นจะพบเฉพาะในแร่นี้ หรือที่พบในสตรอโรไลต์ ที่เรียกว่า staurolite twin กลุ่มผลึก (crystalline aggregate) และลักษณะที่มีมักเป็น (crystal habit) ก็จะช่วยบ่งชนิดหรือกลุ่มของแร่ได้เช่นกัน
แนวแตก (Cleavage)
แนวแตก คือ สมบัติของแร่ที่มักจะแตกให้หน้าเรียบ ซึ่งการแตกของผลึกแร่ออกเป็นหน้าเรียบๆ นี้ เป็นเพราะพันธะเคมีของไอออนในผลึกแร่ในทิศทางนั้นๆ มีแรงยึดเหนี่ยวกันน้อยกว่าในทิศทางอื่นๆ แร่ต่าง ๆ อาจมีแนวแตกทิศทางเดียว หรือ หลายทิศทาง และมุมระหว่างแนวแตกอาจมีค่าต่าง ๆ กันได้ ขึ้นอยู่กับชนิดแร่และลักษณะผลึก
- ระบบไอโซเมตริก แตกได้ หลายแบบ เช่นแตก 3 ทิศทาง ทำมุมฉากซึ่งกันและกัน ให้ผลเป็นรูปลูกบาศก์ เช่นที่พบในแร่กาลีนา แตก 4 ทิศทาง ทำให้เกิดพื้นผิวเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าแปดหน้าต่อกันเป็นรูปปิรามิด เรียกว่า dodecahedral cleavage
- ระบบเฮกซะโกนอล จะให้แนวแตก 3 แบบ คือแบบหน้าเดียวขนานกับแนวระนาบ (basal cleavage) ตั้งฉากกับแกนเอก พบในแกรไฟต์ แบบเหลี่ยมขนานกับแกนเอก (prismatic cleavage) พบในแร่พวกอะพาไทต์ แบบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน จะแตกออก 3 ทิศทาง ทำมุมเอียงกัน ให้ผลึกเล็ก ๆ ที่แต่ละหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (rhombohedral cleavage) พบในแร่กลุ่มแคลไซต์
- ระบบเตตระโกนอล จะให้ basal และ prismatic cleavage เท่านั้น
- ระบบออร์โทรอมบิค ระบบโมโนคลินิค และไตรคลินิค จะให้ basal, prismatic และแนวแตกแบบสองหน้าขนาน แนวแตกทั้งสองแบบอาจจะขนานกับระนาบใด ๆ ก็ได้
การแตก (Fracture)
การแตก คือ ลักษณะการแตกของแร่ที่ไม่มีแนวแตกทั่ว ๆ ไป การแตกเป็นสมบัติของแร่อย่างหนึ่งเมื่อ ทุบให้แร่แตก เช่นเดียวกับแนวแตก แต่เป็นผลจากพันธะเคมีมากกว่าจะเป็นโครงสร้างของผลึก
- แตกแบบฝาหอย (Conchoidal; Conch.) ผิวที่แตกออกมาจะเป็นเส้นโค้งเรียงซ้อนกันเหมือนลวดลายในฝาหอย อย่างที่พบในหินเขี้ยวหนุมาน หรือ แก้ว ถ้าหากลายเส้นโค้งเห็นไม่เด่นชัด ก็อาจเรียกกึ่งฝาหอย (Sub – conchoidal; Sub conchoidal)
- แตกเรียบ (Even) เป็นรอยแตกที่ผิวแตกเรียบ เช่น หินปูนชนิดตะกอนละเอียด
- แตกไม่เรียบ (Uneven) เมื่อแตกแล้วผิวแตกที่เป็นจะเป็นคลื่นไม่เรียบ
- แตกขรุขระ (Hackley) ผิวแตกที่เห็นจะขรุขระ และมีปลายแหลมเล็ก ๆ โผล่ขึ้นทั่วไปบนผิวแตกทำให้ผิวไม่เรียบ เช่น ทองแดง
- แตกเป็นเสี้ยน (Splintery) ผิวแตกที่เห็นจะมีลักษณะคล้ายเสี้ยนไม้ หรือเป็นเส้น เช่น พวกแอมฟิโบล
- แตกร่วน (Earthy) จะแตกเป็นชิ้นน้อยเหมือนก้อนดิน เช่น ดินขาว
สัมผัส (Feel)
แร่หลายชนิดเมื่อจับต้องจะให้ลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ลักษณะพิเศษเหล่านี้บรรยายได้ดังนี้
- ลื่น (Greasy) จะมีลักษณะลื่นมือคล้ายสบู่ เช่นที่พบในพวกหินสบู่
- สาก (Harsh or meager) มีลักษณะสากหรือหยาบ อย่างเช่น ที่พบในชอล์ค
- เรียบ (Smooth) เมื่อลูบดูจะรู้สึกว่าผิวเรียบ
- ดูดลิ้น (Unctuous) แร่บางชนิดเมื่อวางบนลิ้นหรือที่เปียก จะดูดน้ำเข้าไปในตัวมัน จะทำให้รู้สึกว่ามีอะไรดูดอยู่
กลิ่น (Odor)
แร่ส่วนมากมักจะไม่มีกลิ่นออกมา ลักษณะของกลิ่นอาจบรรยายได้ดังนี้
- กลิ่นโคลน (Argillaceous) มีกลิ่นคล้ายโคลนหรือดินเปียกเมื่อดมดู พบในแร่ดิน
- กลิ่นยางมะตอย (Bituminous) มีกลิ่นคล้ายยางมะตอยหรือน้ำมันดิบ
- กลิ่นไข่เน่า (Fetid) มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ พบในแร่กลุ่มซัลไฟด์
- กลิ่นฉุน (Galic or horse – radish) อาจมีกลิ่นฉุนเหมือนกระเทียมอย่างที่พบในพวกแร่อาร์เซนิค หรือมีกลิ่นอย่างหัวผักกาด อย่างที่พบในแร่พวกซีลีเนียม
รส (Taste)
แร่หลายชนิดเมื่อละลายน้ำหรือถูกน้ำลาย จะให้รสพิเศษเฉพาะตัว รสต่าง ๆ สามารถจะบรรยายได้เป็น
- เปรี้ยว (Acid) มีรสเปี้ยวอย่างมะนาว หรือน้ำส้ม เช่น แร่พวกโซเดียมซัลเฟต
- ฝาด (Alkaline) ชิมดูมีรสฝาด เช่น แร่ที่ประกอบด้วยไฮดรอกไซด์ของอัลคาไลน์เออร์ท
- เฝื่อน (Astringent) มีรสเฝื่อนอย่างรสสารส้ม เช่น แร่อลูไนต์
- ขม (Bitter) มีรสขมเช่นดีเกลือ เช่น แร่เอปซอมไมต์
- เค็ม (Saline) มีรสเค็มอย่างเกลือ เช่น แร่เฮไลต์
- เย็น (Cooling) มีความรู้สึกเย็นลิ้น อย่างโซเดียมไนเตรท เช่น แร่โซดาไนเตอร์
ปฏิกิริยาต่อแม่เหล็ก (Magnetism)
มีแร่หลายชนิดที่มีปฏิกิริยาต่อแรงดึงดูดของแม่เหล็ก เช่น แร่แมกนีไทต์ แร่ไพโรไทต์ การทดสอบ โดยการใช้แม่เหล็กแตะกับตัวแร่หรือผงแร่ที่จะทดสอบ ความสามารถในการดูดหรือผลักแม่เหล็กอาจบรรยายได้เป็น
- ดูดแม่เหล็ก (Ferromagnetism) จะสามารถดูดแม่เหล็กได้ดี เช่น แมกนีไทต์
- ดูดแม่เหล็กอย่างอ่อน ๆ (Paramagnetism) แรงที่ดูดแม่เหล็กจะไม่มากนัก แต่จะรู้สึกได้ชัด ว่ามีแรงดูดอยู่บ้าง แร่ในกลุ่มที่ดูดแม่เหล็กอื่น ๆ นี้ มีหลายชนิดที่เมื่อเผาไฟแล้วจะดูดแม่เหล็กดีขึ้น เช่น โครไมต์
- ผลักแม่เหล็ก (Diamagnetism) แร่พวกนี้จะผลักแม่เหล็ก แต่ปฏิกิริยาจะไม่รุนแรงนัก เช่น เซอร์คอน
สมบัติทางไฟฟ้า (Electrical properties)
การทดสอบสมบัติของไฟฟ้า นอกจากจะวัดแรงเคลื่อนของไฟฟ้าแล้ว ยังอาจจะวัดตามวิธีการตรวจสอบคุณสมบัตินั้นๆ สมบัติทางไฟฟ้าของแร่แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
- เป็นตัวนำไฟฟ้า แร่พวกนี้สามารถจะนำกระแสไฟฟ้า ได้ด้วยตัวของมันเอง พบในแร่พวกโลหะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกโลหะมีตระกูลจะเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ดี เช่น ทอง เงิน ทองแดง ทองคำขาว
- เป็นสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า (semi-conductor)
- เป็นฉนวนไฟฟ้า แร่พวกนี้ จะสามารถใช้เป็นฉนวนป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าได้ เช่น พวก แอสเบสทอส
นอกจากนี้ แร่ยังมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าอื่นๆ อีกเช่น
- Piezoelectricity
- Pyroelectricity แร่พวกนี้จะเกิดมีประจุไฟฟ้าบวก และลบที่ปลายตรงข้ามของผลึกแร่ เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนไป จะพบในพวกแร่ที่มี unique polar axis เช่น แร่ tourmaline จะมีแกนเอกเพียงแกนเดียว คือ แกน C จะให้ลักษณะที่เรียกว่า primary pyroelectricity แต่พวกที่ไม่มีสมมาตรในใจกลางผลึกก็อาจจะใช้สมบัตินี้เมื่อเพิ่มหรือลดความร้อน ตัวอย่าง เช่น ควอรตซ์ เมื่ออบที่ 100°C แล้วปล่อยให้เย็นจะเกิดประจุสลับหน้ากัน เป็นประจุบวกที่หน้าผลึกปริซึมสามหน้า หน้าเว้นหน้า และเกิดประจุลบในหน้าผลึกปริซึมที่เหลือ
ความถ่วงจำเพาะ (Specitic gravity)
ความถ่วงจำเพาะของแร่ คือ อัตราส่วนระหว่างความหนาแน่นของแร่ต่อความหนาแน่นของน้ำที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส
วิธีทดสอบ การหาความถ่วงจำเพาะของแร่สามารถจะทำได้หลายวิธี เช่น การเปรียบเทียบน้ำหนักของแร่กับน้ำหนักของน้ำมีปริมาตรเท่ากัน และการลอยแร่ในของเหลวที่รู้ความถ่วงจำเพาะ
วิธีที่ 1 การลอยแร่ในของเหลวที่รู้ความถ่วงจำเพาะ ทำได้โดยเอาของเหลวที่รู้ความถ่วงจำเพาะใส่ในถ้วยแก้วปากกว้าง (beaker) แล้วเอาแร่ที่ต้องการจะหาความถ่วงจำเพาะค่อย ๆ วางลงไป (แร่ที่เป็นแผ่นบาง ๆ เช่น แร่กลีบหินไม่ค่อยจะเหมาะสม เพราะอาจเกิดแรงดันจากแรงตึงผิวของของเหลว ทำให้แร่ถึงแม้จะมีความถ่วงจำเพาะมากกว่า ไม่จม) แร่ที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าของเหลวนั้นจะจมลงสู่ถ้วยแก้ว แร่ที่มีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียงจะจมตัวลงใต้ระดับผิวของของเหลว แต่ไม่จมถึงก้นถ้วยแก้ว และแร่ที่มีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่าของเหลวจะลอยอยู่ข้างบน
ของเหลวหนักที่นิยมใช้จะต้องเป็นของเหลวที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแร่ เช่น methyleneiodide (CH2I2) ความถ่วงจำเพาะ 3.3 แต่ของเหลวหนักบางตัว เช่น โพแทสเซียมเมอร์คิวริคไอโอไดด์ (KHgI2; ความถ่วงจำเพาะ 3.19) หรือ ซิลเวอร์ทาลเลียมไนเตรต (AgTlNO3 :ความถ่วงจำเพาะ 4.5) แต่เป็นพิษต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ดังนั้น ถึงแม้จะใช้ได้แต่ก็ไม่สะดวกนัก อย่างไรก็ดีได้มีผู้ผลิต Cargille Heavy Liquid Line ที่มีของเหลวหนัก มีความถ่วงจำเพาะไล่กันไปตั้งแต่ 1.48 ถึง 7.5 ที่สามารถจะใช้ได้ดีในการนี้ โดยไม่เป็นภัยแก่ผู้ใช้
วิธีที่ 2 การหาความถ่วงจำเพาะของแร่โดยการแทนที่น้ำ วิธีนี้อาศัยหลักที่ว่าน้ำหนักของแร่ที่หายไปเมื่อชั่งในน้ำจะมีค่าเท่ากับปริมาตรของแร่ ค่าความถ่วงจำเพาะจะหาได้จากสูตรที่ว่า
ความถ่วงจำเพาะ = น้ำหนักของแร่ในอากาศ/(น้ำหนักของแร่ในอากาศ น้ำหนักของแร่ในน้ำ)
แคลไซต์เป็นแร่อยู่ในระบบเฮกซะโกนอล แต่แร่อื่น ๆ นอกนั้นอยู่ในระบบออร์โทรอมบิค นอกจากลักษณะโครงสร้างแล้ว ความถ่วงจำเพาะของแร่ก็จะขึ้นอยู่กับธาตุที่มาประกอบกันเป็นแร่นั้นๆ ถ้าแร่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุหนัก ความถ่วงจำเพาะก็จะสูง ถ้าแร่ประกอบด้วยอะตอมของธาตุที่เบา ความถ่วงจำเพาะของแร่นั้นก็จะต่ำ
ในตารางความถ่วงจำเพาะของแร่ส่วนมากค่าที่ปรากฏจะได้มาจากการหาความถ่วงจำเพาะจากแร่บริสุทธิ์ แต่ในธรรมชาติค่าถ่วงจำเพาะ และสมบัติอื่น ๆ อาจผิดไปบ้างเล็กน้อย เนื่องจากแร่ส่วนมากมักจะมีมลทิน (impurity) ปนอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งมนทินเหล่านี้อาจเป็นอะตอมของธาตุอื่นที่เข้ามาแทนที่ในโครงสร้าง หรืออาจเป็นแร่อื่นที่เกิดร่วมกันก็ได้
การหลอมละลาย (Fusibility)
คือสมบัติของแร่ที่สามารถจะทนความร้อนได้ในระดับต่าง ๆ กัน อาจจะถึงกับละลายหรือแปรสภาพเป็นพลาสติกเมื่อถูกความร้อน วิธีทดสอบ จะต้องใช้ส่วนที่ร้อนที่สุดของเปลวไฟและแร่ที่ใช้ควรจะเป็นชิ้นบางเล็กเรียว ใช้ปากคีมคีบแหย่เข้าไปในเปลวไฟส่วนที่ต้องการ ในกรณีที่แร่มีสมบัติแตกกระเด็นเมื่อถูกความร้อน ควรจะบดแร่เป็นผงแล้วใส่ในหลอดแก้วหรือผสมกับน้ำเล็กน้อย แผ่เป็นแผ่นบางบนแท่งถ่าน หรือแท่งพลาสเตอร์ แล้วจึงใช้ที่เป่าแล่นเปล่าให้เปลวไฟจ่อลงบนแร่ แร่แต่ละชนิด จะมีค่าหลอมละลายมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการหลอมละลายของธาตุที่ประกอบเป็นแร่
ที่มา:เอกสารประกอบการเรียนวิชาเคมีธรณีเบื้องต้น เรื่องคุณสมบัติทางกายภาพของแร่ โดย อ.ดร.ศตวรรษ แสนทน