ปิดเทอมใหญ่ หัวใจโกอินเตอร์

by

ปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมาคุณทำอะไร? หากคำตอบของคุณคือ การเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ เที่ยวทะเลสวยๆ ฝึกงานบริษัทดังๆ หรือออกภาคสนามสุดโหด ก็คงจะดูธรรมดาไปเสียแล้ว เพราะรู้ไหมว่ามีกิจกรรมที่น่าสนใจมากกว่านั้น แถมยังให้คุณเดินทางไกลไปต่างประเทศอีกด้วยโดยที่ไม่ต้องส่งฝาชิงโชคใดๆ ทั้งสิ้นเพ็ญประภา วุฒิจักร (เอ้) แพรวผกา ชุมทอง (แพรว) และ มนพร เมษดาคม (พร) สามคู่ซี้นิสิตธรณีฯ ชั้นปีที่ 4 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเรื่องเล่าน่าสนใจมาฝากชาว gneiss เกี่ยวกับกิจกรรมที่ทั้งสามคนได้ไปทำกันในช่วงปิดเทอมใหญ่ กิจกรรมที่ทำให้ทั้งสามคนต้องเดินทางไปไกลถึงสหรัฐอเมริกาและได้ทำงานในมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกอย่าง Standford University

“โครงการที่พวกเราได้เข้าร่วมในครั้งนี้คือ โครงการ SURGE หรือ Summer Research in Geosciences and Engineering ซึ่งจัดโดย School of Earth Sciences, Stanford University โดยปกติแล้วโครงการนี้จะเปิดให้เฉพาะนักศึกษาที่เรียนที่ Stanford University เข้าร่วมเท่านั้น แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั่วอเมริกาสมัครเข้าร่วมได้” น้้องเอ้เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงโครงการฝึกวิจัยทางธรณีวิทยาภาคฤดูร้อนให้เราฟังอย่างคร่าวๆ ก่อนที่น้องแพรวจะเสริมต่อว่า “ถือเป็นความโชคดีของพวกเราทั้งสามคนที่ปีนี้ทางภาควิชา (ธรณีฯ จุฬาฯ) ได้มีความร่วมมือกับทางอาจารย์ที่ Stanford University และยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงทำให้พวกเรามีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยในปีนี้โครงการ SURGE จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน ถึง 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554 รวมระยะเวลาประมาณ 2 เดือนค่ะ”

“ผู้เข้าร่วมต้องเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3-4 โดยปีนี้มีนักศึกษาจาก Stanford University 1 คน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา 10 คน และนิสิตจากภาควิชาธรณีวิทยา และภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกภาคละ 3 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 17 คนครับ” น้องพรกล่าวเสริมท้าย

เมื่อถามถึงจุดประสงค์ของโครงการและการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจากประเทศไทย น้องพรเล่าให้ฟังต่อว่า “โครงการ SURGE มีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตนักศึกษาในสาขาธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียมได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาเอกของ Stanford University โดยสาเหตุที่พวกเราได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการนี้เริ่มมาจากการจัดสัมนาของอาจารย์จาก School of Earth Sciences, Stanford University ที่ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยหนึ่งในคณะอาจารย์ที่เดินทางมาครั้งนี้คือ Prof. Jerry Harris ซึ่งเป็นประธานการจัดโครงการ SURGE ทำให้มีการพูดคุยกันกับรศ.ดร.วิสุทธิ์ พิสุทธอานนท์ หัวหน้าภาควิชา (ธรณีฯ จุฬาฯ) ในขณะนั้น เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองมหาวิทยาลัย โดยรวมไปถึงการที่จะส่งนิสิตภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเข้าร่วมโครงการ SURGE ด้วย”

“และผลที่ได้คือทาง Stanford University มีความยินดีที่จะให้นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 อย่างพวกเราและนิสิตจากภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมเข้าร่วมโครงการนี้ได้ หลังจากนั้นทางภาควิชาจึงทำการคัดเลือกนิสิตก่อนในขั้นต้น โดยนิสิตที่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้จะต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป และมีคะแนน CU-TEP ซึ่งเป็นการวัดระดับทางภาษาอังกฤษของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากกว่า 500 คะแนน ซึ่งมีนิสิตของภาควิชาธรณีวิทยาที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว 4 คน จากนั้นทั้ง 4 คนจะต้องส่ง resume และ transcript พร้อมทั้งสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษกับอาจารย์ในภาควิชา โดยคำถามส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสิ่งที่เราสนใจและงานวิจัยที่เราอยากจะไปทำที่ Stanford University เพื่อดูว่าเรามีความชัดเจนแค่ไหน สนใจในด้านใดเป็นพิเศษ หลังจากนั้นจะส่งรายชื่อคนที่ผ่านการสัมภาษณ์พร้อมทั้ง statement of propose, resume, transcript และ recommendation letter จากอาจารย์ไปให้กรรมการของ SURGE คัดเลือกอีกครั้งนึงค่ะ” น้องเอ้ช่วยเสริมถึงขั้นตอนการคัดเลือก แต่ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้

“ระหว่างทำเรื่องกับทางภาควิชาฯ (ธรณีฯ จุฬาฯ) พวกเราต้องเข้าไปกรอกใบสมัครที่เว็บไซต์ของโครงการ SURGE (http://oma.stanford.edu/surge.html) ซึ่งหลังจากที่ทางภาควิชาได้ส่งรายชื่อให้ทาง Stanford University แล้วรออีกประมาณ 1 เดือน ทาง Stanford University ก็ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์ได้เข้าร่วมในโครงการในปีนี้ โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญนอกเหนือจากการพิจารณาคุณสมบัติด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษาคือ ต้องดูว่าสายวิชาที่เราสนใจจะทำวิจัยนั้น มีอาจารย์สนใจและสามารถให้เราไปร่วมทำงานด้วยได้หรือไม่ และในด้านค่าใช้จ่ายนั้น ทาง Stanford University จะให้ทุนนิสิตนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้คนละ 7,000 เหรียญสหรัฐ โดยเราจะไม่ได้รับเป็นเงินสด แต่จะถูกใช้ไปเป็นค่าหอพักและค่าอาหารทั้งสามมื้อ และพวกเรายังได้รับการสนันสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทาง การทำวีซ่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก 3,500 เหรียญสหรัฐ จากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยกเว้นของพร ที่ได้จากบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ค่ะ” น้องแพรวกล่าวเพิ่มเติม

ในขณะทำกิจกรรมน้องๆ แต่ละก็คนก็ได้แยกย้ายกันทำงานตามที่ตนเองได้เสนอไว้ ซึ่งน้องเอ้ได้เล่าลักษณะการทำงานให้ฟังว่า

“เนื่องจากโครงการนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยในหัวข้อที่ตนเองสนใจร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกของ Stanford University ดังนั้นกิจกรรมหลักคือการทำงานวิจัย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การพูดคุยกับทางอาจารย์ของ Stanford University ถึงสิ่งที่เราเรียนมาและสิ่งที่เราสนใจ โดยจะคุยกันตั้งแต่ที่มาของหัวข้องานว่าทำไมถึงควรจะทำเรื่องนี้ ความน่าสนใจคืออะไร และรายละเอียดเนื้อหาจะลงลึกไม่มากนัก เพราะระยะเวลาการทำงานแค่สองเดือน โดยงานของแพรวกับเอ้เป็นงานเกี่ยวกับด้านธรณีฟิสิกส์ ส่วนของพรจะเป็นด้านธรณีเคมีค่ะ”

“การทำงานครั้งนี้เป็นลักษณะการเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมๆ กับการทำงาน เนื่องจากไม่เคยเรียนเรื่องนี้มาก่อนทำให้ต้องทำงานหนักมาก ต้องขวนขวายอ่านงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเวลาเพียงสองเดือนไม่เพียงพอที่จะเรียนก่อนแล้วค่อยทำงานวิจัย อีกทั้งลักษณะการทำงานของอาจารย์ต่างชาติคือ ท่านจะไม่มาสอนเรา แต่เรามีหน้าที่จะต้องศึกษาด้วยตัวเองก่อน แล้วเกิดข้อสงสัยจึงไปถามท่าน ซึ่งฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงไปขอความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากอาจารย์ โดยส่วนตัวคิดว่าการเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญและสามารถใช้ได้ทั้งในการทำงานวิจัยและการทำงานในอนาคต ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือความยากของงาน เพราะงานมันยากมันจึงท้าทาย รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เหมือนได้เปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น และสนุกที่ได้ทำงานที่มันท้าทาย นอกจากนี้การทำงานเป็นแบบไม่มีคนมาคอยบังคับเวลาเข้างาน-ออกงาน ก็ทำให้เราเป็นคนมีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเราจะต้องบริหารเวลาของตัวเอง มีการวางแผนว่าแต่ละวันเราจะต้องทำอะไรบ้าง รู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร และเวลาเพียงสองเดือนกับงานวิจัยนั้น ไม่เรียกว่าเหลือเฝือแต่ออกจะพอดีถึงน้อยไปด้วยซ้ำ แต่การทำงานภายในเวลาที่จำกัดก็ทำให้เรามีแรงกระตุ้นอยู่ในใจตลอดเวลา ทำให้ได้เรียนรู้การวางแผนและการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมายภายในเวลาที่มี” น้องแพรว กล่าวเสริมถึงการทำงานที่บริหารงานด้วยตัวเอง

นอกจากการทำงานวิจัยที่เข้มข้นแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้ก็คือการได้ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งน้องพรได้พูดถึงการท่องเที่ยวในขณะอยู่ที่สหรัฐอเมริกาให้ฟังอย่างน่าสนใจไว้ว่า “นอกจากการทำงานวิจัยแล้ว พวกเรายังได้เข้าร่วมทริปต่างๆ ที่ทางโครงการจัดให้ ทั้งที่เป็นทริปวิชาการ เช่น การไปดูงานที่ Los Trancos Open Space Preserve ซึ่งเป็นที่ที่มีหลักฐานของการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน San Andreas อย่างชัดเจน การไปดูงานที่ Monterey Bay Aquarium Research Institute เพื่อศึกษาการทำงานวิจัยทางทะเลในบริเวณนี้ และการไปดูงานที่ Jasper Ridge Biological Preserve ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการทำงานวิจัยทั้งเกี่ยวกับนิเวศวิทยา ธรณีวิทยาและชีววิทยา ซึ่งทุกที่ที่ไปจะมีบรรยากาศแบบสบายๆ เป็นกันเอง เน้นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นหลัก ทุกคนมีสิทธิพูด มีสิทธิถาม ทำให้ไม่รู้สึกน่าเบื่อ แต่รู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และยังมีกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาการเช่นกัน เช่น การเล่นเกม Scavenger Hunt ใน San Francisco โดยเกมนี้เป็นเกมแรกที่ทุกคนในโครงการจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้วทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้มีการพูดคุยและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จัดเป็นการเริ่มต้นของการสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่ดี รวมถึงการไปพายเรือคายัคบริเวณ Elkhorn slough ซึ่งทำให้ได้ออกกำลังกายพร้อมๆ กับการชมธรรมชาติและแมวน้ำที่มีอยู่เยอะมากในบริเวณนั้น”

ช่วงท้ายของโครงการ ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะต้องนำเสนอผลงานที่ตัวเองทำตลอดสองเดือนทั้งการนำเสนอแบบบรรยายและการทำโปสเตอร์ให้กับผู้อื่น ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย น้องพรได้เล่าถึงการเตรียมตัวและความรู้สึกก่อนการนำเสนอไว้ว่า “ทุกวันอังคารจะมีการประชุมกันกลุ่มย่อยๆ ประมาณ 4-5 คนกับผู้ช่วยของโครงการ ซึ่งแต่ละคนก็ทำงานวิจัยคนละเรื่อง แต่ทุกคนจะต้องนำผลงานที่ทำมาในแต่ละอาทิตย์มานำเสนอความคืบหน้า ซึ่งเหมือนกับการเตรียมตัวทำสไลด์นำเสนอผลงานวันสุดท้ายนั่นเอง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กไทยจะมีการเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ เพราะเราต้องพูดภาษาอังกฤษ และเป็นการพูดในเชิงวิชาการด้วย จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบคำ เตรียมบทพูด และซักซ้อมกันนับครั้งไม่ถ้วน และคืนก่อนวันนำเสนอจริง เกือบทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติมารวมตัวกันที่ห้องโถงของหอพัก โดยมีคนยืมโปรเจกเตอร์มาและทำการฉายสไลด์ซ้อมนำเสนอกันแบบจริงจัง รวมทั้งมีการถามคำถามหลังจากการนำเสนอของแต่ละคนด้วย ซึ่งถือเป็นการฝึกที่ดีและสามารถลดความประหม่าในวันจริงไปได้มากเลยทีเดียวครับ” น้องแพรวเสริมบรรยากาศในวันนำเสนอว่า “การนำเสนอผลงานในวันจริงจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ การนำเสนอในลักษณะของการบรรยายแบบปากเปล่าพร้อมสไลด์ประกอบ และการบรรยายแบบโปสเตอร์ ส่วนการบรรยายแบบปากเปล่านั้นจะใช้เวลาประมาณ 6-8 นาทีสำหรับการนำเสนอและ 2 นาทีสำหรับการถามคำถาม แบ่งเป็นครึ่งเช้าและครึ่งบ่าย ไม่มีการให้คะแนน ไม่มีการตำหนิ แต่ตอนนั้นจำได้ดีว่าทุกคนค่อนข้างตื่นเต้นมากเพราะต้องออกไปพูดต่อหน้าคนประมาณ 40 คน ซึ่งเป็นคนเก่งๆ ทั้งนั้น ทั้งอาจารย์ ทั้งนักศึกษาปริญญาเอก กลัวตัวเองจะพูดไม่รู้เรื่อง กลัวจะพูดผิด แต่ก็พยายามตั้งสติ ทำสมาธิ และคิดว่าเราทำงานนี้มาตลอดสองเดือน อยู่กับมันมาตลอดเวลา มีการแก้ปัญหามานับไม่ถ้วน ดังนั้นเราต้องมั่นใจในตัวเอง เราเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าเราทำอะไร อย่างไร และได้ผลอะไร เมื่อคิดอย่างนี้ได้ก็ออกไปนำเสนออย่างมั่นใจ พยายามพูดให้ชัดถ้อยชัดคำ และพูดให้หนักแน่น คนฟังจะได้เชื่อถือเรา แม้ช่วงแรกๆ จะค่อนข้างตื่นเต้น เกือบจะลืมคำพูดที่ได้ซักซ้อมมา แต่พอผ่านไปซักพักก็พูดได้อย่างไหลลื่น ซึ่งผลที่ออกมานั้นก็ถือว่าดี-ดีมากๆ เพราะทุกคนเข้าใจว่าเราต้องการจะสื่ออะไรไปให้ ผู้ฟังได้ประโยชน์จากการนำเสนอของเรา ส่วน Poster presentation จะเป็นการบรรยายตามโปสเตอร์ที่เราทำพูดให้คนที่สนใจในงานของเราหรืออาจจะพลาดส่วนใดส่วนหนึ่งที่เรานำเสนอไปในสไลด์ โดยโปสเตอร์ของทุกคนจะตั้งอยู่รอบๆ ห้องนำเสนอผลงาน แต่ละคนจะไปยืนประจำโปสเตอร์คอยอธิบายและตอบคำถามให้ผู้ที่สนใจ ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลาในช่วงพักกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ”

ผลจากการทำกิจกรรมได้ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทำงานวิจัยทางธรณีวิทยาและประสบการณ์การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ซึ่งน้องเอ้ได้กล่าวไว้ว่า “ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้อย่างแรกที่ได้แน่ๆ คือความรู้ใหม่ๆ ที่เราไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน เพราะเป็นความรู้เชิงลึกและมีความแปลกใหม่ และได้เรียนรู้หลักการทำงานวิจัยที่มีประโยชน์มากๆ นั่นคือ การเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ ซึ่งการตั้งคำถามถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำงานวิจัยและการทำงานจริง เพราะการตั้งคำถามที่ดีจะทำให้เราได้คำตอบที่มีประโยชนน์ นอกจากนี้การทำงานแบบเน้นการพูดคุยแสดงความคิดเห็นทำให้เรากล้าคิดและกล้าที่จะพูดสิ่งที่เราคิดและไตร่ตรองแล้วออกมาก มีความมั่นใจในตนเอง แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น เรียนรู้การทำงานเป็นทีมร่วมกับอาจารย์และนิสิตนักศึกษาคนอื่นๆ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างเชื้อชาติ ซึ่งการพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ตลอดถึงวัฒนธรรมกับคนอื่นๆ ทำให้โลกทัศน์ของเรากว้างขึ้น มองเห็นโลกในมุมที่ต่างไปจากเดิม รู้จักนำข้อดีของคนอื่นมาประยุกต์ใช้กับเราและลดข้อเสียของเราออกไปเท่าที่ทำได้ เรียนรู้การอยู่ด้วยตัวเอง เพราะที่นั่นไม่มีคนมาคอยควบคุมเรา เราต้องดูแลตัวเอง ทุกอย่างต้องจัดการเอง บริหารเอง ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และที่สำคัญเราได้เพื่อนใหม่ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ตลอดเวลาสองเดือนก็ทำให้เราสนิทกัน พูดคุยกันได้ทุกเรื่องและยังติดต่อกันมาตลอดถึงทุกวันนี้”

หากพูดถึง Standford University แล้ว แน่นอนว่าเป็นมหาวิทยาที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน เนื่องจากมีชื่อเสียงระดับโลก และมีศิษย์เก่าชื่อดังมากมาย น้องแพรวเล่าถึงบรรยากาศของมหาวิทยาลัยให้เราฟังว่า “Stanford University เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยและใหญ่มาก โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก การเดินทางของคนที่นี่มีทุกรูปแบบ ตั้งแต่การขับรถยนต์ รถจักรยาน สเก็ตบอร์ด โรลเลอร์เบต สกู๊ตเตอร์ และการเดิน อาคารส่วนใหญ่สูงประมาณ 4-6 ชั้น ตกแต่งเหมือนอาคารชายทะเลปนๆ แบบโมรอกโค เรียกได้ว่าดูสวยมีเสน่ห์และขลังไปพร้อมๆ กัน โดยตั้งแต่วันแรกที่มาประทับใจทางเข้าของมหาวิทยาลัยมาก เพราะจะเป็นถนนเส้นตรงขนาบข้างด้วยต้นปาล์ม มองตรงไปจะเห็นโบสถ์ของมหาวทิยาลัยที่มีฉากหลังเป็นภูเขา เรียกได้ว่าสวยงามมาก สภาพความเป็นอยู่ที่นั่น เราทุกคนจะพักในหอพักที่เรียกว่าบ้าน เช่น Jenkins house, Griffin house โดยแต่ละบ้านจะแบ่งเป็นห้องใหญ่ เช่น Griffin 101 และแต่ละห้องใหญ่จะมีห้องโถงที่มีโซฟาและมีพื้นที่ให้ทุกคนมานั่งเล่น พูดคุย พักผ่อน และแบ่งออกเป็นห้องนอนย่อยๆ อีกหลายห้อง โดยแต่ละห้องงจะมีเตียงนอนพร้อมฟูก โต๊ะเขียนหนังสือ ชั้นวางหนังสือและตู้เสื้อผ้า ส่วนห้องน้ำและห้องอาบน้ำนั้นจะใช้ร่วมกันทุกคนที่พักในห้องใหญ่เดียวกัน จะเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างสะดวกสบาย และจะพักปนกันทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทำให้เราได้เพื่อนใหม่และฝึกภาษาอังกฤษไปในตัวได้ในทุกๆ วัน นอกจากนี้ในหอพักยังมีเครื่องซักผ้าและอบผ้าไว้ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงด้วยค่ะ”

การไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องของอาหารการกิน ซึ่งดูเหมือนจะไม่เป็นอุปสรรคใดๆ เนื่องจากมีการสนับสนุนจากโครงการเป็นอย่างดี ตรงนี้น้องพรได้เล่าว่า “ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรทานข้าวที่โรงอาหารฟรี ซึ่งจะมีให้ครบทั้ง 3 มื้อ และเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ทั้งหมด ซึ่งอาหารก็จะมีความหลากหลายและไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ยกเว้นมื้อเช้าที่อาหารจะค่อนข้างเหมือนเดิมในทุกวัน โดยทุกมื้อจะเน้นหนักไปที่อาหารอเมริกัน นอกจากนี้ในบางวัน พวกเราคนไทยทั้ง 6 คนและเด็กต่างชาติบางคนก็จะชวนกันปั่นจักรยานเข้ามาไปในตัวเมืองหน้ามหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศมาทานอาหารเกาหลี อาหารไทย อาหารเมดิเตอร์เรเนียนกันบ้าง ส่วนในเรื่องของการเดินทางนั้นมีหลากหลายแบบ ถ้าจะเดินทางระยะทางไกลๆระหว่างเมืองก็จะใช้บริการ Caltrain ซึ่งก็คือรถไฟโดยสารที่วิ่งผ่านเมืองสำคัญๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อัตราค่าโดยสารต่อรอบอยู่ที่ประมาณ 7-14 เหรียญสหรัฐ แล้วแต่ระยะทาง แต่ถ้าระยะทางใกล้ก็สามารถขึ้นรถ Marguerite ที่หน้าตาคล้ายๆ รถเมล์บ้านเราได้ แต่การเดินทางที่ง่ายและเป็นที่นิยมที่สุดคือ รถจักรยาน ซึ่งทางโครงการ SURGE ได้ทำการเช่ารถจักรยานไว้ให้นิสิตนักศึกษาที่มาเข้าร่วมทุกคนใช้”

สำหรับกิจรรมในช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็มีให้ทำอย่างอยู่ตลอด ดังที่น้องเอ้ได้เล่าให้ฟังว่า “นอกจากประสบการณ์การทำงานทั้งวันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ พวกเราก็ไม่เคยได้หยุดพักเลย อาทิตย์ที่ทางโครงการจัดทริปให้ ก็จะเข้าร่วมทุกๆ ครั้ง และถ้าอาทิตย์ไหนไม่มีก็ต้องมีการจัดทริปกันเองตลอด ทั้งจัดโดยเด็กไทยและจัดโดยเด็กต่างชาติ ตั้งแต่ไปใกล้ๆ เข่น ไปปั่นจักรยานที่ San Francisco เพื่อไป Golden Gate และร่วมเชียร์เพื่อนต่างชาติที่ร่วมวิ่งในการแข่งการกุศลใน San Francisco และที่ไปไกลๆ เช่น ขับรถกันไป Yosemite National Park ซึ่งเป็นทริปสองวันหนึ่งคืน โดยเช่ารถยนต์สองคันและมีรถยนต์ของเพื่อนต่างชาติอีก 1 คัน เป็นทริปที่สนุกมาก เพราะ Yosemite National Park เป็นสถานที่ที่สวยงาม ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และเต็มไปด้วยเรื่องราวทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ยังมีการจัดปาร์ตี้วันเกิดเซอร์ไพรส์เพื่อนต่างชาติ มีการจัดปาร์ตี้กองไฟริมทะเลสาบตอนกลางคืน ที่ทุกคนจะมายืนปิ้งมาร์ชเมลโลกับช็อกโกแลตกิน พร้อมกับเล่นเกมกัน วันสุดท้ายจำได้ว่าทุกคนมานั่งรวมกันที่ห้องโถงหอพัก เพื่อพูดคุย เล่นเกม ร้องเพลงและเต้นกันจนหลับไป เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์สองเดือนที่มีคุณค่าและสุดยอดมากจริงๆ ค่ะ”

น้องทั้งสามได้กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ไว้อย่างน่าสนใจไว้ว่า “สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้กลับมาแน่ๆ คือความรู้ใหม่ๆ เชิงวิชาการเกี่ยวกับเรื่องที่เราสนใจที่เราไม่เคยเรียนลึกในรายละเอียดมาก่อน และนอกเหนือไปจากความรู้คือ ประสบการ์อันมีค่าที่มีประโยชน์ต่อพวกเราทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้เรียนรู้หลักการทำงานวิจัย เรียนรู้การค้นคว้าด้วยตนเอง เรียนรู้การตั้งคำถามที่ดีและมีประโยชน์ เรียนรู้การค้นหาคำตอบและทางแก้ไขด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงหาโอกาสปรึกษาผู้รู้ ไม่ใช่รอแต่จะถามคนอื่นตลอดเวลา มีความมั่นใจและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและพร้อมที่จะฟังคนอื่น จากการทำงานที่ยากและถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของเวลาและภาษาทำให้พวกเราได้รู้ศักยภาพของตัวเราเองว่า จริงๆ แล้วพวกเราก็ทำได้ เพียงแค่เรารักในสิ่งที่เราทำ แล้วทำอย่างตั้งใจ งานยากไม่เคยทำให้น่าเบื่อ แต่ทำให้มันท้าทาย และทำให้เราสนุกไปกับการทำงานในทุกขั้นตอน และไปกระต้นให้เรามีความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรยากเกินไปหากเราตั้งใจจริง

ส่วนในเรื่องของภาษานั้นถือว่าได้ประโยชน์มาก เพราะเดิมเราอาจจะพูดได้แต่เราไม่กล้า เวลาฟังก็กลัวไปก่อนว่าจะไม่เข้าใจ แต่จากสองเดือนในต่างแดนนี้ ทำให้เรากล้าที่พูดและกล้าที่จะฟังมากขึ้น เราอาจจะไม่ได้พูดถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ตลอดเวลา แต่เราสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ และเข้าใจที่คนอื่นสื่อสารมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากทั้งในปัจจุบันและในอนาตค นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ มิตรภาพทั้งกับอาจารย์และนักศึกษาคนอื่นๆ เพราะพวกเราต้องทำงานด้วยกันตลอด ต้องคุย ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ซึ่งทำให้เราโลกของเราเปิดกว้างขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเข้าใจตัวเองดีขึ้น เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นและทำงานร่วมกัน เรียกได้ว่าเป็นสองเดือนที่มีค่ากับชีวิตเป็นอย่างมาก” น้องเอ้เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วม โครงการครั้งนี้

“สิ่งที่พวกเราอยากจะฝากทิ้งท้ายเอาไว้คือ พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเรียนอะไร เราควรรู้ว่าเราชอบอะไร เราถนัดอะไร เราทำอะไรได้ดี แล้วหาเป้าหมายให้กับตัวเราเอง วันนี้เป้าหมายอาจเลือนลางไม่ชัดเจน แต่ขอให้พยายามทำให้เต็มที่ และพัฒนาศักยภาพของตัวเองตลอดเวลา สร้างโอกาสให้ตัวเองก่อน อย่ามัวรอให้คนอื่นหยิบยื่นโอกาสให้เราเพียงอย่างเดียว พยายามเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องเรียนและเรื่องเล่น และทำมันอย่างเต็มที่ วันนึงเราจะพบว่าเป้าหมายไม่ได้ไกลเกินเอื้อม คนเราทำได้ทุกอย่างถ้าเราตั้งใจจริงและไม่ยอมแพ้ไปซะก่อน พวกเราก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนที่ยังมีเป้าหมายในชีวิตที่ยังทำไม่สำเร็จ ให้สามารถก้าวผ่านขวากหนามต่างๆไปได้ด้วยดี และมีบาดแผลน้อยที่สุดค่ะ” น้องแพรวกล่าว

“ท้ายที่สุด พวกเราขอขอบพระคุณทุกท่าน ทุกองค์กรที่มีส่วนให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ ทั้ง School of Earth Sciences, Stanford University, ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ที่ให้การสนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้าร่วมโครงการ ระหว่างการเข้าร่วมและหลังการเข้าร่วมโครงการ พวกเราได้มีช่วงเวลาสองเดือนที่มีค่ามากที่สุดในชีวิต และตระหนักดีว่าโอกาสที่ตัวเองได้รับนั้นสำคัญเพียงใด และจะดียิ่งขึ้นเมื่อพวกเราได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปให้กับคนอื่นๆ และพวกเราก็หวังว่าเด็กไทยจะได้รับโอกาสที่ดีๆ แบบนี้อีกครั้งในปีต่อๆ ไป ขอขอบพระคุณครับ” น้องพรกล่าวปิดท้าย .. gneiss