รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย

by

หนึ่งในหกของประชากรไทยอาศัยอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลัง การขยับตัวของรอยเลื่อนมีพลังทำให้เกิดแผ่นดินไหว แม้ว่าโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยจะมีน้อยมาก แต่ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อม แผ่นดินไหวขนาดเล็กก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ บทความนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อน และรวมแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศไทย

  • Before-แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
    After-แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
    Before แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย After

[ด้านบน] แผนที่แสดงตำแหน่งของรอยเลื่อนมีพลังบนแผนที่ภูมิประเทศ (ซ้าย) เปรียบเทียบกับแผนที่แสงไฟยามกลางคืน (ขวา) กระจุกแสงไฟบ่งบอกถึงพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่ สังเกตการกระจายตัวของชุมชนเมืองในภาคเหนือ มีความสอดคล้องกับการวางตัวของแนวรอยเลื่อนมีพลัง เช่น รอยเลื่อนแม่ทากับจ.เชียงใหม่และจ.ลำพูน รอยเลื่อนเถินกับจ.ลำปางและจ.แพร่ และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ หากรอยเลื่อนเหล่านี้ขยับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากทันที เมื่อรู้ว่าอยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง ต้องตรวจสอบบ้านให้แข็งแรง เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งต่อไป *จุดแสงในอ่าวไทยได้จากเรือประมงและแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Credit: NASA’s Earth Observatory, 2012)

 

รอยเลื่อน คืออะไร?

รอยเลื่อน คือรอยแตกในหินที่แสดงการเลื่อน สามารถพบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขนาดของรอยเลื่อนมีตั้งแต่ระดับเซนติเมตรไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร รอยเลื่อนขนาดใหญ่สามารถสังเกตได้ง่ายจากลักษณะภูมิประเทศ อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ รอยเลื่อนอาจถูกฝังอยู่ใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากบนพื้นผิวดิน ต้องอาศัยการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ช่วยในการแปลความหมาย รอยเลื่อน จัดแบ่งตามลักษณะการเลื่อนได้เป็น รอยเลื่อนปกติ รอยเลื่อนย้อน และรอยเลื่อนตามแนวระดับ

 

ตัวอย่างรอยเลื่อนปกติ ตัดผ่านชุดหินโคลนและหินทราย จ.เชียงราย สังเกตหินฝั่งซ้ายเลื่อนลงเมื่อเทียบกับหินฝั่งขวา
ตัวอย่างรอยเลื่อนปกติ ตัดผ่านชุดหินโคลนและหินทราย จ.เชียงราย สังเกตหินฝั่งซ้ายเลื่อนลงเมื่อเทียบกับหินฝั่งขวา

 

รอยเลื่อนมีพลัง

รอยเลื่อน ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี จะจัดว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งมักจะพบอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย หรือตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต

 

VS 

รอยเลื่อนไม่มีพลัง

ส่วนรอยเลื่อนที่ไม่พบหลักฐานการเลื่อนเป็นเวลานานมากว่า 10,000 ปี จะถูกจัดให้เป็น รอยเลื่อนไม่มีพลัง (Inactive fault) อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบแรงภายในเปลือกโลกบริเวณนั้น รอยเลื่อนไม่มีพลังอาจจะมีโอกาสขยับตัวได้ในอนาคต

 


ธรณีวิทยาโครงสร้าง

แผ่นดินไหว

นิตยสารไนส์ 1 แผ่นดินไหว

 

แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย

แผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับล่าสุด จัดทำโดย กรมทรัพยากรธรณี (2555) แสดงการกระจายตัวของรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย แบ่งได้เป็น 14 กลุ่มรอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

[รู้หรือไม่?] รอยเลื่อนท่าแขก พาดผ่านจ.หนองคายและนครพนม เคยถูกรวมไว้ในแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับปี 2549  โดยกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาได้ถูกตัดออกจากแผนที่ฉบับล่าสุด

[รู้หรือไม่?] ในแผนที่ธรณีวิทยา เส้นแสดงแนวรอยเลื่อนจะมี 2 แบบ คือ เส้นทึบ และเส้นประ แนวรอยเลื่อนที่วาดด้วยเส้นทึบ จะหมายถึงรอยเลื่อนที่นักธรณีวิทยาสำรวจแล้วพบหลักฐานการเลื่อนตลอดตามแนวรอยเลื่อนนั้น  ส่วนรอยเลื่อนที่วาดด้วยเส้นประ จะเป็นรอยเลื่อนที่เกิดจากการคาดคะเน รอการตรวจสอบหลักฐานการเลื่อนในภาคสนาม

 

คนไทยอยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง

เมื่อพิจารณาจากแผนที่รอยเลื่อนมีพลัง ฉบับล่าสุด จะพบว่ามี 21 จังหวัดที่ถูกรอยเลื่อนตัดผ่าน หลายจังหวัดมีรอยเลื่อนตัดผ่านใกล้ตัวเมืองและชุมชนสำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา และภูเก็ต รายชื่อหมู่บ้านที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลังสามารถตรวจสอบได้จาก แผนที่หมู่บ้านรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่าน ของกรมทรัพยากรณี (2553)

ถ้านับจำนวนประชากรในจังหวัดเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเหล่านี้จะพบว่ามีประมาณ 10.3 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 6 ของจำนวนคนไทยปัจจุบันทั้งหมด 65 ล้านคน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2555) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างจ.ภูเก็ต ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9,000 คนต่อปีนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านนั้นมีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต

แผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว โดยกรมทรัพยากรธรณี สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

เรียนรู้จากเหตุการณ์ในอดีต

บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตทำให้เรารู้ว่าการเตรียมพร้อมเป็นเรื่องจำเป็น ตัวอย่างความเสียหายของบ้านและเจดีย์ที่ไม่แข็งแรงสามารถดูได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพม่า เมื่อปี 2555 แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางใกล้ประเทศไทยก็สามารถทำให้เกิดแรงสั้นสะเทือนในกรุงเทพได้ ดังเช่นที่เคยเกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว เมื่อปี 2550 นั่นหมายความว่าเราต้องเฝ้าระวังรอยเลื่อนมีพลังในประเทศเพื่อนบ้านด้วย สำหรับคำแนะนำจากผู้เชียวชาญด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมสามารถรับฟังได้จากลิงค์ด้านล่าง

[ฟรี] PowerPoint รอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว สำหรับการสอนและการบรรยาย ดาวน์โหลดไฟล์  ได้ที่ http://goo.gl/DNviV
[ฟรี] PowerPoint รอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว สำหรับการสอนและการบรรยาย ดาวน์โหลดไฟล์ ได้ที่ http://goo.gl/CWWn1Z

ข้อมูลเพิ่มเติม

สัมภาษณ์ สุวิทย์ โคสุวรรณ นักวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี

สัมภาษณ์ รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)

รายการ  ที่นี่ตอบโจทย์ : รับมือ..แผ่นดินไหวและสึนามิ [ตอนที่ 1 (19 เม.ย 55)] [ตอนที่ 2 (20 เม.ย 55)]

บทความแผ่นดินไหวแนะนำ