ฟุตาบะซอรัส ดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์แอนิเมชันการ์ตูน โดราเอมอน ตอน “ไดโนเสาร์ของโนบิตะ” ฉายในปีพ.ศ. 2549 ความจริงแล้วไม่จัดว่าเป็นไดโนเสาร์ แต่ถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลในกลุ่มเพลสิโอซอร์ (plesiosaur) ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมยุคกับไดโนเสาร์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ฟุตาบะซอรัส Futabasaurus
ซากดึกดำบรรพ์ของฟุตาบะซอรัสถูกค้นพบที่เมืองฟูกูชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ในหมวดหินทามายาม่า (Tamayama Formation) ซึ่งมีอายุอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนปลาย มันมีลักษณะคล้ายกับเต่าทะเลที่ไม่มีกระดอง และมีคอที่ยาว มีฟันแหลมคม กินสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร มีความยาวประมาณ 7 เมตรและมีน้ำหนักกว่า 3-4 ตัน การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรกของมันถูกตีพิมพ์ในปี 2006 (ตามเอกสารอ้างอิงด้านล่าง)
ทำไมเพลสิโอซอร์จึงไม่จัดว่าเป็นไดโนเสาร์?
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องสัณฐานวิทยาของหัวกะโหลกในกลุ่มสัตว์ที่เรียกว่า “Amniote” ซึ่งหมายถึงสัตว์ทั้งหมดในกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และนก โดยหัวของพวก amniote จะสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 4 แบบหลักๆ ตามลักษณะการมีช่องเปิดของกะโหลกศีรษะบริเวณกระดูกขมับที่เรียกว่า temporal fenestration (fenestra = window) ดังนี้
- (a) Anapsid skull เป็นกะโหลกที่ไม่มีช่องเปิด พบในสัตว์เลื้อยคลานในยุคแรก และเต่า
- (b) Synapsid skull เป็นกะโหลกที่มีช่องเปิด ข้างละ 1 ช่อง พบในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน (mammal-like reptile)
- (c) Diapsid skull เป็นกะโหลกที่มีช่องเปิดข้างละ 2 ช่อง คือ ช่องบนและช่องล่าง พบในกลุ่มสัตว์อย่าง จระเข้ และ อาร์โคซอร์ (Archosaur)
- (d) Euryapsid skull เป็นกะโหลกที่มีช่องเปิดข้างละ 1 ช่อง และแตกต่างจากกะโหลกแบบ synapsid ในตำแหน่งของช่องเปิดที่เชื่อมต่อกับกระดูกของกะโหลก แต่ในความจริงแล้วกะโหลกแบบ Euryapsid เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปของกะโหลกแบบหนึ่งของ diapsid เท่านั้น พบในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานทางทะเล อย่างเพลซิโอซอร์และอิคธิโอซอร์นั่นเอง
โดยปัจจุบันเชื่อว่าไดโนเสาร์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์ในกลุ่มที่เรียกว่า อาร์โคซอร์ ซึ่งมีกะโหลกแบบ diapsid (2 ช่องเปิด) พวกอาร์โคซอร์นี้จะมีเบ้าตาเป็นรูปสามเหลี่ยมคว่ำ และมีรูเปิดข้างตาที่เรียกว่า “antorbital fenestra” และนอกจากนั้นในขากรรไกรล่างยังมีรูปเปิดที่เรียกว่า mandibular fenestra ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้จะไม่พบในสัตว์เลื้อยคลานอย่างเพลสิโอซอร์นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม
Sato, T., Hasegawa, Y., and Manabe, M. (2006). “A new elasmosaurid plesiosaur from the Upper Cretaceous of Fukushima, Japan”. Palaeontology 49 (3): 467–484. doi:10.1111/j.1475-4983.2006.00554.x